แนวทางการจัดการ e-waste สำหรับไทย (4)

แนวทางการจัดการ e-waste สำหรับไทย (4)

หลังจากที่ได้นำเสนอการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีน ซึ่งใช้กลไกของภาครัฐ (ตอนที่ 1)

และกลไกภาคเอกชนในญี่ปุ่น (ตอนที่ 2) และเยอรมนี (ตอนที่ 3) ในตอนนี้จะขอนำเสนอกลไกที่เหมาะสมต่อประเทศไทย โดยถอดบทเรียนจากประเทศที่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้มาก่อน และนำปัญหาเหล่านั้นพร้อมทั้งวิธีแก้ไขมาประยุกต์เพื่อให้กลไกของการจัดการซากฯ ของไทย มีความเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ปัจจุบันวิธีการจัดการซากฯ ของไทยจะมีลักษณะคล้ายจีนที่ผู้บริโภคขายซากฯ ให้กับรถเร่ รถเร่จะนำไปขายต่อที่ผู้รวบรวม ผู้รวบรวมจะส่งไปคัดแยกอย่างไม่ถูกวิธีตามท้องถิ่นต่างๆ โดยอาศัยความได้เปรียบของค่าแรงและการไม่ต้องจัดการด้านสิ่งแวดล้อม แผงวงจรที่มีโลหะมีค่าจะถูกหลอมโดยใช้ความร้อนหรือขายต่อให้กับโรงงานหลอม ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีระบบในการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมหรือส่งออกต่างประเทศ

จากแนวทางของประเทศต่างๆ ที่ได้นำเสนอไปแล้ว ผู้เขียนจึงได้ร่างแนวทางการจัดการของซากฯ ขึ้นเพื่อให้เป็นทางเลือกในการออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประยุกต์รูปแบบองค์กรกลางจากเยอรมนี เนื่องจากข้อจำกัดของจำนวนข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งก็ยังต้องประสบปัญหาเรื่องกฎระเบียบ ตามกฎหมายไทยที่ไม่อาจให้อำนาจองค์กรกลาง ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนให้มีอำนาจในการจัดการฟ้องร้องหรือบังคับใช้กฎหมายได้ 

ดังนั้น จึงขอเสนอให้แยกอำนาจของผู้กำกับดูแล (Regulator) และผู้ปฏิบัติ (Operator) ออกจากกัน โดยให้ Regulator ยังคงเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ส่วน Operator จะเป็นองค์กรกลางที่ไม่แสวงหาผลกำไร ขณะเดียวกัน กลไกนี้ยังได้ประยุกต์แนวทางในการเตรียมการก่อนบังคับใช้กฎหมายของญี่ปุ่น ซึ่งมีวิธีในการเตรียมพร้อมได้เป็นอย่างดี ดังนี้

1.หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator)

ก่อนกฎหมายบังคับใช้

1.กำหนดวิธีการรวบรวมจัดเก็บและบริหารจัดการซากฯ เพื่อควบคุมผู้ที่ไม่เข้าร่วม (Free rider) โดยการขึ้นทะเบียนและยกเลิกการขึ้นทะเบียนผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย และร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการออกระเบียบบังคับห้ามจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายการจัดการซากฯ ภายในประเทศหากไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย

การจัดเก็บค่าประกันการจัดการซากฯ ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ขายสินค้าได้ภายในประเทศ และวางระเบียบการเบิกจ่ายในกรณีที่ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายเลิกประกอบกิจการ และการแจกจ่ายตราสัญลักษณ์ผู้เข้าร่วม จัดทำระบบบาร์โค้ดสำหรับสินค้าที่ร่วมดำเนินการ

2.การควบคุมการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยการออกระเบียบบังคับห้ามทำการคัดแยก ยกเว้นการดำเนินการที่โรงงานถอดแยกเท่านั้น ไม่รวมถึงการถอดแยกที่มีวัตถุประสงค์ซ่อมแซมเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) การขึ้นทะเบียน ถอนทะเบียนศูนย์รวบรวมซากฯ และโรงงานถอดแยก กำหนดอำนาจในการปรับผู้ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมให้หน่วยงานท้องถิ่นจะต้องรับผิดชอบซากฯ ที่หาเจ้าของไม่ได้ ซากที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ท้องถิ่นออกมาตรการในการบังคับใช้และควบคุมการคัดแยกที่ต้นทาง

3.การกระตุ้นให้ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากร จัดทำเป้าหมายการรวบรวมซากฯ (Collection rate), เป้าหมายการใช้ประโยชน์ (Recovery rate), และเป้าหมายการรีไซเคิล (Recycle rate) ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

4.ประสานงานร่วมกันกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการออกมาตรฐานการทำงานของโรงงานถอดแยกเพื่อมั่นใจว่าซากฯ จะถูกนำไปจัดการได้อย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพ

5.เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการซึ่งอาจพบปัญหาหรือการประเมินค่าใช้จ่ายผิดพลาดได้ในช่วงเรกของการดำเนินงาน การบังคับใช้กฎหมายควรแบ่ง 3 ช่วงเวลา ตามขนาดของหน่วยงานท้องถิ่นดังนี้ 

ระยะที่ 1) 3 ปีแรกภายหลังกฎหมายบังคับใช้ ให้เทศบาลเมืองขึ้นไปและ อบจ.รวม 286 แห่ง (บางจังหวัดอาจมีมากกว่า 2 ศูนย์รวบรวมซากฯ), ห้างฯ ที่มีพื้นที่จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า 400 ตารางเมตรขึ้นไป ระยะที่ 2) ตั้งแต่ปีที่ 4  เพิ่มเทศบาลตำบล ระยะที่ 3) ปีที่ 6 เพิ่ม อบต.

ส่วนโทรศัพท์ ซึ่งมีรูปแบบในการจัดเก็บแยกออกไป อาจใช้กลไกของร้านสะดวกซื้อและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อทำหน้าที่รวบรวมจัดเก็บและส่งเพื่อไปดำเนินการต่อ

6.การจัดการในช่วงเปลี่ยนผ่าน ควรประเมินซากฯ ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน (หรือเกิดก่อนระบบมัดจำ) และประชุมเพื่อหาทางออก ในการจัดการร่วมกันกับผู้ผลิต เช่น ซากฯ ที่สมบูรณ์ให้นำไปแลกซื้อเครื่องใหม่จะได้ส่วนลดจากผู้ผลิต ส่วนซากฯ ที่ส่งคืนศูนย์รวบรวมซากฯ หรือซากที่ไม่สมบูรณ์จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น

หลังกฎหมายบังคับใช้

1.การประเมินผลการทำงานในด้านการปฏิบัติงานด้านเศรษฐศาสตร์ และกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานทุก 3 ปี และประเมินค่าใช้จ่าย (ค่าธรรมเนียม) ดำเนินการทุกปี

2.ขึ้นทะเบียนและถอนการขึ้นทะเบียนตามข้อ 1 และ 2 ข้างต้น ก่อนกฎหมายบังคับใช้ และ 3.ลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

2.องค์กรกลาง (Operator) 

องค์กรที่จัดตั้งโดยการร่วมมือกันของผู้ผลิตเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการซากฯ ตั้งแต่การรวบรวม ขนส่งและถอดแยกซากฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายจะต้องถูกระบุในกฎหมายเพื่อกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้

ก่อนกฎหมายบังคับใช้

1.ออกระเบียบในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการขนส่งและบริหารจัดการซากฯจากผู้ผลิต รวมถึง E-commerce 2.การประสานงานร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นและห้างสรรพสินค้าในการจัดตั้งศูนย์รวบรวมซากฯ 3.จัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการรับคืนซาก เช่น บาร์โค้ด ใบกำกับการขนส่งจากศูนย์รวบรวมซากฯ ไปที่โรงงานถอดแยก และการรายงานจากโรงงานคัดแยก

4.การจัดทำรายชื่อผู้ขนส่งที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 5.การจัดทำรายชื่อโรงงานถอดแยกที่ผ่านมาตรฐาน รวมถึงการตรวจสอบ (Audit) ก่อนการเริ่มดำเนินการจริง

หลังกฎหมายบังคับใช้

1.จัดเก็บค่าธรรมเนียมการขนส่งและบริหารจัดการซากฯ จากผู้ผลิต รวมถึง E-commerce 2.จัดตั้ง Call center ในการเป็นคนกลางในการติดต่อระหว่างผู้ขนส่ง, ศูนย์รับคืนซากฯ และโรงงานถอดแยกในการรวบรวมขนส่งและถอดแยกซากฯ 3.ประเมินการขึ้นทะเบียนโรงงานถอดแยก (รวมถึงการตรวจสอบการดำเนินการเป็นครั้งคราว) ซึ่งในระยะแรกอาจกำหนดเป็นกลุ่มจังหวัด (Cluster) ตามขีดความสามารถของโรงงานถอดแยก (Dismantling capacity) และการประมาณปริมาณซากฯ เพื่อควบคุมต้นทุนในการดำเนินการ

4.ประเมินการดำเนินงานทุกระบบ, จัดทำรายงานต่อผู้ผลิตและหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลตามเป้าหมายที่ระบุตามวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย และประสานงานกับผู้ผลิตในการศึกษาค่าใช้จ่าย รวมถึงการเตรียมการจัดตั้งกลไกต่างๆ หรือสนับสนุนจัดทำโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการจัดการ

โดย...  พูนศักดิ์ จันทร์จำปี