เหตุเกิดที่สภาฯ..

เหตุเกิดที่สภาฯ..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผลจากการประชุมสภาฯ ที่ผ่านมา มีคำพูดหนึ่งของนายกรัฐมนตรี

ที่น่าหยิบมาวิพากษ์ ได้แก่... สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล

สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล.. จึงเป็นสุภาษิตไทยๆ ที่ยังคงให้ความรู้สึกแบบสัจนิยมไว้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบัน ที่คนเราแสดงตนกันอย่างเปิดเผยตามใจชอบ บ่งบอกถึงอุปนิสัยเดิมๆ ดิบๆ ที่ไม่ค่อยมีการปกปิดกันแบบก่อนๆ ที่จะให้ละอาย หากทำอะไรไม่เหมาะควร พูดจาไม่ถูกต้อง ด้วยเกรงกลัวว่าจะถูกตำหนิติเตียนด่าว่าไปถึงโคตรเหง้าบรรพชนที่นอนอยู่ในหลุม ถูกขุดโคตรขึ้นมารับรู้ด้วย อย่างไม่รู้เรื่องอะไรเลย หรืออย่างเบาะๆ เบาๆ ก็พ่อแม่ญาติพี่น้องที่อยู่ทางบ้าน จะต้องมาแปดเปื้อนไปกับเราด้วย ที่ถูกสังคมหรือผู้อื่นตำหนิติเตียน ดังคำด่าลูกกระทบที่ว่า “...สงสัยพ่อแม่ไม่สั่งสอน !!

คำว่า พ่อแม่คงไม่ได้สั่งสอน เป็นคำด่าว่าที่รุนแรงมากเช่นเดียวกันในยุคก่อน ต่อมาเด็กสมัยใหม่เริ่มมักคุ้น ชินชา เลยหาเรื่องกล่าวคำเฉไฉที่กลายเป็นคำยอดฮิตในหมู่วัยรุ่นที่นิยมพูดโต้ตอบกลับไปว่า... 

พ่อแม่สั่งสอน .. แต่เราไม่จำเอง” 

มาถึงยุคไอที มีการประดิษฐ์คำกล่าวพูดกระทบกระทั่งด่าว่ากันแปลกๆ ออกจะไปคนละแนว.. ที่ละทิ้งคำคมที่อ้างอิงสุภาษิตไป.. นานๆ จึงจะได้ยินสักครั้ง.. มาครั้งนี้ เมื่อคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำมากล่าวโต้ตอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติว่า

“..สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล..

จึงให้เกิดหวนรำลึกไปถึงยุคสมัยกาพย์โคลงกลอนคำคม .. คำสุภาษิตไทยที่เฟื่องฟูแพร่หลาย .. ด้วยความรื่นเริงในทรัพย์สินทางปัญญาของบรรพชนชาวไทยที่แสดงอารยธรรมของความเป็นไทยศิวิไลซ์อันควรแก่การรักษาสืบทอดต่อไปด้วยความภาคภูมิใจ

กระทรวงศึกษาธิการจึงน่าใช้โอกาสนี้ .. ปลุกกระแสการใช้คำสุภาษิตอ้างอิงหลักธรรม .. มาน้อมนำจิตใจเด็กๆ เยาวชนไทยในวัยกำลังศึกษา ได้หันมาสนใจศึกษาคำสุภาษิตที่อ้างอิงธรรมอันทรงคุณค่าในความหมาย หากรู้จักนำมาพิจารณาจะก่อเกิดความรู้ความเข้าใจใน “ธรรมชีวิตา ที่ให้คุณค่ายิ่งต่อการดำเนินชีวิตในฐานะความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพพร้อม เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณให้เข้าสู่กระแสธรรม พัฒนาคุณธรรม ความรู้ ถึงคุณค่าความเป็นกัลยาณชน ..  อริยบุคคลได้.. เพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของแผ่นดิน

วันนี้ของการศึกษาในบ้านเราได้ก้าวไกลไปตามกระแสโลก เพื่อความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศในยุคโลกไร้พรมแดน ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงออกมามากมาย ดังที่กลายเป็นยุคสมัยไอทีครองโลก .. จนเกิดภาวะ Disruption ขึ้นในสังคม ที่จำต้องยอมรับอิทธิพลของโลกในยุคกระแสไอที ซึ่งเรื่องดังกล่าวมิได้ผิดปกติ แต่สิ่งที่แสดงความผิดเพี้ยน คือ การละทิ้งอารยธรรมอันทรงคุณค่าของสังคมอารยธรรมไทยไปอย่างน่าเสียดาย จนเห็นความผิดปกติของสังคมที่เริ่มเดินไปอย่างไม่สมประกอบ ดุจคนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน

การศึกษาแบบกะโผลกกะเผลกจึงเกิดขึ้นให้เห็นในวงการศึกษาไทยที่พยายามใส่ใจฝรั่ง .. จึงนำมาสู่การสูญเสียคุณค่าความสำนึกของทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตเป็นอนาคตใหม่... เพื่อการก้าวไกลของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศชาติ...

เราจึงเห็นภาวะการคิดอ่านแบบไม่เอาอ่าวเอาทะเล.. หมายถึง ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ยอมเข้าที่เข้าทาง .. ไม่ไปในทิศทางอันควร ที่เกิดขึ้นแพร่หลายในสังคมในยามนี้... ซึ่งคนในสังคมรุ่นใหม่กลับมองดูอย่างชื่นชมในการคิด พูด ทำ ที่เป็นไปอย่างกระเซอะกระเซิง .. ไม่กระฉับกระเฉงดูดีเอาอ่าวเอาทะเลแบบดังแต่ก่อน...

ภาวะกลับตาลปัตรจึงปรากฏขึ้นในสังคมปัจจุบัน ให้เห็นสองฟากฝั่งที่กลับด้านบนความเป็นหนึ่งเดียวกัน จนเกิดปรากฏการณ์คนในสังคมเดียวกันที่แบ่งเป็นหลายฝ่ายอย่างเด่นชัด .. ด้วยความรู้สึกนึกคิดที่ต่างกัน อันก่อเกิดมาจากผลพิษแห่งการศึกษาแบบกะโผลกกะเผลก .. เหมือนคนขาซ้ายขวาสั้นยาวไม่เท่ากัน ที่แสดงให้เห็นความจริงในเรื่องความรู้กับคุณธรรมที่แตกต่างกัน จนขาดการค้ำชูซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการพัฒนาความรู้ไปในโลกวัตถุนิยมเพียงส่วนเดียว จนลืมเหลียวแลการพัฒนาคุณธรรมในทางจิตใจ.. ที่สะท้อนออกมาในรูปลักษณ์ของคุณค่าความสำนึกของบุคคลที่มีความรู้ แต่ขาดมาตรฐานทางด้านคุณธรรม.. สังคมพิการทางใจจึงเกิดขึ้น ให้เป็นปัญหาคืนกลับเมื่อต้องอยู่ร่วมกันในสังคม... จึงมีคำกล่าวเป็นสำนวนไทย ๆ ว่า.. วันนี้ของสังคมกลับตาลปัตรไปเสียแล้ว... 

เจริญพร

[email protected]