ตลาดหุ้นเริ่มพักฐาน แต่สภาพคล่องยังล้น

ตลาดหุ้นเริ่มพักฐาน แต่สภาพคล่องยังล้น

ตลาดหุ้นไทยเริ่มพักฐานตามภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก

ตลาดหุ้นไทยเริ่มพักฐานตามภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากที่ SET index รีบาวด์ขึ้นมาราว ±40% ตั้งแต่ที่เกิด Panic sell ช่วงเดือน มี.ค. โดยการฟื้นตัวของ SET index ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ภาวะซื้อมากเกินไป หรือ Overbought ในการวิเคราะห์ด้านเทคนิค (Technical analysis) ขณะที่ในเชิงปัจจัยพื้นฐานเนื่องจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ทำให้ Forward PE บนกำไรปี 2563 อยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ +20 เท่า (อิงประมาณการ EPS ปี 2563 ตาม Bloomberg consensus ล่าสุดที่ 66.3 บาท/หุ้น) อย่างไรก็ดีเราประเมินการพักฐานของดัชนี จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสมอีกครั้ง เนื่องจากประเมินว่า i) Valuation ในด้าน Asset based บริษัทจดทะเบียนไทยยังถูก และ ii) New normal ของ PE โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องล้นตลาดการเงิน

ประเด็นเรื่อง Asset based–valuation : เนื่องจากสมมติฐานหลักของฝ่ายวิจัยฯคือ เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกใน 2Q63 จะเป็นจุดต่ำสุดและค่อยๆฟื้นตัวในครึ่งปีหลังของปี 2563 ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 (คาด GDP ปี 2563 และ 2564 เท่ากับ -8.4% และ +8.0% ตามลำดับ) ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ที่ชะลอตัวลง คาดว่าจะกลับฟื้นตัวได้ในปี 2564 ดังนั้นการพิจารณาในมุมของ PE ปี 2563 เพียงปีเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการ นำมาใช้ตัดสินใจลงทุน และการพิจารณาถึง PE ปี 2564 ก็อาจจะเร็วเกินไป เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากการแพร่ระบาดของไวรัสฯเกิดขึ้นระลอกที่ 2 (หรือ Second wave) ดังนั้นการพิจารณาในด้าน Asset based - valuation ร่วมด้วยจึงเป็นการเพิ่มมิติในการมองตลาดหุ้น ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ PBV เพียง 0.63 เท่า ขณะที่กลุ่มพลังงาน (ไม่รวมหุ้นโรงไฟฟ้า) ซื้อขายกันที่ PBV ต่ำกว่า 1 เท่า เป็นต้น ในภาพรวมของ SET index เองมี PBV ล่าสุดที่ 1.52 เท่า (ข้อมูล ราคาปิดวันที่ 11 มิ.ย.) ซึ่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PBV ย้อนหลัง 20 ปีที่ 1.85 เท่า ดังนั้นหากพิจารณาในมุมนี้และด้วยสมมติฐานว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะฟื้นตัว ทำให้เราประเมินว่า Valuation ตลาดหุ้นไทยขณะนี้ อาจจะเป็นการ 'แพง' ในระยะสั้น แต่สำหรับการลงทุนระยะยาวยังน่าสนใจลงทุนอยู่

สำหรับเรื่อง 'New normal' ของ PE ตลาดหุ้นไทย จากมาตรการการเงินทั่วโลกที่อัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.5% และมีโอกาสปรับลดลงอีกครั้งในปีนี้ราว 0.25% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 5-10 ปี ปรับลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ดังนั้นหากนำแนวความคิดเรื่องของ Relative valuation มาใช้ประกอบการพิจารณา ระหว่างตลาดหุ้นกับตลาดพันธบัตร จะทำให้เห็นภาพว่า PE ของตลาดพันธบัตรในปัจจุบันเข้าสู่ภาวะ New normal และระยะห่างของทั้ง 2 ตลาด ยังมีความห่างกันอยู่มาก โดยเราสามารถคำนวณหา PE ของพันธบัตรได้ โดยใช้หลักการเดียวกับการ เปลี่ยนค่า PE ของหุ้นให้เป็น Earnings yield (การกลับเศษส่วน) อาทิ หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีล่าสุดที่ 1.28% เท่ากับว่า PE ของพันธบัตรจะเท่ากับ 1/1.28% หรือ 78 เท่า และหากพิจารณาจากข้อมูลในอดีตย้อนหลัง Forward PE ของ SET index จะมีส่วนลด หรือ Discount จาก PE ของพันธบัตรเฉลี่ยราว -63.4% (คำนวณตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน ย้อนหลัง 5 ปี) แต่ปัจจุบัน Forward PE ของ SET index มีส่วนลดจาก PE ของพันธบัตรราว -73.5% ทำให้อาจพิจารณาได้ว่า หากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยยังต่ำต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้สูงที่ Forward PE ของ SET index จะถูก Re-rate ขึ้น ในมุมมองของ Relative valuation โดยแนวคิดนี้ผมได้เขียนอธิบายไว้ในบทวิเคราะห์เชิงปริมาณ Quantamental ของฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา นักลงทุนที่สนใจสามารถติดตามอ่านได้ในเว็บไซต์ของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย)

โดยสรุป ผมประเมินว่าตลาดหุ้นไทยที่ทำการพักฐานในสัปดาห์ที่ผ่านมาราว -7% จากจุดสูงสุดในรอบนี้ ซึ่งเป็นการพักฐานในระดับตามค่าเฉลี่ยตามสถิติที่ตลาดหุ้นจะทำการพักฐานราว -7% (ในกรณีที่ไม่เกิดวิกฤติ) เราจึงประเมินว่าการพักฐานน่าจะจบ หรือ ใกล้จบแล้ว และมีโอกาสที่จะเริ่มเข้าสู่การ Sideway จึงเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่ Valuation ไม่แพง เพื่อคาดหวังถึงการฟื้นตัวในปี 2564 และอาจพิจารณาถึงการเก็งกำไรหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ รวมถึงหุ้นที่จะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐฯ และ Valuation ยังไม่แพงเกินไปนัก อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมฯ หุ้นกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น