การเรียนในมหาวิทยาลัยในอนาคต?

การเรียนในมหาวิทยาลัยในอนาคต?

คำถามในใจในฐานะอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง คือ อนาคตการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะทยอยเปิดเทอมกันหมด ภายในกลางเดือน ส.ค.นี้ ขณะเดียวกันวัคซีนโควิดก็คงยังไม่เกิดในระยะเวลาอันใกล้

นอกจากความไม่แน่นอนในระยะสั้นแล้ว การปรับเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยในระยะกลางและยาวก็เป็นสิ่งที่น่าคิด ยิ่งเมื่อมหาวิทยาลัยไทยต่างปรับตัวในเรื่องการเรียนการสอนกันอย่างรวดเร็วจากปัญหาโควิดได้เป็นอย่างดี แล้วในระยะกลางถึงยาว การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะกลับไปเหมือนเดิม หรือว่าจะเปลี่ยนไป และเปลี่ยนไปเพียงใด?

ในเมื่อยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เลยขอพาไปดูตัวอย่างจากในภูมิภาคนี้ 2 แห่ง คือที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่ฮ่องกงนั้นมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ปรับการเรียนการสอนสู่ระบบออนไลน์ ตั้งแต่ปลายปี 2019 เนื่องจากเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุจากโควิดเข้ามาอีกจึงได้นำบทเรียนจากช่วงปลายปี 2019 มาปรับใช้

เมื่อโควิดเกิดขึ้น ที่ HKUST (Hong Kong University of Science and Technology) ได้ตัดสินใจที่จะให้ทุกวิชาเป็นการเรียนแบบออนไลน์และเป็นการเรียนสด (นั้นคือไม่ใช่บันทึกไว้ให้นักศึกษามาดู) ขณะเดียวกันสิ่งที่มุ่งเน้นมากคือการสื่อสารและทำความเข้าใจกับนักศึกษา รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษา ดังนั้นจึงได้จัดให้มีปุ่มกดเพื่อรับ feedback ของนักศึกษา รวมทั้งมีกลไกในการแชร์ Best Practices ระหว่างผู้สอนด้วยกัน เพื่อพัฒนาการสอน

จัดให้มีกลไกในการประเมินประสิทธิผลของการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งพบว่ากว่า 75% ของนักศึกษาที่พอใจต่อการสอนแบบออนไลน์ ผลจากการประเมินยังพบว่าอาจารย์บางท่านที่อาจจะสอนไม่เก่งในรูปแบบห้องเรียน เมื่อมาสอนออนไลน์ผลการประเมินการสอนกลับดีขึ้นอย่างชัดเจน

ที่สิงคโปร์นั้นได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องการสอนออนไลน์มาตั้งแต่เกิดไข้หวัด SARS แล้ว โดยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ได้ให้อาจารย์ทุกคนเข้าอบรมเกี่ยวกับการสอนแบบออนไลน์ และทดลองจัดการสอนแบบออนไลน์มาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อเกิดโควิดเกิดขึ้น การปรับเปลี่ยนสู่การสอนแบบออนไลน์จึงไม่ใช่ปัญหา

อย่างไรก็ดี สิ่งที่มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์กำลังถกเถียงกันในปัจจุบันคือ มองว่าสถานการณ์โควิดนั้นจะไม่จบง่ายๆ ในช่วงไม่กี่เดือน แต่คงจะเป็นปี ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงควรที่จะมาทบทวนและท้าทายสมมติฐานทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่คุ้นเคย เคยชิน และมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สถานที่ที่เกิดการเรียนรู้ หรือ การสอนหนังสือที่ดีควรจะมีลักษณะอย่างไร หรือ เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ หรือ คุณสมบัติของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ดี หรือ ประสบการณ์ที่นักศึกษาควรจะได้รับในมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งความแตกต่างระหว่างแต่ละมหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งสมมติฐานดั้งเดิมที่เคยยึดและมีกันอยู่ควรจะถูกตั้งคำถามและเปลี่ยนไปในสมัยหลังโควิด

บทความหนึ่งที่ลงในเว็บของ Harvard Business Review เมื่อเร็วๆ นี้ระบุเลยว่าสำหรับมหาวิทยาลัยแล้ว ในอนาคตที่เป็นระยะกลางและยาวแล้ว จะมีรูปแบบของมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่

1.แบบดั้งเดิมที่นักศึกษาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ทั้งการเรียนและกิจกรรมภายในบริเวณรั้วมหาวิทยาลัย ข้อดีคือประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ที่นักศึกษาจะได้รับ เสมือนรูปแบบมหาวิทยาลัยในอดีต เพียงแต่สิ่งที่จะต้องคิดคือจะสามารถผสมผสานดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ากับมหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิมได้อย่างไร

2.แบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างการเรียนออนไลน์และเรียนแบบดั้งเดิม ความท้าทายคือการพิจารณาว่าวิชาหรือศาสตร์ไหนบ้างที่จะเป็นการเรียนออนไลน์หรือแบบดั้งเดิม รวมทั้งสัดส่วนระหว่างการเรียนออนไลน์กับแบบดั้งเดิม ซึ่งจริงๆ จากช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามหาวิทยาลัยอาจจะมีข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจได้บ้างแล้ว ข้อดีของมหาวิทยาลัยรูปแบบนี้คือต้นทุนจะต่ำลง แต่ผู้เรียนก็ยังสามารถได้รับประสบการณ์แบบดั้งเดิมอยู่บ้าง

3.แบบออนไลน์ทั้งหมด ความท้าทายคือการจัดหลักสูตรและการสอนให้มีคุณภาพ ข้อดีที่จะเกิดแก่ผู้เรียนคือการไม่ยึดติดกับกรอบและรูปแบบเดิมๆ แถมต้นทุนทางการศึกษาก็ต่ำลงด้วย