ก้าวข้ามทุกข้อจำกัด พร้อมรับทุกความท้าทาย

ก้าวข้ามทุกข้อจำกัด พร้อมรับทุกความท้าทาย

หลังนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุขบรรลุผล สิ่งที่ต้องเคลื่อนไหวต่อ (move on) ก็คือความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของผู้คน

โดยเฉพาะภาคธุรกิจและภาคแรงงาน ซึ่งได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

ข่าวดีที่รัฐบาลเพิ่งประกาศนโยบายผ่อนปรน ระยะที่ 2 สำหรับศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ ภายใต้การควบคุมในเรื่องสุขอนามัย การรักษาระยะห่าง และการจำกัดความหนาแน่นต่อพื้นที่ โดยในการเปิดดำเนินการช่วงแรกจะไม่สามารถทำได้เป็นปกติเหมือนก่อนเกิด Covid-19 ดังนั้นการระดมสมอง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์ ตรงใจลูกค้า สอดรับกับแนวโน้มตลาด และบริบทการเปลี่ยนแปลงไปของโลกยุคใหม่ กลายเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ทุกองค์กรต้องทำงานเชิงรุก เตรียมให้พร้อมในทุกสรรพสิ่ง

และ 2 เรื่องที่องค์กรจะต้องฉกฉวยโอกาสในช่วงนี้ ก็คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักและสำคัญของทุกธุรกิจนับจากวันนี้ไป เหมือนมาตรการเปิดร้าน/เปิดห้างอีกครั้ง ที่เราจะเห็นว่าแต่ละร้านค้า แต่ละพื้นที่ ต่างสร้างสรรค์และจัดการเพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับการกลับมาอีกครั้งของลูกค้า นอกจากให้ถูกต้องตามกฎกติกาที่รัฐผ่อนปรนแล้ว ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเห็นว่าปลอดภัยด้วย

คงไม่มีใครปฏิเสธบทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีต่อโลกใบนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ไม่มีใครหรือธุรกิจใดจะฝืน หรือปฏิเสธผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไปได้ เทคโนโลยีในที่นี้ผมขอแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ เทคโนโลยีเฉพาะด้าน (Specific Technology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเฉพาะงาน เฉพาะธุรกิจ เฉพาะอุตสาหกรรม และเฉพาะความเป็นอยู่ของผู้คนบางคนเท่านั้น อาทิ เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยียานยนต์ เทคโนโลยีพลังงาน เทคโนโลยีอาหาร

และเทคโนโลยีทั่วไป (Common Technology) คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม เป็นเทคโนโลยีซึ่งเข้าไปแทรกหรือแฝงอยู่ในทุกกระบวนการ ในที่นี้ผมหมายถึง เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital technology) ซึ่งปฏิวัติรูปแบบและการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน Smart phone คือตัวอย่างหนึ่งในนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตที่รวบรวมเอาความสามารถด้านดิจิทัลเข้ามาไว้ในตัวมัน แทบไม่น่าเชื่อว่าสมาร์ทโฟนเครื่องเล็กๆขนาดเท่าฝ่ามือที่พวกเราพกพากันทุกคน สามารถจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยชั้นเลิศ และทำให้ชีวิตของพวกเราทุกคน productive ได้รับความสะดวกสบาย สร้างผลผลิตได้มากมายด้วยเวลาอันจำกัดในแต่ละวัน

ถ้าสำรวจตรวจสอบตัวเอง จะพบว่าในเวลา 3 เดือน เราได้เปลี่ยนชุดความคิด mindset หรือทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยีดิจิทัล ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่ยังปฏิเสธถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้มัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการใช้ชีวิต การเรียนการสอน การทำงาน การประกอบกิจการ การทำธุรกิจ แต่ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่า อยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ตราบใดที่เรายังมีสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ เราก็สามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้ จากความกลัวเปลี่ยนเป็นความกล้า หลังจากนี้ทุกองค์กรจะลุกขึ้นมาปัดฝุ่นแผนงานโครงการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น

คำว่า Digital Organization จะกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญขององค์กร เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า ผู้ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ไม่ใช่ CEO และไม่ใช่ CIO แต่หากเป็น COVID ต่างหาก

ลำดับถัดไปคือ ปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในให้เป็น Digital process เริ่มจากการยอมรับและเลือกนำมาใช้พร้อมๆกับเรียนรู้ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง ปรับใช้เทคโนโลยีนั้นให้เหมาะสมกับกระบวนการของเรา และสุดท้ายเมื่อเราเข้าใจในมันมากพอ เราก็จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีและมีคุณค่ามากขึ้นได้

ในส่วนของพนักงาน ไม่มีอะไรดีไปกว่าการฝึกฝนจนชำนาญ ดิจิทัลไม่ต่างจากการว่ายน้ำ ต่อให้เรียนรู้ทฤษฎี หลักการมากมายเพียงใด ถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ย่อมไม่เข้าใจ และเมื่อใช้มันซ้ำๆบ่อยครั้งก็จะเกิดความชำนาญกลายเป็นทักษะใหม่ (Digital skill) ของเราในที่สุด

การทำวนซ้ำๆจนส่วนใหญ่ในองค์กรเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จะเกิด Digital culture ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพราะวัฒนธรรมเกิดจากการกระทำของคนส่วนใหญ่ ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้โดยการพูด การสั่ง หรือการเสก แต่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องตรงกัน ยึดถือ ยึดมั่น และปฏิบัติอย่างจริงจัง

คำว่า new normal ที่ใครหลายคนพูดถึงว่าพฤติกรรมของผู้คนจะเปลี่ยนไป นักวิชาการบางคนยังคิดว่าเมื่อสภาพแวดล้อมและสถานการณ์กลับคืนสู่สภาพปกติและมีวัคซีนเมื่อใด ก็อาจจะกลับมาใช้ชีวิตแบบสบายๆไร้แรงกดดันแบบไม่ระมัดระวังอีก ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นไปได้ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งจะไม่เหมือนเดิมแน่ๆก็คือบริบทของการทำงานและการทำธุรกิจ เพราะในช่วงที่ต้อง work from home มีองค์กรจำนวนไม่น้อยเริ่มติดใจ พบว่าหลายงานหรือหลายกระบวนการไม่จำเป็นต้องใช้คนมากมาย ไม่จำเป็นต้องอยู่สำนักงานก็ได้ และที่สำคัญสามารถลดเวลา ลดการเดินทาง และลดค่าใช้จ่าย

บางบริษัทเคยเช่าพื้นที่ในอาคารสำนักงานถึง 3 ชั้น พบว่าอาจจะเช่าเหลือแค่ 2 ชั้นก็พอ เพราะหลายตำแหน่งทำงานที่ไหนก็ได้ เมื่อพนักงานบางส่วนสามารถหมุนเวียนเข้าออก พื้นที่ว่างก็เหลือเกินความจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้นพนักงานทุกคนเหมือนผ่านสมรภูมิรบที่ใช้อาวุธไฮเทคมาแล้ว ทำให้การปฏิวัติรูปแบบการทำงานใหม่ง่ายขึ้น นี่เป็นสิ่งยืนยันอีกครั้งว่า COVID-19 คือ Change agent หรือตัวเร่ง Catalyst ตัวจริงยิ่งกว่า CEO และ CIO เสียอีก