หยุดไวรัส ไม่หยุดรักษ์โลก

หยุดไวรัส ไม่หยุดรักษ์โลก

สวัสดีครับ เป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้วที่เราทุกคนต้องต่อสู้กับ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางต่อโลกของเรา

ทั้งในมิติด้านสุขภาพ ธุรกิจ และสังคม วิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งนี้ทำให้เราเห็นถึงความสามัคคีและการช่วยเหลือกันของคนในประเทศโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่และผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาผู้ป่วยและลดการระบาดของไวรัส และเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้วที่เราเริ่มเห็นการลดลงของผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศจนเหลือตัวเลขหลักเดียวอย่างต่อเนื่องและผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอีกไม่นานทุกอย่างน่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

เราอาจจะคุ้นชินและเริ่มปรับตัวเข้ากับความปกติใหม่ (New Normal) ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่เห็นได้ชัดคือการทำงานจากที่บ้าน หลายคนเลือกที่จะทำอาหารรับประทานเองหรือสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านซึ่งตอบโจทย์เรื่องความสะดวกรวดเร็ว อย่างไรก็ดีในช่วงการระบาดของ COVID-19 และมาตรการการกักตัวที่บ้านส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากข้อมูลของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) ปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 2,120 ตันต่อวันในปี 2562 เป็นประมาณ 3,440 ตันต่อวันในช่วงเดือนม.ค.ถึงเม.ย.2563 และเฉพาะในเม.ย.เพียงเดือนเดียว ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผู้คนหันมาสั่งอาหารและซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ เพราะนอกจากจะได้รับความสะดวกและรวดเร็วแล้ว ยังไม่ต้องนำตนเองไปเสี่ยงกับการติดเชื้อขณะที่เดินทางออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ภายใต้สถานการณ์ปกติมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจเหล่านี้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 10-20 ต่อปี แต่เมื่อเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้แพลตฟอร์มการสั่งอาหารและการ ชอปปิงออนไลน์เติบโตขึ้นมากกว่าเท่าตัว และแม้ว่าจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปแล้ว มีแนวโน้มว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจำนวนหนึ่งจะเปลี่ยนไปและหันมาใช้การสั่งอาหารแบบส่งถึงบ้านมากขึ้น

โดยเฉลี่ยแล้วในการสั่งอาหารแบบออนไลน์แต่ละครั้งจะสร้างขยะอย่างน้อยห้าชิ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร ซองใส่เครื่องปรุงรส ถ้วย เครื่องดื่ม ตะเกียบ ช้อน ส้อม ตลอดจนกระดาษทิชชู่ที่มักห่อด้วยพลาสติก ผมคิดว่าในฐานะลูกค้า เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดขยะเหล่านี้ได้โดยการเลือกที่จะไม่รับ หรือรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้น้อยชิ้นมากที่สุด ในปัจจุบันบางร้านยอมรับต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นโดยการให้บริการส่งอาหารในภาชนะที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชมและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดขยะในสังคมเมืองได้เป็นอย่างดี

ในส่วนผู้ประกอบการ วิกฤติของโรคระบาด COVID-19 อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลองหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมากขึ้น โดยอาจเตรียมการรองรับต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยการบริหารและจัดการวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุนและพิจารณาปรับใช้แนวทางในการบริหารจัดการของเสียจากอาหารอย่างยั่งยืนคือ 1.การจัดการสินค้าคงคลัง 2.การจัดหาวัตถุดิบ 3.การจัดการการดำเนินงานรวมไปถึงกำหนดเพดานระดับของเสียสูงสุดที่ยอมรับได้เพื่อสร้างกำลังใจขณะดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว  

เมื่อธุรกิจสามารถจัดการกับค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถนำเงินคงเหลือในส่วนนี้ไปพัฒนาและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น การลดของเสียจากกระบวนการการทำอาหารไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดค่าใช้จ่ายและช่วยเพิ่มกระแสเงินสดในช่วงหลังวิกฤติเท่านั้นแต่ยังสามารถดึงดูดลูกค้าซึ่งเป็นผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม มากขึ้นอีกด้วย

ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ให้ความเห็นที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่งว่า การแยกขยะตามหลักการ 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เป็นสิ่งสำคัญทั้งในปัจจุบันและหลังจากการระบาด COVID-19 สิ้นสุดลง

หากมีการควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รวมทั้งออกมาตรการจูงใจผู้ประกอบการด้านอาหารให้หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจูงใจลูกค้าด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ สำหรับลูกค้าที่เลือกที่จะไม่รับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็จะเป็นแรงเสริมอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดขยะได้และยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนด้วย เมื่อเราทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันในการลดขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ช้าปริมาณขยะที่เป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนานก็น่าจะบรรเทาเบาบางลง เพื่อโลก เพื่อเราครับ