เตรียมตัวก่อนการเดินทางครั้งสุดท้าย

เตรียมตัวก่อนการเดินทางครั้งสุดท้าย

การจากลาเป็นเรื่องที่ไม่มีใครหลีกหนีได้ และเราทุกคนจะต้องเดินทางไปถึงวันนั้นอย่างแน่นอน

แม้ว่าในระยะหลังๆจะมีผู้รู้หลายท่านได้กล่าวถึงความจำเป็นในการทำพินัยกรรม เพื่อลดปัญหาการแบ่งทรัพย์มรดก และพินัยกรรมชีวิต เพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยของตนเมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่หลายคนก็ยังมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของผู้ที่มีทรัพย์มรดกมากซึ่งมักทำให้เกิดข้อพิพาท หรือ เกี่ยวข้องกับผู้ที่พร้อมจะทุ่มเทเงินทองเพื่อรักษาพยาบาลตนเองได้เท่านั้น

อันที่จริงแล้วคนจำนวนมาก อาจไม่ทราบเลยว่าแม้ตนเองจะไม่ได้มีทรัพย์มรดกอะไรมากมาย แต่ก็ควรจะต้องเตรียมตัวก่อนจากไว้เช่นเดียวกัน หากไม่ประสงค์ให้ทายาทประสบความยากลำบากในการรับมรดก หรือสิทธิอันพึงมีพึงได้เมื่อเราจากไปแล้ว

การตระเตรียมเอกสารที่จำเป็นไว้ก่อนที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับชีวิตของเราเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยหากเราเป็นข้าราชการ หรือข้าราชการบำนาญ กรณีที่เราเสียชีวิต ทายาทของเรา (บุตร คู่สมรส บิดา-มารดา หรือบุคคลซึ่งเราได้แสดงเจตนาไว้) จะเป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน เงินช่วยพิเศษเป็นจำนวน 3 เท่าของเงินเดือน และเงินกบข.

และไม่ว่าจะเป็นใคร หากตายไป ทายาทก็ไม่สามารถจะไปถอนเงินแทนเราได้ โดยสถาบันการเงินทุกแห่งจะเรียกหนังสือแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมาแสดงก่อน (เว้นแต่กรณีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ได้ระบุผู้รับประโยชน์ไว้ และผู้รับประโยชน์ยังคงมีชีวิตอยู่)

หลายคนมักคิดเอาเองว่าหากเรามีชีวิตปกติ ก็ไม่น่าต้องเตรียมเอกสารให้มากความ แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดโดยสิ้นเชิง

เพราะการยื่นเรื่องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาล ขอรับบำเหน็จตกทอด หรือเงินกบข. ต้องใช้เอกสารมากแบบที่คาดไม่ถึง

นอกจากของตนเอง และพ่อแม่ ซึ่งหากทำเอกสารตัวจริงหาย ทายาทเอง (ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย) จะสามารถขอคัดสำเนา และขอให้สำนักงานเขตรับรองความถูกต้องได้ แต่ยังต้องมีใบมรณบัตรของปู่ย่า (กรณีพ่อเสีย) หรือตายาย (กรณีแม่เสีย) ซึ่งหลายครอบครัวมักไม่มีใบมรณบัตรของบรรพบุรุษชั้นนี้เก็บไว้ (หรือหาไม่เจอ) และท่านเหล่านี้บางท่านก็เสียชีวิตมานานมากแล้ว ก่อนที่ระบบทะเบียนราษฎร์จะบันทึกในระบบออนไลน์ และแม้ว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในรูปไมโครฟิล์ม ที่สามารถสืบค้นได้ทั่วประเทศ แต่ก็ต้องการตัวช่วยในการสืบค้น เช่น บ้านเลขที่ ปีที่เสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้ การค้นหาก็เปรียบได้กับการงมเข็มในมหาสมุทร และหลายครั้ง ก็คือ หาไม่เจอ หรือบางกรณี หากมิได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล ก็อาจไม่เคยมีการแจ้งตายไว้เลยก็เป็นได้

การไปหาเอกสารที่มิได้อยู่ในระบบออนไลน์ ทายาทจำเป็นต้องบากบั่นเดินทางไปยังสำนักงานเขต หรืออำเภอที่เป็นภูมิลำเนาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ (ซึ่งอาจห่างไกลจากที่อยู่ปัจจุบันของทายาทมาก) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ค้นหาเอกสารต้นฉบับให้ ซึ่งหากหาไม่เจอก็ต้องขอเอกสารยืนยันว่าไม่เจอ เพื่อนำเอกสารดังกล่าว กลับมายังสำนักงานเขตที่ตนเองมีทะเบียนบ้านอยู่ พร้อมด้วยพยาน 2 คน ที่เป็นลุงป้าน้าอา เพื่อสอบข้อเท็จจริงว่าปู่ย่า ตายายของทายาทได้เสียชีวิตไปแล้วจริงๆ ยิ่งหากย้ายบ้านหลายครั้งตลอดช่วงเวลา 70 – 80 ปีที่ผ่านมา ก็ยิ่งโกลาหล สำหรับทายาทมากขึ้นตามลำดับ และแม้กรณีมีข้อมูลในระบบ แต่ข้อมูลที่ถูกนำเข้าระบบคลาดเคลื่อน เช่น สะกดชื่อ-สกุลผิด ก็ต้องตามไปหาต้นตอของข้อมูล และกลับมาที่เขตตนเอง พร้อมพยาน 2 คนมาให้ปากคำเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้มีความยุ่งยากและต้องใช้เวลามากมายกว่าที่หลายคนคาดกันไว้มาก

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ คือ 1. เก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวกับตนเอง และบิดา-มารดา ให้ครบถ้วน อย่าละเลย (รวมถึงสมุดบัญชีธนาคาร หรือโฉนดที่ดิน) 2. หากพบว่าเอกสารใดไม่ครบถ้วน ให้ไปขอคัดสำเนาจากสำนักงานเขตไว้ก่อน (แม้ว่าเราจะยังมีชีวิตอยู่) เพื่อตรวจสอบว่ารายละเอียดถูกต้องตามข้อเท็จจริง 3. หากพบว่าไม่ถูกต้อง ให้ยื่นเรื่องขอแก้ไข ณ ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งยุ่งยากน้อยกว่าการปล่อยให้ทายาทมาแก้ไขตอนเราไม่อยู่แล้ว 4. เก็บรวบรวมเอกสาร ติดป้ายให้ชัดเจน

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนจำต้องจากโลกนี้ไป มิให้เรื่องนั้นยุ่งยากเกินไปสำหรับผู้ที่เราทิ้งทรัพย์สินหรือภาระไว้ให้อยู่เบื้องหลัง