เศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นกระทิง ... ผิดปกติหรือไม่

เศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นกระทิง ... ผิดปกติหรือไม่

หลัง SET Index ทะยานขึ้น 50% จากช่วงกลางมีนาคมจนถึงต้นมิถุนายน ก็เกิดคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้น

ทำไมถึงโตสวนทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997-1998 และเริ่มมีเสียงเตือนออกมาให้นักลงทุนระวังแรงเทขาย เพราะราคาหุ้นปรับขึ้นแซงหน้าปัจจัยพื้นฐานไปมาก

หลังจากนั้น ในช่วงเพียงสัปดาห์เศษที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยก็ปรับลงถึง 110 จุด มูลค่าตลาดหายไป 1 ล้านล้านบาท สวนทางกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศนานต่อเนื่องถึง 3 สัปดาห์ และภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นจากมาตรการคลายล็อกทั้ง 4 ระยะ

ความผันผวนที่รุนแรง ถือเป็นภาวะปกติของตลาดหุ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะความไม่แน่นอนมีสูง ทำให้การประเมินมูลค่าหุ้นทำได้ยากมาก เวลาหุ้นลงก็มักจะลงมากไป เวลาขึ้นก็ขึ้นมากไป การเทรดหุ้นระยะสั้นๆ ในภาวะแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าจุดต่ำสุดและสูงสุดของราคาหุ้นในแต่ละรอบอยู่ที่ไหน 

โดยส่วนตัว ผมยังเชื่อว่าเราอยู่ในตลาดหุ้นขาขึ้นระยะยาว และมองการปรับลงรอบนี้เป็นการปรับฐานเพื่อหาจุดสมดุลใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก ผมเชื่อว่าการลงทุนระยะยาวในช่วงนี้ คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ต้องรับ

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผมคิดเช่นนั้น

ข้อแรก การที่รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การคลายล็อกกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้มาก เม็ดเงินที่รัฐบาลใช้ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสูงถึง 10% ของ GDP น่าจะมากพอที่จะประคองเศรษฐกิจไปได้จนเริ่มมีวัคซีนต้าน COVID-19 ออกมา และถ้าจำเป็น รัฐบาลก็ยังมีช่องว่างในการกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกพอสมควร

ข้อสอง ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นได้สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบรูปตัว U ไปแล้ว และถ้าดูจากมูลค่าตลาดที่ลดลงไปเกือบ 2 ล้านล้านบาท (จาก 12 เดือนก่อนหน้านี้) หรือเท่ากับ 200% ของมูลค่า GDP ที่คาดว่าจะลดลง 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ ราคาหุ้นก็น่าจะสะท้อนความเสียหายของวิกฤตครั้งนี้ไปพอสมควรแล้ว

ข้อสาม ถ้าเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบสองอีกครั้งจริง ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยการปิดธุรกิจเป็นประเภทๆ ไป หรือเป็นพื้นที่ๆ โดยไม่ต้องกลับไปปิดเศรษฐกิจทั้งประเทศอีกรอบ ผลกระทบในวงกว้างแบบที่ผ่านมาก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก

ข้อสี่ ถึงแม้ค่า Forward P/E ปีหน้าของตลาดหุ้นไทยที่ 16 เท่า อาจดูแพงเมื่อเทียบกับบางประเทศ แต่ก็อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปีของตลาดหุ้นไทยที่ 16 เท่า และต้องไม่ลืมด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งแปลว่า Forward P/E ในปัจจุบันอาจไม่สูงเกินไป

ข้อห้า นักวิเคราะห์ได้ลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไปแล้วถึง 30% ซึ่งน่าจะสะท้อนความเสียหายจากวิกฤตครั้งนี้ไปพอสมควรแล้ว

ข้อหก ถ้าดูจากปริมาณสภาพคล่องในระบบการเงินที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเต็มสูบของธนาคารกลางทั่วโลก โอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินเหล่านี้ทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นในระยะยาวมีสูงมาก

ข้อเจ็ด ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา มีเม็ดเงินจำนวนมากทั่วโลกที่ไหลเข้ากองทุนประเภทเสี่ยงต่ำที่สุดอย่าง Money Market Funds (MMF) ซึ่งสะท้อนว่ายังมีนักลงทุนอีกพอสมควรทั่วโลกที่ยังไม่ได้กลับเข้าตลาดหุ้นในไทย เม็ดเงินไหลเข้ากองทุน MMF มากถึง 150,000 ล้านบาท นับจากเดือนมีนาคม หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในขณะที่ของสหรัฐฯ เงินไหลเข้า MMF สูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เม็ดเงินเหล่านี้น่าจะพร้อมไหลเข้าตลาดหุ้นอีกครั้งเมื่อความเสี่ยงลดลง

ในระยะยาว ผมเชื่อว่าเราจะเห็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น ของ Pension Funds ทั่วโลก เพราะภาวะดอกเบี้ยต่ำที่จะอยู่กับเราไปอีกหลายปี แปลว่ากองทุนเหล่านี้จำเป็นต้องเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้เกษียณ