รู้ให้ลึก ตอน เรากำลังเข้าสู่ยุคเงินฝืดจริงๆ หรือ?

รู้ให้ลึก ตอน เรากำลังเข้าสู่ยุคเงินฝืดจริงๆ หรือ?

ใครที่ติดตามสภาวะการลงทุนของโลกในช่วงตั้งแต่พบกับการระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา

จนทำให้เฟดต้องประกาศอัดฉีดครั้งประวัติศาสตร์ตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. จะพบว่า มีแนวคิดใหม่ๆ หรือ ทฤษฎีเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้ออกมาเป็น 2 แนวทาง ซึ่งอยู่ในขั้วตรงกันข้ามกันเลย นั่นก็คือ ฝั่งหนึ่ง เชื่อว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเชื่อว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคเงินฝืด (Deflation)

ฝั่งที่เชื่อว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ Hyperinflation ในสายตาของนักลงทุนธรรมดาๆ อย่างเราๆ ก็มองว่า มันดูมีความเป็นไปได้มากทีเดียว สาเหตุเพราะ ปริมาณเงินที่ทุกๆ ธนาคารกลางของโลกอัดฉีดเพิ่มขึ้นมา มันคือการเพิ่มอุปทาน (Supply) ของเงินอย่างที่ไม่เคยเยอะมากกว่า

เราก็เชื่อไปว่า ยิ่งปริมาณเงินเยอะขึ้น เงินมันก็ควรจะเฟ้อ

และยิ่งปริมาณเงินมันเยอะขึ้นมากๆ เงินมันก็ต้องยิ่งเฟ้อหนักขึ้นไปอีก (Hyperinflation)

แต่สำหรับอีกฝั่งของนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่า สิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังทำอยู่นี้ กำลังจะพาโลกไปสู่ยุคเงินฝืด (Deflation) เราอาจจะยังไม่เข้าใจเหตุผลของมันมากพอ วันนี้ผมจะพยายามลองอธิบายดูนะครับ

อย่างแรกก่อน เราต้องเข้าใจก่อนว่า เราจะดูแค่สถานการณ์เศรษฐกิจตรงหน้าว่า “เหล่าผู้ประกอบการกำลังจะจัดการลดราคากระหน่ำ เพื่อดึงยอดขายกลับมา ทำให้เงินเฟ้อจะติดลบในไตรมาสหน้า” หรือมองอีกด้านว่า “ราคาอาหารจะพุ่งปรี๊ดแน่ๆ เพราะคนกลัว COVID-19 รอบสองต้องตุนอาหารกันอีกเพียบ” แบบนี้คงไม่ได้ มันง่ายเกินไปที่เราจะตัดสินใจบนข้อมูลดิบแบบนี้ว่า โลกกำลังจะเคลื่อนไปสู่ทิศทางไหน

แต่สำหรับค่ายของนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนที่เชื่อว่า เงินฝืด รอเราอยู่ หนึ่งในข้อถกเถียงซึ่งเมื่อหยิบขึ้นมาอธิบายปั๊บ ก็ดูมีเหตุผลทันที ก็คือ เราอาจกำลังโดนหลอกด้วยภาพลวงตาที่เราเชื่อมาตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์ตอนปี 2008 ว่า QE คือ การพิมพ์เงิน และเพิ่มปริมาณเงิน หรือ (Money Supply) แบบตรงๆ

ความจริง QE นั้นเพิ่มฐานเงิน หรือ Monetary Base (ไม่ใช่เพิ่ม Money Supply) ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจจริง ตราบใดที่ธนาคารซึ่งได้เงินไปแล้วไม่ได้เอาไปปล่อยกู้ ผู้บริโภคไม่ได้กู้ไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 

ดังนั้นถึงแม้เฟด และธนาคารกลางทั่วโลก (รวมถึงมาตรการจากการคลัง) จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบตอนนี้ในปริมาณมหาศาล แต่ Money Velocity หรือ การหมุนของเงินก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากจากมาตรการ Lockdown และการทำ Social Distancing

ยิ่งมีความเสี่ยงที่ประเทศแกนหลักของเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐ, จีน และ ญี่ปุ่น มีความเสี่ยงจะต้องเจอกับการระบาดรอบสอง ก็ทำให้คนในประเทศ และผู้ประกอบการทั้งหลายระมัดระวังในการใช้เงินเพิ่มขึ้นไปอีก การหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจจริงจึงยังไม่กลับมาที่จุดเดิมได้เร็ววันแน่ๆ

Supply Shock นำไปสู่ Demand Shock

หากดูจากเศรษฐกิจจีนเป็นตัวอย่าง เราอาจจะมองโลกในแง่ดีว่า ตัวเลข PMI ฟื้นกลับมาขยายตัวได้แล้ว คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยกันแล้วหลัง COVID-19 ผ่านไป

กับประเทศอื่น อาจไม่เป็นเช่นนั้น สหรัฐ ยังมีปัญหากลุ่มผู้ประท้วง และอัตราการว่างงานที่พุ่งไปเกิน 40 ล้านคน ฐานะการคลังของกลุ่มประเทศในยุโรปที่มีหนี้ปริมาณไม่น้อยอยู่ก่อนหน้าวิกฤติครั้งนี้

คนไม่มีงานทำ จะเอาเงินที่ไหนมาใช้? และถึงได้เงินจากรัฐบาลมาใช้ จะใช้ได้เท่าๆ กับก่อนหน้าที่เขาเหล่านั้นยังมีงานทำจริงๆ หรือ?

แสดงว่าเฟดไม่ควรทำ QE แล้ว?

ดูเหมือนว่า ที่ตลาดการเงินทั่วโลกกลับมาผันผวนอีกครั้งตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว สาเหตุหลักก็มาจากการที่เฟดส่งสัญญาณว่า จะยังไม่อัดเงินเพิ่ม และเมื่อดูจากข้อมูลที่เฟดรายงานออกมา เดือนพ.ค. เฟดทำการซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการ QE ลดลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกของการเกิดวิกฤติ

เป็นไปได้สองทางครับ 1.เฟด เห็นสัญญาณแล้วว่า Unlimited QE ที่ทำไปรอบนี้ผลของมันอาจไม่เวิร์คเท่าๆ กับ QE รอบก่อนๆ หรือ 2.เฟดกำลังศึกษาหาทางเลือกอื่นมาใช้ควบคู่ เพราะรู้ว่า การขยายวงเงิน QE โดยไม่มีกลไกในการบริหารโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐเองในระยะยาว

ไม่ว่าการที่เฟดชะลอการซื้อสินทรัพย์ลง จะเป็นไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม เชื่อว่า มาตรการ Yield Curve Control (YCC) หรือ การกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในการควบคุมเส้นอัตราดอกเบี้ย จะถูกปล่อยออกมาในไม่ช้าแน่ๆ

เพราะหากดูจากอดีตตอนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจทำ YCC ตอนปี 2016 จะพบว่า ช่วงที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงต่ำๆหรือติดลบ BOJ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการอัดฉีดจำนวนมากอย่างธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ที่เจอปัญหาแบบเดียวกัน

สุดท้าย ตอนเราจะรู้ว่า โลกจะวิ่งไปที่จุดใดระหว่าง Hyperinflation VS. Deflation มันอาจจะอยู่ตรงที่ตลาดกังวลตอนนี้ละครับว่า เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก จะปิดเมืองรอบสองหรือไม่?