The Black Swan Events… ยากจะเห็น แต่จำเป็นต้องวางแผน

The Black Swan Events…  ยากจะเห็น แต่จำเป็นต้องวางแผน

เราคงเคยได้ยินทฤษฎี Black Swan ที่เกิดจากความเชื่อของคนในศตวรรษที่ 16 ว่าไม่มีทางที่หงส์จะมีสีดำ เพราะปกติเราจะเห็นแต่หงส์สีขาว

 จนกระทั่งปี 1697 มีนักสำรวจชาวดัตช์ได้ไปเจอหงส์ดำ (Black Swan) ในทวีปออสเตรเลีย เหตุการณ์นั้นได้สร้างความตกตะลึงและทำลายความเชื่อเดิมไปจนสิ้น

Black Swan ถูกนำมาเปรียบกับเหตุการณ์ที่ผิดปกติอย่างมาก มีผลกระทบรุนแรงแบบคาดไม่ถึงและหาสาเหตุมาอธิบายไม่ได้ในช่วงแรก เช่น เหตุการณ์ 911 หรือวิกฤติ Black Monday 1987 ที่ตลาดหุ้นโลกร่วงลงถึง 22.6% ภายในวันเดียว เป็นเหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอนมากและไม่สามารถใช้ประสบการณ์ในอดีตมาแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดได้

159110352037

มีข้อถกเถียงว่าวิกฤติ COVID-19 เป็น Black Swan Events หรือไม่ Nassim Taleb เจ้าของทฤษฎีชาวสวีเดน ยืนยันว่าไม่ใช่ Black Swan เพราะเรารู้มาก่อนหน้านั้นแล้วว่ามีไวรัสตัวนี้ แต่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่มีใครใส่ใจจะใช้งบประมาณในการวิจัย หาวัคซีนมาป้องกันไวรัส

แต่ด้วยเหตุที่ผลกระทบจาก COVID-19 รุนแรงมากและมีผลกับวิถีชีวิตของมนุษย์แบบที่ไม่เคยพบมาก่อน จึงถือว่าเหตุการณ์นี้เป็น outlier ผิดปกติ และเกือบเหมือนมหันตภัย เหมือนลูกระเบิดลูกใหญ่ ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักระบาดวิทยาเชื่อว่าไทยจะมีการระบาดระลอกที่ 2 ตามมาหลังจากมีการปลดล็อกดาวน์ ทยอยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ไวรัสก็จะกลับมาระบาดอีก ดังนั้นลูกระเบิดลูกถัดไปจะกลับมาได้อีก จนกว่าจะมีการคิดค้นไวรัสมาป้องกันโรค ซึ่งต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 18 เดือนข้างหน้า และถึงเวลานั้นประชากรสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสในตนเองได้เหมือนการเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ A หรือ B

ผู้มีประสบการณ์หลายท่านกล่าวว่าภัยจาก COVID-19 รุนแรงมากกว่าวิกฤติครั้งไหนๆ ในอดีตที่ผ่านมา เพราะมีความไม่แน่นอนมากมาย จนเกิดเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ New Normal

คำถามสำคัญที่เราต้องถามตัวเองว่า วางแผนชีวิตรับวิกฤติในวันข้างหน้าไว้ขนาดไหน ผู้บริหารองค์กรต้องถามตัวเองว่าองค์กรของเรามีความสามารถในการวางแผนรองรับความเสี่ยงแบบรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นขนาดไหน

เราคาดการณ์สถานการณ์ความเสี่ยงในแต่ละรูปแบบอย่างไร เช่น สถานการณ์ที่ระบบเศรษฐกิจจะเป็น V Shape กลับมาเหมือนเดิมได้เร็ว หรือกรณีถ้าวิกฤติลากยาวไปถึงไตรมาส 3 หรือกรณีแย่ที่สุด เกิดการระบาดระลอก 2 ตามมาซึ่งน่าจะรุนแรงขึ้น ผู้บริหารมีกลยุทธ์แผนงานอย่างไร และวางแผนปฏิบัติการแบบไหนในแต่ละสถานการณ์

  • มีสัญญาณอะไรที่เตือนบอกเราก่อนเกิดได้ เป็น early signals
  • เราจะแก้ไขฟื้นฟูหารายได้กลับมาได้อย่างไร
  • ผลกระทบทางการเงินมีมูลค่าเท่าไร
  • โอกาสในการเกิดมีกี่เปอร์เซ็นต์

ผู้บริหารมักเคยชินกับการวางแผนงานระยะยาว 3-5 ปี แต่ในภาวะวิกฤติเราไม่คุ้นเคยกับการวางแผนงานระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติในอีก 30-90-180 วันข้างหน้า เพื่อความอยู่รอดและเตรียมองค์กรให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ร้ายๆ

ผู้บริหารจำเป็นต้องวางแผนอนาคตในระยะสั้นสำหรับวิกฤติอันใกล้นี้ ตั้งสมมติฐานในด้านต่างๆ ทำความเข้าใจกับทีมงานในแนวทางปฏิบัติ คุยกันและเตรียมแผนงานในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด หายุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กร และร่วมกันลงมือปฏิบัติ

พนักงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะ young generation ที่ยังไม่เคยเจอวิกฤติในอดีตที่ผ่านมา ดูจะไม่ตื่นตระหนกเรื่องอนาคตมากเท่าไรนัก อาจมีความกังวลเรื่องการตกงานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำอยู่บ้าง การอยู่รอดในองค์กรในอนาคตคือการปรับเปลี่ยนตนเอง พัฒนาทักษะ reskill, upskill และมีความยืดหยุ่นในการทำงานในหลายๆ หน้าที่

TDRI ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการ work from home ผลการศึกษาพบว่าการทำงานที่บ้านมีผลดีทั้งต่อองค์กร พนักงาน ทั้งด้านค่าใช้จ่ายโดยตรงที่ลดลงเวลาที่ประหยัดได้จากการเดินทางและประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น โดยประโยชน์ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดตกอยู่กับพนักงานในรูปของเวลาในการเดินทางที่ประหยัดได้ซึ่งทำให้พนักงานมีเวลาทำกิจกรรมที่ต้องการเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

SCB ได้ทำแบบสอบถามพนักงานถึงการทำงานจากที่ไหนก็ได้ “work from anywhere” 70-80% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับการทำงานที่ไหนก็ได้ ว่ามีประสิทธิภาพตามความคาดหวังของหัวหน้า และชอบรูปแบบการทำงาน work from anywhere เรื่องที่สำคัญมากสำหรับพนักงานคือสามารถติดต่อหรือขอคำแนะนำจากหัวหน้างานได้ตลอดเวลาด้วยคำถามทำนองเดียวกันใช้สอบถามบุคคลภายนอก เราพบว่ามากกว่า 80% ของผู้ตอบคำถามชอบ work from home มากกว่าการเข้า office

Work from home ทำให้พนักงานรู้สึกว่าสามารถมี work life balance และมีความสุขขึ้น แต่เรื่องท้าทายของพนักงานคือจะจัดสรรตารางในแต่ละวันอย่างไร ที่แบ่งเวลางานออกจากเวลาส่วนตัวและครอบครัว เพื่อทำให้ work from anywhere เกิดขึ้นได้ด้วยความเชื่อใจและมีประสิทธิภาพ

ผู้บริหารต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงาน ที่ให้อำนาจในการตัดสินใจ มีอุปกรณ์ เครื่องมือเทคโนโลยีมาลดขั้นตอนการทำงาน มีระบบควบคุมให้เกิดความมั่นใจ และไว้วางใจในการมอบหมายงาน

COVID-19 ทำให้เราสามารถเปลี่ยนวิถีการทำงานให้ยืดหยุ่นได้อย่างง่ายดาย และมีการปรับตัวเรียนรู้เรื่อง Digital ได้รวดเร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

การระบาดของ COVID-19 เพิ่งเริ่มมา 4-5 เดือน หนทางต่อสู้ยังอีกยาวไกล พนักงานต้องเตรียมตัวเตรียมใจ ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมทักษะ และพร้อมจะร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปพร้อมกับองค์กร