“ดวงตา” เครื่องมือสื่อสารยุคหลังโควิด

“ดวงตา” เครื่องมือสื่อสารยุคหลังโควิด

การสวมหน้ากากอนามัย (หรือหน้ากากผ้า) กลายเป็น New normal ในโลกหลังยุคโควิดกันไปแล้ว แต่สังเกตหรือไม่ว่าการสวมหน้ากากเมื่อออกไปข้างนอก

และเจอกับผู้คน ก็นำไปสู่อีก New normal ในการสื่อสารระหว่างบุคคล ตัวอย่างหนึ่งที่พบเจอบ่อยมากนั้นคือเมื่อได้พบเจอคนรู้จัก (ที่อาจจะไม่ได้เจอกันอยู่เป็นประจำ) เมื่อจะทักทายนั้น ก็จะต้องเปิดหน้ากากอนามัยให้เห็นหน้าแบบเต็มๆ ด้วย เนื่องจากสำหรับหลายคนแล้ว เมื่อคนที่เข้ามาทักทายปิดบังใบหน้าไปครึ่งหนึ่งก็อาจจะทำให้ยากที่จะจดจำได้ว่าบุคคลผู้นั้นคือใคร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบุคคลผู้นั้น อ้วนขึ้น ผอมลง หรือ เปลี่ยนทรงผม)

นอกจากปัญหาการจดจำใบหน้าผู้ที่อยู่ภายใต้หน้ากากอนามัยแล้ว อีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่กำลังจะเกิดก็คือ คนจะอาศัยและพึ่งพาดวงตาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากโดยปกติแล้ว 55-80% ของการสื่อสารระหว่างบุคคลนั้นมาจากสิ่งที่เรียกว่าอวัจนะภาษาหรือภาษากาย และใบหน้าของคู่สนทนานั้นก็เป็นอวัยวะของร่างกายที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งที่เราใช้ในการสื่อสารทั้งการส่งสารและรับสารจากคู่สนทนา

ในยุคก่อนโควิดนั้นเวลาคุยกับคู่สนทนาก็จะใช้ทั้งการมอง สีหน้า การขยับปาก สายตา รวมทั้งการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นช่องทางสำคัญในการรับรู้ถึงสารที่คู่สนทนาต้องการจะสื่อ (นอกจากคำพูด) แต่เมื่อหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นในยุคปัจจุบันแล้ว ทำให้เกือบครึ่งหนึ่งของใบหน้า (โดยเฉพาะปาก) ถูกปิดบังไป ก็หนีไม่พ้นที่ทำให้เรื่องของ New normal ลามมาถึงการสื่อสารระหว่างบุคคลไปด้วย

นักวิชาการระบุว่าโดยปกติการรับรู้ภาษากายผ่านทางใบหน้านั้น คนจะมองภาพรวมทั้งใบหน้า นั้นคือทั้งสายตา สีหน้า การเคลื่อนไหวของปาก การขมวดคิ้ว หรือ แม้กระทั่งสีของผิวหน้า (เช่น เวลาอายหน้าจะแดง) ประกอบกันทั้งหมด ซึ่งความสามารถในการรับรู้ข้อมูลหรือสารต่างๆ ผ่านทั้งใบหน้านั้น เราได้รับการพัฒนามาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและชำนาญ อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยที่ระบุว่าถึงแม้คนจะมองทั้งใบหน้า แต่ดวงตาและปากเป็น 2 อวัยวะที่สำคัญที่สุด เพราะทั้งดวงตาและปาก เป็นอวัยวะที่มีการแสดงออกและเห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุด และสำหรับปากนั้นเป็นอวัยวะที่มักจะใช้ในการแสดงออกถึงความสุข ทำให้เริ่มมีข้อสังเกตกันแล้วว่าการปิดปากด้วยหน้ากากอนามัยอาจจะส่งผลต่อความรู้สึกที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้ง่ายของคู่สนทนา

การสวมหน้ากากอนามัยจะยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นภายใต้ยุคความปกติใหม่นี้ก็เลยทำให้ดวงตาจะกลายเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารภาษากาย เนื่องจากปากที่ถูกปิดบังไปเนื่องจากหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ดีความท้าทายสำคัญคือ ในหลายๆ วัฒนธรรมทั่วโลก การจ้องหรือมองตาของคู่สนทนา ไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนเท่าใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสนทนากับผู้ที่อาวุโสกว่าหรือผู้ที่ไม่คุ้นเคย (ไม่นับคู่รักทั้งหลายที่มองตากันจนเป็นกิจวัตร) เคยมีงานวิจัยในอังกฤษที่พบว่าคนมักจะมองคู่สนทนา (แค่มองคู่สนทนาไม่ใช่มองตา) เพียงแค่ 30-60% เมื่อพูดคุยกัน

นอกเหนือจากผู้รับสารที่จะต้องหัดมองดวงตาของผู้พูดมากขึ้นแล้ว ผู้พูดเองก็จะต้องฝึกหัดหรือพัฒนาการใช้ดวงตาในการสื่อสารมากขึ้น ลองนึกถึงการยิ้มดูก็ได้ ในอดีตเมื่อถ่ายภาพนั้น (โดยเฉพาะการถ่ายภาพหมู่) ช่างภาพก็จะบอกให้ทุกคนยิ้ม ซึ่งก็จะเป็นไปด้วยดี แต่เมื่อต้องใส่หน้ากากอนามัยแล้ว เมื่อถ่ายรูปแล้วช่างภาพบอกให้ยิ้ม (ทั้งๆ ที่ใส่หน้ากากอนามัยอยู่) ผู้ที่อยู่ในภาพก็จะต้องหัดยิ้มด้วยสายตาแทน

การสวมหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง แต่ก็ส่งผลทำให้วิธีการสื่อสารระหว่างบุคคลต้องเปลี่ยนไป และดวงตาจะกลายเป็นอวัยวะที่สำคัญสุดสำหรับการสื่อสารต่อไป