การปรับตัวอยู่รอด องค์กรหลังวิกฤติ COVID-19

การปรับตัวอยู่รอด องค์กรหลังวิกฤติ COVID-19

8.5 ล้านล้านดอลลาร์ คือตัวเลขการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ที่ทั่วโลกต้องเผชิญในอีกสองปีข้างหน้านี้ ซึ่งทางสหประชาชาติ (UN) ได้ทำการวิเคราะห์ไว้ในรายงาน World Economic Situation and Prospects (WESP) ฉบับกลางปี 2020

การระบาดของ COVID-19 ก่อให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงในประเทศไทย ยิ่งกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชน ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คนไข้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้รายได้ลดลง 15-30% เนื่องจากคนกลัวการออกจากบ้าน และคนไข้ต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยได้

สำหรับแนวทางในการปรับตัวของธุรกิจโรงพยาบาล นั่นคือ การบริหารต้นทุนที่ดี การรู้จักใช้เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการดูแลห่วงใยชุมชน และในธุรกิจโรงพยาบาลที่เป็นสาขาก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน โดยนำแนวคิดการบริการจัดการต้นทุนร่วมกัน (Share Service) เข้ามาช่วย เพื่อทำให้ต้นทุนลดลง แต่ยังคงคุณภาพการบริการที่ดีไว้ เช่น การทำบัญชี การบริหารจัดการคลัง งานบุคคล งานไอที การตลาด ซึ่งโดยปกติต้นทุนเหล่านี้มีสัดส่วนมากกว่า 6% ของรายได้รวม หากสามารถบริหารจัดการต้นทุนส่วนนี้ได้ก็จะลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในยุคหลัง COVID-19 กุญแจสำคัญที่จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ นั่นคือ นวัตกรรม เช่นทุกวันนี้เราได้เห็นธุรกิจส่งอาหารถึงที่ (Delivery) ผ่านแอพพลิเคชัน ซึ่งธุรกิจโรงพยาบาลก็สามารถให้บริการเช่นนั้นได้ จึงเป็นที่มาของบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ทำให้คนไข้สามารถพบหมอได้โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล หลังจากนี้เราจะได้เห็นการใช้งาน AI และ Big Data มากขึ้นในวงการสาธารณสุขอย่างแน่นอน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการมากยิ่งขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญคือการดูแลสภาพจิตใจของชุมชน การทำกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility : CSR) จะช่วยประคับประคองจิตใจและทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลดีกับธุรกิจในระยะยาว เพราะเมื่อชุมชนเข้มแข็ง ผลด้านบวกก็จะสะท้อนกลับมายังธุรกิจของเราในไม่ช้า เช่น โครงการตู้ปันสุข การลดค่าบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ และการตรวจสุขภาพชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

คาดการณ์กันว่า หลังผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไปแล้ว ผลกระทบจะยังคงอยู่กับเรา โดย 3 ข้อที่กล่าวมานี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ 

พบกันคราวหน้าจะมาว่ากันต่อในประเด็นเกี่ยวกับ ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสินค้าหรือบริการในยุคหลัง COVID-19 ภายใต้หัวข้อ Co-Engineering ในธุรกิจ Healthcareหากท่านใดที่สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมีไอเดียใหม่ในการฝ่าวิกฤตนี้ สามารถส่ง E-mail เข้ามาพูดคุยกันได้นะครับ