เมื่อราคาฟิวเจอร์สติดลบ

เมื่อราคาฟิวเจอร์สติดลบ

โดยปกติในการซื้อขายสินค้านั้น ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขาย และคงไม่มีใครคาดว่าจะมีเหตุการณ์ที่ราคาซื้อขายเป็นราคาติดลบ

พูดง่ายๆ คือ ผู้ขายต้องจ่ายเงินให้ผู้ซื้อด้วย แต่เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า West Texas Intermediate (WTI) ในตลาด NYMEX (The New York Mercantile Exchange) ที่เป็นตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการซื้อขายกันที่ราคาติดลบ (negative pricing) โดยไปติดลบที่ระดับสูงสุดถึง -40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ขายเสนอให้ผู้ซื้อรับน้ำมันจากตนไป และยังแถมเงินให้ผู้ซื้อเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ร่วมอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง

สาเหตุที่ราคาน้ำมันล่วงหน้าติดลบนี้ เป็นผลพวงจากสงครามราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นและการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กล่าวคือ ในช่วงต้นปีนี้ประเทศรัสเซียและซาอุดีอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดและกดดันให้บริษัทขุดเจาะน้ำมันของประเทศคู่แข่งปิดตัวลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงจาก 62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในจังหวะคาบเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ มีการประกาศ Lockdown เพื่อควบคุมโรค เป็นผลให้ธุรกิจสายการบิน การขนส่ง การเดินทาง หรือแม้แต่การผลิตในโรงงานหลายแห่งต้องหยุดชะงักหรือปิดตัวลง และส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานและน้ำมันลดลงตามไปด้วย ขณะที่ในด้าน Supply บริษัทผู้ผลิตน้ำมันก็ไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้ทันกับความต้องการซื้อที่ลดลง ด้วยอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสภาพคล่อง และเกิดความเสียหายต่อท่อการผลิตได้ ทำให้บริษัทน้ำมันยังคงต้องผลิตน้ำมันต่อไปจนเกิดเป็นปัญหาน้ำมันล้นตลาดจนไม่มีที่เก็บ

ด้วยความที่น้ำมันดิบเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของภาคการผลิตและภาคขนส่ง การซื้อขายน้ำมันดิบผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดฟิวเจอร์สที่เป็นการตกลงราคากันตั้งแต่วันแรกที่ทำสัญญา แต่จะส่งมอบสินค้าและชำระราคาจริงในวันที่สัญญาครบกำหนดอายุ จึงเป็นหนึ่งช่องทางการซื้อขายน้ำมันดิบที่สำคัญ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ช่วยให้ผู้ขายสามารถรู้ราคาล่วงหน้า ทำให้วางแผนการผลิตได้ ขณะที่ผู้ซื้อก็มั่นใจได้ว่าจะมีน้ำมันมาป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับน้ำมันดิบ WTI ที่ซื้อขายในตลาด NYMEX ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ต้องมีการส่งมอบน้ำมันจริงเมื่อสัญญาครบกำหนดอายุ ณ เมือง Cushing, Oklahoma โดยข้อมูลจาก S&P Global Platts พบว่า ณ วันที่ 17 เม.ย. แทงค์เก็บน้ำมันที่เมือง Cushing เก็บน้ำมันไปแล้วกว่า 75% ของปริมาณสูงสุดที่เก็บได้ และคาดว่าจะเก็บจนเต็ม Capacity ในช่วงกลางเดือนพ.ค. ดังนั้น ผู้ซื้อสัญญา WTI ที่ต้องจะต้องรับมอบน้ำมันจริงในเดือนพ.ค.จึงไม่มีที่จัดเก็บ และการย้ายไปเก็บที่อื่นก็มีต้นทุนค่าขนย้ายสูงมาก ในวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น 1 วันก่อนที่สัญญา WTI Futures สัญญาที่มีการส่งมอบเดือนพ.ค.จะครบอายุสัญญา ผู้ที่มีสถานะซื้ออยู่จึงยอมขายสัญญาฟิวเจอร์สในราคาติดลบเพื่อปิดสถานะของสัญญาเพื่อจะได้ไม่ต้องรับน้ำมันมาเก็บไว้ เนื่องจากขาดทุนจากราคาติดลบยังถูกกว่าต้นทุนค่าจัดเก็บและค่าขนย้ายที่จะเกิดขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดกับ WTI ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานที่ส่งมอบคือ Cushing เป็นเมืองที่ไม่ติดทะเล ทำให้ไม่สามารถเพิ่มแทงก์เก็บน้ำมันได้โดยง่าย ต่างจากเมืองติดทะเลที่สามารถเพิ่มปริมาณการจัดเก็บโดยการลอยแทงค์น้ำมันในทะเลได้ นอกจากนี้ สัญญา WTI ยังใช้การส่งมอบสินค้าจริงเมื่อสัญญาครบอายุ ทำให้เกิดแรงกดดันในการขายเพื่อปิดสถานะก่อนสัญญาครบกำหนด ขณะที่การซื้อขายน้ำมันดิบ Brent ในยุโรปซึ่งเป็นอีกหนึ่งน้ำมันที่ได้รับความนิยมซื้อขายทั่วโลก มีการส่งมอบในทะเลเหนือของยุโรป และมีทางเลือกในการชำระราคาเป็นเงินสดได้ จึงไม่เกิดปัญหาดังกล่าว

การที่ราคาฟิวเจอร์สติดลบนี้ นอกจากจะส่งผลต่อผู้ร่วมตลาดแล้ว ยังส่งผลให้มีตลาดอนุพันธ์หลายแห่งที่เปิดซื้อขายฟิวเจอร์ต้องปรับตัวเพื่อรองรับราคาติดลบ โดยตลาดอนุพันธ์ CME ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ NYMEX และเป็นผู้ให้บริการระบบซื้อขายที่น้ำมันดิบ WTI หรือตลาด MCX ประเทศอินเดียที่มีการซื้อขาย WTI Futures รวมถึงผู้ให้บริการโปรแกรมซื้อขายก็ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งในบางรายก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จนทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถปิดสถานะตามราคาตลาดได้ นอกจากนี้ สินค้าที่ซื้อขายนอกตลาด (OTC) ที่อ้างอิงกับ WTI หลายแห่งก็ถูกยกเลิกการขายจนกว่าสถานะจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยบางแห่งห้ามผู้ลงทุนเปิดสถานะเพิ่มแต่ให้ปิดสถานะเดิมได้เท่านั้น

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันไม่มีการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าที่อ้างอิงกับ WTI Futures แต่เหตุการณ์นี้ถือเป็น Case Study ที่ควรศึกษาและเรียนรู้ อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมน้ำมันในต่างประเทศจะได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะกองทุนรวมเหล่านี้มักจะใช้วิธีลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์น้ำมันเพื่อให้ผลตอบแทนรวมของกองทุนสอดคล้องกับราคาน้ำมัน มูลค่าการลงทุนของผู้ลงทุนจึงติดลบตามราคาน้ำมันที่ลดลง คงมีแต่ผู้บริโภคที่ใช้น้ำมันที่ได้รับผลดี เพราะแม้ว่าราคาขายน้ำมันหน้าปั้มจะไม่มีทางติดลบดังเช่นราคาน้ำมันดิบในตลาดฟิวเจอร์ส เนื่องจากต้องผ่านการกลั่น ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่ง ค่าการตลาดและภาษี แต่ผู้บริโภคก็ได้รับอานิสงส์จากการที่สามารถซื้อราคาน้ำมันได้ในราคาถูก ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับต่ำจนกว่าสถานการณ์ Lockdown ทั่วโลกจะยุติ และความต้องการใช้น้ำมันเพื่อเดินทางจะกลับมาอยู่ในระดับเดิม