“catch-22” อธิบายชีวิต

“catch-22” อธิบายชีวิต

“catch-22” เป็นคำที่ได้ยินอยู่เนืองๆ ไม่ว่าในสิ่งพิมพ์หรือภาพยนตร์ หลายสิ่งในชีวิตประจำวันเข้ากรอบ “catch-22”

เช่นคนสมัครเข้าทำงานต้องมีประสบการณ์ จะหาเงินได้ต้องมีเงินเสียก่อนจะกู้เงินได้ ต้องมีฐานะมั่นคง ฯลฯ การเข้าใจ “catch-22” จะทำให้มีอารมณ์ขันไม่เครียดเกี่ยวกับสถานการณ์หรือกฎเกณฑ์ที่หาคำตอบไม่ได้ เข้าใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเอามันไปใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย

ถ้าทุกคนที่สมัครเข้าทำงานต้องมีประสบการณ์มาก่อนแล้วจะหาใครมาสมัครได้เล่า ถ้าไม่เคยให้โอกาสคนทำงานหลังจบมาใหม่ ถึงความจริงจะเป็นเช่นนี้ แต่เราก็ยังเห็นการประกาศเช่นนี้อยู่เสมออาจเป็นเพราะยังหาคนมีประสบการณ์ได้กระมัง ถ้าทุกแห่งในโลกมีประกาศเช่นนี้ก็จะเป็นสถานการณ์ที่หาคำตอบไม่ได้หรือหาคำตอบที่ดีไม่ได้ นี่คือ “catch-22”

คำแนะนำว่า หากจะหาเงินก็ต้องมีเงินเสียก่อน ก็หรอบเดียวกัน ถ้ามีเงินตอนนี้แล้วจะไปหาเงินทำไมและถ้าจะทำมาหากินมีเงินทองก็ต้องมีเงินทองมาสนับสนุนก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้จึงหาคำตอบไม่ได้ มันก็เข้า “catch-22” อีกเหมือนกัน

ในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ถ้าเป็นคนต้องการกู้เงินมากก็ต้องหาหลักทรัพย์มูลค่าสูงมาค้ำประกัน คำถามก็คือ ถ้าเขามีฐานะมั่นคงแล้วจะมากู้ทำไม นี่ก็ “catch-22” เหมือนที่เขาอุปมาว่าในยามที่ฝนตกและถือร่มอยู่เมื่อฝนตกหนักเข้าก็กลับมาแย่งร่มออกไปจากมือกล่าวคือ ในยามที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดเพราะขาดสภาพคล่อง แทนที่จะให้กู้เพิ่มกลับยึดหลักทรัพย์ที่ค้ำประกัน

คำถามไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกันก็เป็น “catch-22” เช่นกัน เรารู้กันดีว่าไม่มีคำตอบเพราะถ้าบอกว่าไก่เกิดก่อนไข่ อีกคนก็จะแย้งว่าถ้าไม่มีไข่แล้วจะมีไก่ได้อย่างไร หากบอกว่าไข่มาก่อนก็จะแย้งว่าถ้าไม่มีไก่ก่อนแล้วจะมีไข่ได้อย่างไร

“catch-22” หมายถึงสถานการณ์ซึ่งมีความขัดแย้งกันจนหาคำตอบ หรือไม่สามารถหาคำตอบที่ดีได้เนื่องจากปัจจัยของคำตอบเกี่ยวพันกัน ดังเช่นตัวอย่างข้างต้น “ประสบการณ์ทำงานกับการทำงาน” “มีเงินกับหาเงิน” “กู้เงินกับหลักทรัพย์ค้ำประกัน” “ไก่” กับ “ไข่” ฯลฯ ในประเทศหรือองค์กรที่มีกฎเกณฑ์มักมี “catch-22” ซ่อนอยู่เสมอ บ้างก็เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ บ้างก็มาจากการจงใจเพื่อหาประโยชน์

นักประพันธ์ชาวอเมริกัน Joseph Heller เขียนหนังสือแนวเสียดสี ชื่อ “Catch-22” ซึ่งโด่งดังมากจนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของศตวรรษที่ 20 โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1961 เขาแนะนำความคิดเรื่อง “catch-22” เป็นครั้งแรกและเป็นที่ถูกใจคนทั่วโลก เพราะมันมีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน

นิยายเรื่องนี้ซึ่งถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา เล่าถึงชีวิตทหารอากาศอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงความ “งี่เง่าไร้สาระ” ของสงคราม และหนึ่งในเหตุผลนั้นก็คือการมี “catch-22” ในกฎเกณฑ์หลายเรื่อง

ตัวอย่าง “catch-22” ที่ถือว่าคลาสสิกของนิยายเรื่องนี้ ก็คือทหารนักบินทุกคนพยายามถนอมชีวิตตนเองให้รอดจากสงคราม ช่องทางก็คือข้ออ้างว่าเป็นบ้า จะได้ไม่ต้องบินอีก กฎระเบียบในเรื่องนี้ระบุให้นักบินเขียนคำร้องขอให้แพทย์ประเมินว่าตนเองเป็นบ้าเพื่อจะได้หยุดบิน อย่างไรก็ดี กองทัพบอกว่าการตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองซึ่งเป็นลักษณะของคนที่มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น จึงไม่เป็นบ้าอย่างแน่นอน ต้องบินต่อไป เมื่อกฎระบุไว้เช่นนี้นักบินบ้าจริงและไม่บ้าแต่อยากอ้างเพื่อหยุดบินก็ต้องบินกันต่อไปเหมือนเดิม ในที่สุดกองทัพจึงมีทั้งนักบินที่บ้าจริงและไม่บ้า

อีกตัวอย่างก็คือสถานการณ์ซึ่งบุคคลผู้ต้องการสิ่งหนึ่งสามารถได้มันมาได้โดยการแสดงว่าไม่ต้องการมัน เช่นการได้เงินกู้อย่างง่ายจากการแสดงให้เห็นว่ามีฐานะจนไม่ต้องการเงินกู้นั้นนี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดนักธุรกิจไทยจึงต้องขับรถหรูมียี่ห้อไปกู้เงินธนาคารทั้งที่กระเป๋ากลวงโบ๋ เรื่องนี้เป็น “catch-22” ก็เพราะความขัดแย้งระหว่างความต้องการเงินกู้กับการแสดงว่าไม่ต้องการซึ่งทำได้สำเร็จเพราะการเอนเอียงของวิจารณญาณของผู้ให้กู้

กฎระเบียบในบางประเทศอาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิด “catch-22” จนต้องอาศัยวิจารณญาณของผู้รักษากฎหมายเป็นตัวตัดสิน กล่าวคือเมื่อมันเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถให้คำตอบที่ดีได้หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คำตอบจึงต้องอาศัยวิจารณญาณ อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ใดและเมื่อใดมีการใช้วิจารณญาณที่นั้นและเมื่อนั้นก็จะเกิดคอร์รัปชันขึ้น

หากในประเทศหนึ่งจะมีทะเบียนบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีใบอนุญาตให้ไฟฟ้าประปาเข้าบ้านแล้ว และไฟฟ้าประปาก็บอกว่าจะให้ได้ก็ต่อเมื่อมีทะเบียนบ้านมาแสดง “catch-22” อย่างนี้จึงเปิดช่องให้ผู้รักษากฎหมายใช้วิจารณญาณอนุมัติให้เป็นกรณีพิเศษได้ตามที่กฎหมายอนุญาตไว้อย่างนี้เงินก็จะไหลมาเทมา

สังคมใดที่มีกฎหมายและกฎเกณฑ์จำนวนมากและซับซ้อนก็มีโอกาสสูงที่จะเกิด “catch-22” ขึ้นได้อย่างไม่ตั้งใจ ผลที่เกิดขึ้นก็คือการลดลงของประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและการลดลงของประโยชน์แก่ประชาชน

“catch-22” สามารถช่วยหญิงสาวปฏิเสธชายหนุ่มได้อย่างนุ่มนวล เธอบอกว่าตัวเองติงต๊องจึงไม่รับคนมีลักษณะเหมือนเธอมาเป็นแฟนเด็ดขาด และเธอคิดว่าเฉพาะคนติงต๊องเท่านั้นที่อยากได้เธอมาเป็นแฟน ดังนั้น ทันทีที่ใครมาขอเธอเป็นแฟนก็แสดงว่าติงต๊องไปแล้ว ดังนั้นเธอจึงรับรักเขาไม่ได้

ลองมองหา catch-22 ในชีวิตดูสิครับแล้วจะสนุก “ตลอดชีวิตคุณรักใครมากที่สุด (ฉันยังไม่ตายชีวิตยังไม่ตลอดแล้วจะบอกได้ไง)” “ในหนึ่งชั่วโมงคุณเดินได้ 5 กิโลเมตร หากเดิน 3 ชั่วโมงก็ต้องได้ 15 กิโลเมตร (โธ่แค่คิดว่า 2 กิโลเมตรฉันก็คงหลุดเป็นชิ้นๆ แล้วจะตอบได้ไง)”