ร่าง พรบ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ-สิ่งแวดล้อม: ปัญหาขยะพิษ

ร่าง พรบ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ-สิ่งแวดล้อม: ปัญหาขยะพิษ

เรื่องนี้เกิดตั้งแต่สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่ยุบไปแล้ว

โดย กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม รีบเร่งพิจารณาเพื่อให้ผ่าน สนช.วาระ 2 และ 3 ในขณะที่ทาง กมธ.สาธารณสุข(ขณะนั้น)เคยเชิญผู้ชี้แจง จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ว่ากฎหมายที่ผ่านสภาฯไปแล้วหลายฉบับมีผลเป็นอย่างไร และหนึ่งในกฎหมายที่ชี้แจงคือ พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์

เรื่อง พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์นั้น เน้นเรื่องสิ่งที่เป็นพิษจากสถานพยาบาล เมื่อถามเรื่องขยะพิษที่นอกเหนือจากโรงพยาบาลทำอย่างไร คำตอบดูเหมือนจะเป็นเรื่องขององค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อปท. จึงไม่มีคำตอบเพราะไม่ได้เชิญผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)มาชี้แจงด้วย

แต่ที่น่าสังเกตคือ กฎหมายในระบบสาธารณสุขบางครั้ง หาเจ้าภาพจริงๆ ยาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ กำหนดให้มีคณะกรรมการ 14 คน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานก็จริง แต่คณะกรรมการมีตั้งแต่อธิบดีของกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการขนส่งทางบก กรมการค้าต่างประเทศ กรมควบคุมโรค กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร กรมสนธิสัญญาและกฎหมายองค์การระหว่างประเทศคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำนักงานกฤษฎีกา และสภาความมั่นคงแห่งชาติ เรียกว่านับกระทรวงกรมไม่ถูกเลย ผู้เสนอกฎหมายพยายามให้ครอบจักรวาลทุกหน่วยงานที่อาจเกี่ยวข้องหรือเฉลี่ยงานกันรับผิดชอบ ขยะดูจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม

ยอมรับว่าไม่ทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มากนัก แต่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องของขยะและการกำจัดขยะอย่างมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะขยะพิษซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการประกอบอาชีพและเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ปัญหาก็คือบ้านเรานี้ขยะล้นเมืองมานานแล้ว จนไม่มีบ่อให้ถม เตาเผาขยะก็สร้างไม่ได้มาก โรงงานกำจัดขยะเกิดที่ไหนชาวบ้านร้องคัดค้านที่นั่น และไม่ใช่แค่เรื่องขยะมูลฝอย ขยะเปียกขยะแห้ง แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือขยะอิเล็่กทรอนิกส์ ขยะพลาสติก และที่อันตรายมากๆ คือขยะพิษหรือขยะติดเชื้อ

ปัญหาสำคัญของขยะติดเชื้อคือการเก็บและการขนขยะติดเชื้อ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับจากผู้ประกอบการมีอาชีพเก็บและขนขยะติดเชื้อมีหลายเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าที่คิด อาทิ

1.ใบอนุญาต ต้องขอจาก อปท. เกือบทุกที่ บางพื้นที่มีคลินิกไม่กี่ที่ เสียใบอนุญาต 5,000-10,000 บาทผู้เก็บขนบางรายไม่คุ้มปล่อยให้คลินิกไปจัดการเอง ปัญหาที่เกิดคือการทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

2.สถานพยาบาล ประเภทคลินิกยังไม่เข้าระบบจัดการขยะติดเชื้อ100 % ไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานอะไรมากนักทำให้ขยะติดเชื้อมีปะปนไปกับขยะทั่วไป โดยเฉพาะคลินิกที่มีปริมาณขยะน้อยๆ หรือคลินิกที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ต้องการเสียค่าขยะติดเชื้อหรือคุณหมอหิ้วขยะไปฝากไว้กับ รพ.ที่ตนทำงานอยู่(มีหลายที่)​

3.โรงพยาบาลไม่มีตัวเลือกมากนักกับบริษัทเก็บขนขยะติดเชื้อ เพราะมีน้อยรายจำเป็นต้องใช้เจ้าเดิม เช่น อยู่ภาคกลางวิ่งมาภาคเหนือ ภาคใต้ อีสาน ทั่วประเทศทำให้การเก็บขนขยะไปไม่หมด มาไม่ทันรอบบ้าง รพ.ต้นทางเก็บขยะได้ไม่หมด รพ.ปลายทางรอรอบต่อไป เกิดขยะสะสม เหตุผล ที่มีบริษัท เก็บขนน้อยเพราะเตาเผาไม่ค่อยจะเปิดรับเจ้าใหม่ๆเพราะโดนบริษัท เก็บขน รายใหญ่ล้อคไว้ ถ้ารับเจ้าใหม่จะไม่ส่งขยะให้เตาเผา หรือบริษัทเก็บขนรายเล็กๆในพื้นที่จะขยายตลาดไม่ได้เนื่องจากใช้เตาเผาเดียวกัน สู้ราคาค่าเก็บขนกับรายใหญ่ไม่ได้

4.บริษัทเก็บขน แต่ละราย มีการขนย้ายขยะจากต้นทางไปยังโรงกำจัดเป็นระยะทางไกล เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ต้นทุนสูงเพราะโรงกำจัดที่ได้มาตรฐานมีน้อยราย ไม่ครอบคลุมพื้นที่ เตาใหม่เกิดยากชาวบ้านต่อต้านประชาพิจารณ์ไม่ผ่าน

5.ราคากลางค่าเก็บขนและกำจัด อยู่ที่ 20-25 บาท ทุกวันนี้จัดเก็บเริ่มต้นที่ 9 บาท ก็เลยมีข้อสงสัยกันว่า เก็บราคานี้ ขยะไปเผาที่ไหน เผาจริงหรือเปล่าเอาขยะเข้าระบบเตาเผาในราคาถูกหรือเปล่า เช่น รถเก็บขนอยู่ภาคกลางไปเก็บภาคใต้นครศรีธรรมราชในราคา 12 บาทแล้วนำขยะขึ้นมาเผาที่บางปะอินกับนครสวรรค์ จะเอากำไรที่ไหน เดิมคนพื้นที่เก็บอยู่ที่18 บาทมาเผาที่บางปะอินกับนครสวรรค์เหมือนกันแทบจะไม่เหลือกำไร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานแข่งขันเรื่องราคากันอย่างดุเดือดเคยได้ยินคำว่านำขยะติดเชื้อเข้ารันระบบการเผาหรือไม่ เพราะตอนนี้กำลังตรวจสอบกันเองอยู่

​6.ผู้ประกอบการเตาเผามีการไซโคกันในเรื่องของมาตรฐานของเตา เพราะไม่มีหน่วยงานรัฐชี้ชัดว่าใครได้มาตรฐาน

7.บริษัท เก็บ ขน ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีหน่วยงานของรัฐรับรองความเป็นมาตรฐาน นอกจาก บริษัทฯต้องไปจัดทำ ISOกันเอง (เริ่มทำกันบ้างแล้ว)​เพราะมีกำหนดในTOR

8.กรมอนามัยกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานการจัดการขยะติดเชื้อมากมายหลายข้อ แต่ขาดหน่วยงานรัฐรับรอง ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล

9.กรมอนามัยมีนโยบายจัดการขยะติดเชื้อแบบรวมศูนย์ ไม่ดูความเป็นจริง เตาเผาขยะ มีทั้งหมดกี่เตาใช้งานได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ปัจจุบันมีเตาเอกชน คือเตาเผาจังหวัดนครสวรรค์ ที่มีปริมาณขยะเข้าเผามากที่สุด เตาบางปะอิน เตาสมุทรปราการ นอกนั้น อีก7-8 แห่งเป็นของ อปท. นนทบุรี อุดร ยะลา น่านระยอง

สรุปปัญหาทั้งหมดคือ ราคาค่าเก็บ ขน และกำจัดขยะตัดราคากันเองต่ำสุดปัจจุบัน 8-9 บาท เสี่ยงต่อการขาดทุนจำนวนเตาเผาที่รองรับขยะติดเชื้อมีน้อยไม่ครอบคลุมพื้นที่แต่กรมอนามัยอยากจะให้มีการจัดการแบบศูนย์รวมอาจจะเป็นได้ยากเพราะหาเจ้าภาพไม่ได้จำนวนเตาเผาไม่ครอบคลุมพื้นที่ ระยะทางการเก็บ ขนจากแหล่งกำเนิดขยะไปยังแหล่งกำจัด มีระยะทางไกลเสี่ยงต่อการเกิดข้อผิดพลาดหลายๆอย่างระหว่างทาง ถึงจะมีใบกำกับการขนส่งที่กรมอนามัยกำหนดให้จัดทำ บริษัทเก็บขน มีน้อยราย โรงพยาบาลมีทางเลือกไม่มาก แม้จะพบปัญหาการเก็บขนไม่ได้มาตรฐาน โรงพยาบาลจะเน้นราคาที่เสนอต่ำกว่าอันดับแรก มาตรฐานด้านการบริการมาทีหลัง และกรมอนามัยวางมาตรฐานการจัดการขยะติดเชื้อ มีกฎกระทรวงแต่ไม่เคย ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล กับบริษัทเก็บขน