จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไรเมื่อต้องย้ายงาน

จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไรเมื่อต้องย้ายงาน

ช่วงนี้ผมมีโอกาสได้พบเจอคนหลายๆคน ที่มีการโยกย้ายงาน หรือ มีเหตุที่ต้องออกจากงาน คำถามที่ผมพบเจอบ่อยที่สุดเรื่องหนึ่งคือคำถามว่าทำอย่างไรกับ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ที่มีอยู่ดี ควรนำเงินออก? ย้ายกองไป RMF? หรือปล่อยทิ้งไว้ก่อนดี? วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาบอกแนวทางเพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการตัดสินใจให้กับทุกท่านได้อ่านกันครับ

“ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนครับว่า ทางเลือกสำหรับการจัดการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อเราต้องย้ายงานนั้นมีทางเลือกอะไรให้เราบ้าง

1. คือการนำเงินออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลย วิธีนี้ข้อดีคือ เราได้เงินก้อนทันที แต่เงินก้อนนั่นต้องนำกลับมาคำนวณเป็นรายได้และเสียภาษี

2. การย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานเดิม ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ สำหรับวิธีนี้นั้น ข้อดีก็คือ เราจะยังไม่ต้องเสียภาษีทันที และสามารถสะสมไปเรื่อยๆได้ หาก ที่ทำงานที่ย้ายไป ไม่มีนโยบายการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงาน ก็จะทำให้ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้

3. จากข้อ 2 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจากบางที่ทำงาน ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ย้ายไปลงได้นั้น ทางรัฐจึงเปิดให้ สามารถย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยัง กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แทนได้ โดยหากย้ายไปอยู่ใน RMF แล้วนั้น จะสามารถขายออกมาได้เมื่อ อายุเกิน 55 ปีและนับอายุการลงทุนในกองทุนตั้งแต่ยังเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะต้องไม่ต่ำกว่า 5 ปี

นี่คือ 3 วิธีที่เราสามารถเลือกได้ ซึ่งต้องบอกว่าไม่มีวิธีไหน ดีที่สุดครับ สำหรับวิธีที่จะใช้ในการตัดสินใจนั้น ผมขออนุญาตแนะนำให้ลอง คำนวณ ภาษีที่ต้องจ่าย ในวิธีการข้อที่ 1 เทียบกับเงินที่ได้ออกมา กับ ระยะเวลาที่จะต้องเก็บเงินไว้ในกองทุน ในข้อ 2,3 นั้นว่า ทางเลือกไหนที่เรารู้สึกพึงพอใจมากที่สุด

ขั้นตอนแรกให้เรามาดูกันก่อนครับว่า เราอยู่ในกองทุนนั่นครบ 5 ปีแล้วหรือยัง หากยังไม่ครบ การนำออกมาจะต้องนำมาคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาแบบปกติ ดังนั้น หากต้องการนำเงินออกเลย อย่าลืมคำนวณและวางแผนภาษีให้ดีนะครับ

แต่หากเราทราบว่าที่ทำงานใหม่ของเรามีการจดจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ เราสามารถติดต่อไปที่กองทุนเดิมของเราเพื่อขอคงเงินลงทุนไว้ก่อน เพื่อย้ายไปที่ทำงานใหม่เมื่อเราผ่านโปรฯแล้วก็ได้

หรือทางเลือกการย้ายไป RMF นั้นก็มีข้อดีที่ว่า กองทุน RMF จะมีความหลากหลายของการลงทุนที่มากกว่ากองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ทำให้มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าครับ แต่อย่าลืมสังเกตด้วยว่า กองทุนปลายทางจะต้องเป็นกองทุนที่มีคำระบุด้านท้ายว่า “สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งก็หมายความว่า ไม่ใช่ทุกกองทุน RMF ที่จะสามารถย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปได้ และ RMF ที่ย้ายไปนั้น จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีในปีนั้นได้นะครับ

แต่เรามีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป (หมายถึงทำที่เดิมติดต่อกันตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป) นอกจากการคงเงินไว้เพื่อรอย้ายไปที่ทำงานใหม่ หรือย้ายไปลงทุน RMF ตามที่ได้กล่าวไว้ด้านบนแล้วนั่น สิ่งที่หลายคนไม่ค่อยทราบและมักจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดนั่นก็คือ เงินที่ได้จากการนำเงินออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะเสียภาษี โดยใช้ใบแนบในการยื่นภาษี

เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอลองยกตัวอย่าง ของ นาย เอ อายุงาน 5 ปี มีรายได้ทั้งปี อยู่ที่ 1,000,000 บาท และมีเงินอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อหักส่วนที่เป็นเงินสะสมของ นาย เอ แล้วจะมียอดอยู่ที่ 1,000,000 บาท

หาก นาย เอ นำเงินออกมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยไม่ยื่นภาษีโดยการใช้ใบแนบ นายเอจะเสียภาษีอยู่ที่ 325,000 บาท (โดยคิดจากรายได้ที่ 1,000,000 จากเงินเดือน + 1,000,000 จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ = 2,000,000 บาท) แต่ถ้าหาก นาย เอ ยื่นภาษีโดยใช้ใบแนบ นายเอจะเสียภาษีเพียง 83,000 (จาก ภงด.90/91)+ 33,250 (จากใบแนบ) = 116,250 บาท เท่านั้น หรือก็คือ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการยื่นภาษี นาย เอ ก็จะ สามารถนำเงินล้านออกมาใช้ โดยเสียภาษีเพียงแค่ 33,250 บาท หรือประมาณ 3.3% ของเงิน 1,000,000 บาทเท่านั้น โดยเงินที่ได้ออกมานี้นั้น นาย เอ อาจจะเลือกนำไปลงทุนต่อใน SSF หรือ RMF เพื่อลดหย่อนภาษี จากรายได้เงินเดือน อีกต่อหนึ่งก็ได้ (ผู้อ่านสามารถศึกษาเรื่องใบแนบเพิ่มเติมได้ที่ website ของกรมสรรพากร หรือขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคลก็ได้ครับ)

ดังนั้น ผมคงไม่สามารถระบุได้ว่าวิธีไหนคือวิธีที่ดีที่สุด เพราะเป้าหมายชีวิตของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ผมหวังว่าสิ่งที่ผมได้อธิบายไปนั่น จะเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจให้กับทุกท่านได้ครับ”