กฎหมายอาญากับปัญหาเรื่องการถูกสะกดรอยตาม (STALKING)

กฎหมายอาญากับปัญหาเรื่องการถูกสะกดรอยตาม (STALKING)

เมื่อเร็วๆ นี้ มีประเด็นที่มีอดีตนางสาวไทยกับนักการเมืองหญิงคู่หนึ่ง ถกเถียงกันผ่านสื่อต่างๆ

จากความเห็นของอดีตนางสาวไทยที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อให้แก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา เรื่องการข่มขืน โดยให้เพิ่มความผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ

ซึ่งจากประเด็นที่เกิดขึ้น ผู้เขียนเข้าใจว่าฝ่ายอดีตนางสาวไทยต้องการยกระดับความผิด เพิ่มโทษ และทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นของลักษณะการคุกคามทางเพศขึ้นจากเดิมที่เป็นเพียงลหุโทษหรือโทษสถานเบา ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งหากเป็นการกระทำในที่สาธารณะ หรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

กรณีการติดตามสะกดรอยอันมีลักษณะเป็นการคุกคามบุคคลอื่นนั้น ในต่างประเทศเรียกการกระทำนี้ว่า “Stalking” ซึ่งตามพจนานุกรมของ Cambridge อธิบายไว้ว่า “Stalk” หมายถึง การติดตามหรือเฝ้าดูบุคคลอื่นในช่วงเวลาหนึ่งอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

อนึ่ง การสะกดรอยหรือการเฝ้าติดตามบุคคลนี้ในโลกยุคปัจจุบันสามารถจำแนกได้ 2 ลักษณะ ซึ่งอาจมีส่วนส่งเสริมเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันได้นั่นคือ ประการแรก คือ การติดตามและสะกดรอยทางกายภาพ เช่น การสอดส่อง ตลอดจนสะกดรอยตามไปยังสถานที่ต่างๆ และอีกประการหนึ่ง คือ การเฝ้าติดตามสอดส่อง ค้นหา ติดตามบุคคลผ่านทางช่องทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “Cyber stalking”

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ลักษณะมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือเป็นการติดตาม เฝ้าดู สอดส่อง หรือกระทำการอย่างใดๆ ที่มีการแสดงออก เช่น เดินตาม ขับรถตาม โทรศัพท์หา หรือส่งข้อความถึง ฯลฯ อย่างต่อเนื่องจนผู้ถูกติดตามรู้สึกจนนำไปสู่ความรู้สึกว่าถูกคุกคาม เป็นอันตราย หรือไม่ปลอดภัยขึ้น

การ Stalking ทั้ง 2 ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นเบื้องต้นจาก Cyber stalking ก่อนแล้วนำไปสู่การ Stalking ทางกายภาพตามมาก็เป็นได้ นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การกระทำความผิดทางอาญาหรือเป็นการก่ออาชญากรรมในความผิดฐานอื่นๆ ได้ต่อไป เช่น การทำร้ายร่างกาย การกระทำในลักษณะเป็นอนาจาร การข่มขืน หรือการฆาตกรรม ฯลฯ 

ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นที่สหรัฐเมื่อปี 1989 กรณีนักแสดงชื่อ Rebecca Schaeffer ถูกแฟนคลับที่เฝ้าติดตามมาเป็นเวลานาน สืบหาที่อยู่และตามไปถึงบ้านดาราสาว แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้สนทนาด้วยจึงใช้ปืนพกยิงดาราสาวเสียชีวิตลง

ในญี่ปุ่นเมื่อเดือน ต.ค.2019 มีสถานการณ์ที่พอจะเทียบเคียงกับกรณีการ Stalking ได้ คือเมื่อ Ena Matsuoka สมาชิกวง Tenshitsukinukeniyomi ถูกคนร้ายดักทำร้าย โดยคนร้ายนั้นรู้สถานที่อยู่ได้จากการขยายภาพเซลฟี่ของเธอที่โพสต์ในสื่อโซเชียล และดูว่าภาพสะท้อนในดวงตาของเธอคือสถานที่ใด จากนั้นก็ทำการเทียบภาพสะท้อนกับภาพใน Google Maps แล้วจึงเสาะหาสถานที่ดังกล่าวเพื่อตามไปทำร้าย

ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยกันไว้ว่า โดยสถิติแล้วการติดตามและสะกดรอยบุคคลนั้นมีแนวโน้มอย่างมากที่จะนำไปสู่ความผิดอย่างอื่นตามมา ด้วยเหตุนี้ในบางประเทศจึงบัญญัติกฎหมายโดยให้การ Stalking นี้เป็นความผิดและต้องรับโทษทางอาญาเป็นความผิดเฉพาะขึ้นมา เช่น ในมลรัฐอิลลินอยส์ มีการบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการติดตามและการข่มขู่ไว้โดยเฉพาะ

โดยมีหลักการว่าหากบุคคลใดเฝ้าติดตามโดยรู้และปราศจากเหตุอันควรตามกฎหมาย และมีลักษณะเป็นการขู่เข็ญที่จะทำอันตรายต่อร่างกายในทันทีหรืออนาคต หรือเพื่อกักขัง หน่วงเหนี่ยว หรือทำให้บุคคลนั้นอยู่ในความกลัวหรือเชื่อโดยเหตุอันควรว่าสมาชิกในครอบครัวจะได้รับอันตรายต่อร่างกายหรือมีการละเมิดทางเพศ โดยมีโทษกำหนดไว้ให้จำคุกถึง 5 ปีหากเป็นกรณีที่การกระทำมีลักษณะร้ายแรงและมีโทษปรับขั้นสูงสุดเป็นเงินจำนวน 2.5 หมื่นดอลลาร์

สำหรับในกฎหมายไทยนั้นจะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะมีบทบัญญัติเรื่องสิทธิเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของบุคคลไว้ เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 32 ที่บัญญัติรับรองสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลไว้ หรือในประมวลกฎหมายอาญาในบางลักษณะดังที่ได้กล่าวไปแล้ว รวมถึงกำหนดบทลงโทษทางอาญาไว้และกรณีการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังเช่นมาตรา 421 ซึ่งบัญญัติว่า “การใช้สิทธิของบุคคลซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้นก็ถือว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายและจำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน”

อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะแต่ปัญหาว่าไทยมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้ครอบคลุมครบถ้วนกับข้อเท็จจริงดังเช่นการ Stalking นี้แล้วหรือไม่ ปัญหาเรื่องการบังคับใช้และตีความกฎหมายอาจมีปัญหาเรื่องความคลุมเครือว่าความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้นมีขอบเขตเพียงใด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสิทธินั้นจะต้องร้ายแรงถึงขนาดใด รวมถึงลักษณะหรือประเภทของการ Stalking จะเกิดขึ้นในรูปแบบใดบ้าง อาทิ การกระทำที่เกิดจากเอกชนที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือให้รวมถึงที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย เป็นต้น

โดยสรุป ในประเทศไทยหากมีปัญหาเรื่องการ Stalking เกิดขึ้น กฎหมายจะคุ้มครองผู้เสียหายได้จะต้องปล่อยให้สถานการณ์ผ่านเลยไปจนถึงเกิดเป็นความผิดทางอาญาฐานที่กำหนดที่เป็นการเฉพาะเสียก่อน  ดังนั้น จึงอาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ไทยควรมีกฎหมายว่าด้วยการ Stalking ขึ้นเป็นบทบัญญัติเฉพาะหรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้บทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่แล้วมีการใช้บังคับและตีความในสถานการณ์ของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างคลุมเครือเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดบทความผิดให้รุนแรงขึ้นกว่าแต่เดิมเสียที

โดย... 

ผศ.ผจญ คงเมือง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์