โรคอ้วน (3)

โรคอ้วน (3)

ครั้งที่แล้วผมเกริ่นถึงการนำเอาความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมมาใช้รักษาการเป็นโรคอ้วน ซึ่งผมมีความเชื่อว่าในอนาคตการรักษาโรค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพของเราให้ดีอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้น จะทำโดยการดูแลพันธุกรรมหรือ Genome ของเรา ครั้งนี้ผมจะขอสรุปข้อมูลที่ได้ไปค้นคว้ามาเกี่ยวกับเรื่องนี้

ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวยังเป็นเพียงขั้นของการทดลอง ยังไม่ใช่สิ่งที่นำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย ดังนั้นปัจจุบันการควบคุมน้ำหนักตัวของเราให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเริ่มต้นจากการจำกัดการกินอาหาร ซึ่งผมอาศัยการจำกัดช่วงเวลาการกินเวลาในแต่ละวันให้อยู่ในช่วงเวลา 8-10 ชั่วโมงเพื่อให้ท้องว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงดกินอาหารค่ำหรือจำกัดการกินในช่วงนั้นให้น้อยที่สุด ส่วนการอออกกำลังกายนั้นก็เป็นประโยชน์อย่างมากในการทำให้ร่างกายแข็งแรงแต่จะมีบทบาทที่จำกัดในการควบคุมน้ำหนักตัวเพราะร่างกายของเราจะเผาผลาญพลังงานไม่มากจากการออกกำลังกาย เช่น การวิ่งมาราธอน (42 กิโลเมตร) จะใช้พลังงานเพียง 2,000 แคลอรี่ ซึ่งบางครั้งเรากินอาหารและของหวานมากๆ ในหนึ่งมื้อก็เกือบจะเท่ากับ 1,500 แคลอรี่

แต่ก็ต้องยอมรับว่า การอ่านพันธุกรรมของมนุษย์ที่สหรัฐทำสำเร็จมาแล้วตั้งแต่ปี 2003 ทำให้สามารถค้นคว้าและศึกษาได้ว่ายีนส์ใดมีหน้าที่อะไรและ ณ ปัจจุบันมีข้อสรุปว่าในยีนส์ของมนุษย์ที่มีอยู่มากกว่า 20,000 ยีนส์นั้นได้ค้นพบว่ามียีนส์ประมาณ 50 ชนิดที่น่าจะมีส่วนทำให้มนุษย์เรามีความเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนและงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับโรคอ้วนมีข้อสรุปว่าการเป็นโรคดังกล่าวนั้นอาจเป็นเพราะยีนส์ประมาณ 40-70% ซึ่งค่อนข้างสูงมาก ทำให้ผมเข้าใจดีขึ้นว่าเรื่องของการควบคุมน้ำหนักนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยับยั้งชั่งใจในการกินอาหารและความต้องการที่จะควบคุมอาหารแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นเมื่อน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนแล้วการจะเป็นโรคอื่นตามมา เช่น เป็นโรคเบาหวานนั้น ยีนส์ก็จะมีส่วนในการเพิ่มหรือลดความเสี่ยงได้ ปัจจุบันพบยีนส์ 4 ตัวคือ TCF7L2 ABCC8 GLUT2 และ GCGR ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานและอาจมียีนส์อีก 67 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบตัน เป็นต้น

เมื่อเดือน ก.ย.2015 วารสาร The New England Journal of Medicine ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของทีมจากมหาวิทยาลัย Harvard และ MIT ชื่อว่า “FTO Obesity Variant Circuitry and Adipocyte Browing in Human” (ชื่ออ่านแล้วเข้าใจยากมาก) ที่สรุปได้ว่านักวิจัยค้นพบยีนส์ 2 ตัวคือ IRX3 และ IRX5 ซึ่งหากกระตุ้นให้ยีนต์ทั้ง 2 ทำงานมากๆ (elevate expression) แล้วผลที่ตามมาคือจะแปลงไขมัน น้ำตาล (Brown Fat) ซึ่งเผาผลาญพลังงานได้ดีทำให้ไม่อ้วน มาเป็นไขมันขาว (White Fat) ที่จัดเก็บไขมันเอาไว้ กล่าวคือผลที่ตามมาคือจะทำให้อ้วนและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเผาผลาญพลังงานจะลดลงและร่างกายจะเก็บรักษาไขมันเอาไว้แทน (from energy burning to energy storage)

ที่สำคัญคือนักวิจัยได้ใช้เครื่องมือในการตัดแต่ง (edit) ยีนส์ที่เรียกว่า CrisperCas9 ซึ่งสามารถปิดการทำงานของยีนส์ทั้งสอง (IRX3 และ IRX5) ได้สำเร็จและได้ทำการทดลองกับหนูที่กินอาหารที่มีไขมันสูงและพบว่าหนูที่ได้ทำการตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อปิดการทำงานของ IRX3 และ IRX5 จะผอมกว่าหนูที่ไม่ได้ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม 50% กล่าวคือน้ำหนักตัวไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยจากการกินอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงเพราะร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานได้มากกว่า

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2020 วารสาร Cell ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของทีมจากมหาวิทยาลัย University of British Columbia (ประเทศแคนาดา) ที่พบว่ายีนส์ ALK นั้นเป็นยีนส์ที่ทำให้ร่างกายผอม (the skinny gene) ทั้งนี้จากการวิจัยฐานข้อมูลของประชาชนประเทศ Estonia กว่า 47,000 คนและพบว่ามีประชาชนที่โชคดีมียีนส์ดังกล่าวไม่ถึง 2% ของประชากรทั้งหมด กล่าวคือคนที่ผอมโดยธรรมชาติจะมียีนส์ ALK 2 ประเภทที่แตกต่างจากยีนส์ ALK ที่มีอยู่ในคนส่วนใหญ่และเป็นยีนส์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการนำเอาอินซูลินมาใช้ (insulin receptor)

แต่ที่สำคัญคือยีนส์ ALK นี้หากมีการกลายพันธ์ (mutation) ก็จะนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งที่ปอดได้ ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนายาออกมาหลายตำรับเพื่อรักษาโรคดังกล่าว เช่น ยาของบริษัท Pfizer (Xalkori และ Lorbrena) ยาของ Novartis (Zykadia) ยาของ Roche (Alecensa) และ ยาของ Takeda (Alunbrig) ดังนั้นก้าวต่อไปคือการออกแบบงานวิจัยเพื่อนำเอายาดังกล่าวมาทดลองใช้ในการควบคุมน้ำหนักและรักษาโรคอ้วน ทั้งนี้เพราะการทดลองกับหนูพบว่าเมื่อปิดการทำงานของ ALK หนูกลุ่มดังกล่าวน้ำหนักตัวไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แม้จะได้รับอาหารที่มีไขมันสูงนานถึง 16 สัปดาห์ ในขณะที่หนูอีกกลุ่มหนึ่งที่กินอาหารเหมือนกัน แต่ปล่อยให้ ALK ทำงานโดยปกติมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจนเป็นโรคอ้วนทั้งหมด ซึ่งนักวิจัยมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าการควบคุมการทำงานของ ALK นั้นน่าจะมีผลในการสั่งการผ่านสมองให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเร่งการเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่ (instructing the fat tissues to burn more energy)