ปรัชญาฝ่าวิกฤติ สู่ยั่งยืนในวิถีตะวันออก

ปรัชญาฝ่าวิกฤติ สู่ยั่งยืนในวิถีตะวันออก

ท่ามกลางความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ เราได้เห็นปรากฏการณ์แห่งการร่วมด้วยช่วยกันของทุกภาคส่วน เป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์แบบไทยๆ

ฝรั่งมังค่า ต่างทึ่งกับตู้ปันสุขและอีกหลากหลายพฤติกรรม ที่ทำให้สยามเมืองยิ้ม ยังยิ้มได้ ที่สุดแล้ว วิถีไทยๆ และแนวคิดตะวันออกที่เราเคยมองผ่าน ในวันที่อารยธรรมตะวันตกไหลบ่า แต่เมื่อมาพบกันวิกฤติโควิดและเห็นแนวทางการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศ กลับทำให้คุณค่าของใกล้ตัว ถูกหันกลับมามองอีกครั้ง วิธีคิดและปรัชญาธุรกิจของโลกตะวันออก มีหลายแง่งามที่ทำให้หลายๆ บริษัท สามารถยืนหยัดถึงทุกวันนี้ 

หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนคือ Rinen จากแดนอาทิตย์อุทัยที่ได้รับการยอมรับในความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพยาวนาน ผ่านร้อนหนาวได้อย่างน่าทึ่ง จากผลสำรวจพบว่าญี่ปุ่นมีธุรกิจที่ก่อตั้งมานานกว่า 100 ปีมากที่สุดในโลก บางบริษัทมีอายุถึง 1,000 ปี ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยวิกฤติจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการพ่ายแพ้สงครามโลก แต่ปรัชญาที่ยึดถือและหล่อหลอม ก็ทำให้ธุรกิจญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาได้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์เจ้าของเพจ เกตุวดี Marumura กูรูแห่ง Rinen ทาง SCBTV เห็นแก่นแกนของวิสัยทัศน์ พันธกิจ คุณค่าที่องค์กรเชื่อถือ ตอบคำถามว่า ธุรกิจของเราดำรงอยู่เพื่ออะไร และยึดมั่นจุดยืนนั้นในทุกการตัดสินว่าธุรกิจจะเดินไปทางไหน 

โดยทั้งผู้บริหารและพนักงานตระหนักและมีสิ่งนี้อยู่ในใจตลอดเวลา สะท้อนคุณค่าออกมาทุกการคิด พูด ทำ ไม่หลุดความเป็นตัวตน เช่นกรณี Oisix ธุรกิจขายอาหารสดออนไลน์มี Rinen ที่อยากสร้างอนาคตที่ดีผ่านอาหาร ทำให้อาหารสดที่ Oisix ขายต้องเป็นผักออร์แกนนิค เนื้อสัตว์ต้องคุณภาพดีเท่านั้น มาในช่วงวิกฤต Oisix ต้องตัดสินใจให้ธุรกิจอยู่รอด แต่ต้องไม่ใช่การลดคุณภาพสินค้าสร้างยอดขายซึ่งขัดกับ Rinen ของบริษัท

Rinen ไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจเดิมๆ อย่างเดียว สามารถปรับขยายธุรกิจได้โดยไม่หลุดความเป็นตัวตน เช่น Muji ที่มีสินค้าหลากหลายภายใต้ Rinen ของการสร้างชีวิตที่ดี ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น เป็นแก่นไว้ยึดในการเติบโตพัฒนา แต่ไม่ใช่กรอบสร้างข้อจำกัด ดังนั้น องค์กรมี Rinen ที่ดีจะไม่ถูกจำกัดความคิดในเรื่องของสินค้าและวิธีการ ถ้ามี Rinen ว่า ฉันจะส่งมอบสิ่งดีให้ลูกค้า” ก็สามารถทำได้ผ่านการสร้างสรรค์สินค้าต่อยอดบริการได้อีกไม่จำกัด

Rinen เน้นบริหารองค์กรในช่วงวิกฤติโดยให้ความสำคัญกับพนักงานที่สุด เช่นเรื่องราวของบริษัท Enough Food ที่ฐานะการเงินแย่ขั้นล้มละลาย ประธานบริษัทต้องตัดสินใจเลือกว่าจะใช้งบก้อนสุดท้าย 2 ล้านเยนทำอะไร ระหว่าง โปรโมทสินค้า หรือดูแลพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บและเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่เพิ่มความปลอดภัย 

เมื่อย้อนดู Rinen ของบริษัทคือ เราจะสร้างบริษัทที่ดี” ผู้บริหารตัดสินใจใช้งบดูแลพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บและเปลี่ยนเครื่องจักร สร้างผลตอบรับที่ดี ได้ใจพนักงาน ส่งผลให้ทุกคนทำงานอย่างทุ่มเท พลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาได้ หรือ บริษัทผลิตซีอิ๊ว Yagisawa Shoten อายุ 180 ปีที่โดนสึนามิถล่มโรงงาน วัตถุดิบเสียหาย ไม่มีหัวเชื้อ ตอนแรกประธานบริษัทคิดจะเลิกกิจการ แต่ฉุกคิดได้ว่ายังมีสิ่งสำคัญที่เหลืออยู่ นั่นก็คือพนักงานที่ทุ่มเท ประธานจึงตัดสินใจไม่ยอมแพ้ เรียกพนักงานมารวมกันหน้าศูนย์ลี้ภัย ประกาศเริ่มต้นใหม่ และมอบเงินเดือนเดือนล่าสุดให้พนักงาน เหตุการณ์นี้มีนักข่าวเก็บภาพไว้ได้และเผยแพร่ข่าวออกไป เมื่อบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งได้เห็นข่าว ก็นึกขึ้นมาได้ว่าบริษัทเคยส่งหัวเชื้อมาให้ห้องแล็บใช้ ทดลองจึงส่งหัวเชื้อมาให้ บริษัทกลับมาดำเนินกิจการใหม่ได้ เปรียบเสมือนกับห่วงโซ่ความดี โดยองค์กรที่ทำความดีก็จะได้รับผลความดีตอบแทน

ปรัชญาธุรกิจวิถีตะวันออกนี้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ตัดสินใจสั้น มองผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่มองยาวถึงพนักงานและลูกค้าจริงๆ ไม่ตัดสินใจผิดพลาดทำลายแบรนด์ตัวเอง ได้ทั้ง Brand Identity ที่ชัดเจนเพราะมีแก่นในการตัดสินใจ และลูกค้าที่รักในสินค้า/บริการของบริษัทอย่างแท้ ในที่สุด ก็จะมีองค์กรธุรกิจสร้างสินค้าบริการดีๆ เปี่ยมด้วยคุณค่าให้สังคมอย่างยั่งยืนไปยาวๆ ที่สุดแล้ว เราอาจใช้ศาสตร์และปรัชญาที่หลากหลายมาผสมผสาน เพื่อไม่ว่าวิกฤติใด ชีวิต-ธุรกิจ ก็จะผ่านไปได้