อุตฯของบ1.4หมื่นล้าน เดินหน้าฟื้นฟูประเทศ

อุตฯของบ1.4หมื่นล้าน  เดินหน้าฟื้นฟูประเทศ

หลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย ภารกิจที่สำคัญของรัฐบาลก็คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่อยยับจากการปิดกิจการตามมาตรการของรัฐบาล

หลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย ภารกิจที่สำคัญของรัฐบาลก็คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่อยยับจากการปิดกิจการตามมาตรการของรัฐบาล เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงจากเศรษฐกิจประเทศไทยและทั่วทั้งโลกถดถอย พร้อมทั้งการปรับตัวสู่ภาวะปกติใหม่ (new normal) รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจอีกระลอกใหญ่ที่มาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐรอบ 2 ที่มั่นใจว่าจะรุนแรงกว่ารอบแรกอย่างแน่นอน

โดย ภาระกิจหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การเข้าไปพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญในการสร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรทั่วประเทศ ที่ไล่ตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงเอสเอ็มอีตลอดจนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชมที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งหากเครื่องจักรตัวนี้เดินเครื่องได้ ก็จะพยุงเศรษฐกิจของชาติได้อย่างแน่นอน

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอของบประมาณจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท จากโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท โดยมีแผนที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนครอบคลุมใน 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มผู้ประกอบการ บุคลากร 2.ประชาชน อาชีพอิสระ 3.ชุมชน วิสาหกิจชุมชน และ4.เกษตรกร ธุรกิจเกษตร โดยคาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 14,150 กิจการ และพัฒนาชุมชน 500 หมู่บ้าน ให้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เกือบ 1 แสนล้านบาท และยังช่วยให้ประชาชนกว่า 1.2 ล้านคน ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาค ของมหาวิทยาลัยทั้ง 16 แห่งทั่วประเทศ ในการพัฒนาด้านการเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ต่อหัวของประชาชน พร้อมกับการพัฒนาโครงการสูบน้ำจากขุมเหมืองด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้แหล่งน้ำดิบจำนวน 20 แห่ง เพิ่มปริมาณน้ำได้ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 หมื่นไร่ ประชาชนและเกษตรกรรอบขุมเหมืองได้ประโยชน์ 4 พันครัวเรือน

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่โครงการที่ช่วยผู้ประกอบการโดยตรง ยังมีโครงการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน และช่วยผู้ประกอบการในการลงทุนด้านการมาตรฐานเพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการผลิตสินด้านวัตกรรมใหม่

ในส่วนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปช่วยเกษตรกรให้ใช้เครื่องจักรการเกษตร และพัฒนาไปสู่เกษตรแปลงใหญ่ให้ได้ 1 แสนไร่ และแจกพันธุ์อ้อยคุณภาพสูงกว่า 2 หมื่นตัน

โดยโครงการต่างๆที่กล่าวมาขั้นต้น ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ผลิตเอสเอ็มอี การสร้างบุคลากร การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้รับกับกระแสโลกยุคหลังโควิด-19 ไปจนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ส่งผลโดยตรงกับเกษตรกรที่เป็นฐานรากของประเทศ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตา คือ แผนการดำเนินการ ที่จะต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนในทุกโครงการ ให้มีการติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด มีความโปร่งใสในการคัดเลือกภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพเข้าร่วมโครงการ ซึ่งหากทำได้ตามแผนที่วางไว้ ก็เชื่อว่าไม่เพียงแต่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับการผลิตไทยให้แข่งขันได้ในอนาคต