กลศึก 'ชิงผู้นำ พปชร.' เจาะเกมรับ-รุก '2ขั้วอำนาจ'

กลศึก 'ชิงผู้นำ พปชร.' เจาะเกมรับ-รุก '2ขั้วอำนาจ'

เมื่อหมูไม่กลัวน้ำร้อน และไม่พร้อมเป็นหมูในอวยของใคร สำหรับกรณีการเดินเกม "ชิงผู้นำ พปชร."

เปลี่ยนแปลง "กรรมการบริหาร" หรือ กก.บห. พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีความชัดเจนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ น่าติดตามยิ่ง

ดังที่ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงวานนี้ (1 มิ.ย.) ได้รับหนังสือลาออกจาก กก.บห. 18 ท่าน จึงทำ หนังสือแจ้งหัวหน้าพรรค พปชร. ว่ามีประสงค์ลาออก ซึ่งการลาออกมีผลตั้งแต่วันนี้ (1 มิ.ย.) เมื่อลาออกจำนวน 18 ท่าน เป็นเหตุให้ตำแหน่ง กก.บห. ว่างลงเกินกึ่งหนึ่ง มีผลให้ กก.บห. ทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง

ถือเป็นการเปิดฉากรุก ของ "ฝ่ายสนับสนุนบิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้ "อุตตม สาวนายน" ตกที่นั่งเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค และ "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" เป็นรักษาการเลขาธิการพรรค ในบัดดล

น่าสนใจว่า กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐทั้ง 34 ราย แบ่งได้ดังนี้ 1.สนับสนุนพล.อ.ประวิตร จำนวน 23 คน ประกอบด้วย 1.นายสันติ พร้อมพัฒน์ 2.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 3.นายสุพล ฟองงาม 4.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 5.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ 6.นายไผ่ ลิกค์ 7.นายนิโรธ สุนทรเลขา 8.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ

9.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 10.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 11.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 12.นายสกลธี ภัทรธิยกุล 13.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 14.นายสุรชาติ ศรีบุษกร 15.นายนิพันธ์ ศิริธร 16.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 17.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 18.นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 19.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ 20.นายวิรัช รัตนเศรษฐ 21.นายสุชาติ ชมกลิ่น 22.นายอนุชา นาคาศัย 23.นาย
ไพบูลย์ นิติตะวัน

ขณะที่ 11กก.บห. ที่สนับสนุน "กลุ่ม4กุมาร" ไม่ยื่นใบลาออก ประกอบด้วย 1.นายอุตตม สาวนายน 2.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 3.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ 4.นายวิเชียร ชวลิต 5.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ 6.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล 7.นายชวน ชูจันทร์ 8.นายสันติ กีระนันท์ 9.นางประภาพร อัศวเหม 10.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ 11.อิทธิพล คุณปลื้ม

ประเด็นที่ถามไถ่เหตุไฉน นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ , วิรัช รัตนเศรษฐ , สุชาติ ชมกลิ่น , อนุชา นาคาศัย และไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งถือเป็น "แกนนำ" โค่นอำนาจ "อุตตม-สนธิรัตน์" กลับไม่ยอมลาออก มิใช่พลิกขั้ว แต่เป็น "กลศึก" ที่วางแผนรับในรุก

เนื่องจากว่า ข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อที่ 19 วรรค 3 กำหนดว่า "ในกรณีกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ยกเว้น (2) ให้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และ "ตามวรรค4" ในกรณีที่มีเหตุให้กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ดังนั้น เงื่อนเวลา 45 วันในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ทำให้ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ , วิรัช รัตนเศรษฐ , สุชาติ ชมกลิ่น , อนุชา นาคาศัย และไพบูลย์ นิติตะวัน เป็น "รักษาการกรรมการบริหารพรรค" ที่จะรุกไล่ "กลุ่มอุตตม" ให้รีบนัดประชุมใหญ่เลือกตั้งกก.บห.ชุดใหม่โดยเร็ว

สอดรับกับการที่ "อุตตม" เปิดใจกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กรรมการบริหารพรรคลาออก ก็สามารถทำได้ ในกระบวนการทางการเมืองของพรรค เดี๋ยวรอดูว่าเป็นอย่างไร การดำเนินการต่อไป มีกระบวนการตามระเบียบข้อบังคับพรรค โดยการเปลี่ยนแปลงในพรรคจะต้องมาจาก ส.ส. เสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ว่าอย่างไร ก็เป็นเช่นนั้น

"สุดท้ายต้องขึ้นกับ ส.ส.ว่าต้องการเห็นพรรคเดินไปทิศทางไหน ตามหลักการแต่ละกลุ่มในพรรคต่างมีสัดส่วนกรรมการบริหาร และต้องฟังเสียงว่า กลุ่มเขามีใครบ้าง แล้วเขาเห็นอย่างไร"

เช่นเดียวกับ "สนธิรัตน์" ตอบคำถามไม่กั๊กว่า “เขาบี้อยู่แล้ว เบื้องหลังเขาข่มขู่ ผมจะเปิดโปงเรื่องนี้ต่อไป และคิดว่าเขาลาออกเกินครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว เพราะเขาเรียกไปบี้” ส่วนจะแก้เกมนี้อย่างไร เขาระบุว่า “ก็เข้าสู่ระบบให้ ส.ส.โหวตก่อน ประชุมพรรคไม่ได้หรอก ขนสมาชิกมาหมดก็เจ๊งสิ”

ชัดเจน! ดูเหมือนต่างฝ่ายต่าง "รู้เกมรู้ทาง" กันและกัน แม้ว่าวันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล "พล.อ.ประวิตร" กล่าวถึงปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร. หลังกรรมการ​บริหารพรรค 18 คน ลาออกจากตำแหน่ง ว่า ไม่มีอะไร​ ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการประชุมใหญ่ ภายใน 45 วัน พร้อมปฎิเสธตอบ ว่ารายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้วหรือไม่เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ส่วนที่หลายเสียงสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ พล.อ.ประวิตร ​หันมามองหน้าสื่อมวลชนโดยไม่ตอบคำถามก่อนเดินขึ้นตึกบัญชาการ

โฟกัสไปที่ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาใหญ่กลุ่ม4กุมาร ให้สัมภาษณ์วันนี้ (2 มิ.ย.) ว่า เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องภายในพรรคพลังประชารัฐที่จะต้องไปนั่งคุยกัน แต่คิดว่าเป็นที่น่าเสียดาย เพราะน่าจะเอาพลังไปช่วยในการแก้ปัญหาให้กับบ้านเมือง

ระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้แนะนำอะไร เพียงแต่อยากจะให้กำลังใจทุกคนได้ทำงาน และที่ผ่านมาทุกคนก็ทำงานหนัก อีกทั้ง พ.ร.ก.กู้เงินก็ผ่านการพิจารณาของสภาฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนเงินช่วยเหลือก็ถึงมือประชาชน วันข้างหน้ายังมีคนลำบากเยอะ อยากให้คิดถึงปัญหานี้ให้มาก ขณะเดียวกัน ตนเองก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนที่จะย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า "เบื่อบ้างไหม"

อย่างไรก็ตาม "แหล่งข่าว" ใกล้ชิดกลุ่มสี่กุมาร และ "คอลัมนิสต์อาวุโส" เช็คฝ่ายลุงป้อม ต่างเล่าเป็นฉากๆ ให้ข้อมูล 2 ฝ่ายแก่ "ราษฎร์ บำรุงรัฐ" ถึงกลเกมฝ่ายหนุนบิ๊กป้อม กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า , วิรัช รัตนเศรษฐ , ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ , สันติ พร้อมพัฒน์ และสุชาติ ชมกลิ่น

สังเคราะห์ข้อมูลแล้ว ฝ่ายกลุ่มสี่กุมารมองว่า "เจ้าของพรรคตัวจริง" ก็รู้อยู่แล้วว่าคือใคร ซึ่งสยบยอมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า การเข้ามาบริหารพรรค จะทำให้เป็น "พรรคทหาร" เต็มรูปแบบ จะเข้าทางพรรคก้าวไกลที่ลับฝีปาก รอจับประเด็นเอาไปสร้างวาทกรรมโจมตีให้พรรคตกต่ำลงและแตกดับ โดยมีบทเรียนในอดีตมาแล้ว การสลัดคราบพรรคทหารเพื่อสร้างพรรคให้คนหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม และสร้างพรรคของประชาชนโดยแท้จริงกลับไม่เกิดขึ้น

ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนบิ๊กป้อม ต้องการเปลี่ยนแปลงในพรรค เพราะสมการการเมืองกับเก้าอี้ รมต. ไม่สัมพันธ์กัน จำเป็นเปลี่ยนภายในก่อนเพื่อเกลี่ยเก้าอี้ รมต. ใหม่ และเชื่อว่าสถานการณ์ชุมนุมและโจมตีสามารถเอาอยู่ อีกทั้งกลุ่มสี่กุมารครองอำนาจเป็น รมต. มาต่อเนื่องตั้งแต่สมัย คสช. แล้ว สมควรแก่เวลาที่ต้องให้ "นักการเมืองอาชีพ" ขึ้นมามีบทบาท

นี่เป็น "สองมุมมอง" ที่แตกต่างทางความคิดอย่างสิ้นเชิง!!

ทว่า สงครามชิง พปชร. ครั้งนี้นั้น "ผู้มีอำนาจตัวจริง" ต้องกรองสถานการณ์ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐไว้ให้ดี เพราะการปล่อยให้ข่าวการแย่งชิงตำแหน่งและเก้าอี้ รมต. ด้วยการออกมาถล่มกันเองภายใน จนชาวบ้านร้านตลาดเอือมระอา ขณะอีกฝ่ายขู่แฉ "ผู้มีบารมี" จนศรัทธาประชาชนเสื่อมทรุดถึงขีดสุด

..มันไม่จบแค่พรรคแตก แต่ระบอบฯที่เป็น มรดก คสช. ทิ้งไว้คงถึงคราว "ขั้วตรงข้าม" ชำระล้างก็เป็นได้!!