การฟื้นพันธกิจสื่อสารมวลชนในยุคเปลี่ยนผ่าน

การฟื้นพันธกิจสื่อสารมวลชนในยุคเปลี่ยนผ่าน

ในการประชุม World Summit 2020 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “Peace, Security and Human Development”

 ในงานนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 5 พันคนจากทั่วโลก รวมทั้ง ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และบุคคลระดับสูงจากหลายประเทศ

ผมได้รับเชิญให้ขึ้นบรรยายใน 2020 World Peace Media Conference ส่วนหนึ่งของการประชุมข้างต้น ภายใต้หัวข้อ “สิ่งท้าทายหลักและการฟื้นพันธกิจสื่อมวลชน” (Addressing Critical Challenges of the Media and Restoring the Mission of Journalism)

ผมได้วิเคราะห์ถึงวิกฤติที่สื่อสารมวลชนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ประกอบด้วย การกระชากเปลี่ยนเทคโนโลยี(Tech Disruption Crisis) ความอยู่รอด(Survival Crisis) ความน่าเชื่อถือ(Trust Crisis) การมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation Crisis) และวิกฤติการเผยแพร่ข่าวภายใต้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Cultural Crisis)

ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ นักสื่อสารมวลชนและองค์กรสื่อจำเป็นต้องกลับมารื้อฟื้นพันธกิจ ซึ่งมีประเด็นท้าทายอย่างน้อย 15 คู่พันธกิจ ที่ต้องเลือกหรือสร้างสมดุลในประเด็นเหล่านี้

  1. Public Mission vs Profit Missionความท้าทายที่ว่า ควรให้ความสำคัญกับพันธกิจใดระหว่าง การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือการทำเพื่อกำไร ซึ่งนำมาสู่คำถามต่อมาที่ว่า แหล่งที่มาของรายได้ควรมาจากใคร จากผู้เสพสื่อ จากรัฐบาล หรือจากภาคธุรกิจ
  2. Independent Mission vs Responsible Mission ในภาวะที่การเผยแพร่และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีเสรีภาพมากขึ้น สื่อก็กำลังถูกตั้งคำถามเรื่องความรับผิดชอบมากขึ้นเช่นกัน จนทำให้รัฐบาลในหลายประเทศมีความพยายามควบคุมสื่อมากขึ้น สื่อมวลชนจึงต้องกลับมาทบทวนว่า จะรักษาสมดุลระหว่าง ความเป็นอิสระและความรับผิดชอบได้อย่างไร
  3. Professional Watchdog Mission vs Survival Missionในภาวะวิกฤติสื่อสารมวลชนต้องเผชิญกับทางเลือกที่ว่า จะรักษาพันธกิจความเป็นมืออาชีพในบทบาทสุนัขเฝ้าบ้าน หรือจะเป็นเพียงผู้ประกอบอาชีพนักข่าว เพื่อความอยู่รอดของตนเองและองค์กร
  4. Collaboration Mission vs Autarchy Mission ผลกระทบของเทคโนโลยีทำให้เกิดการกระจายอำนาจในอุตสาหกรรมสื่อ ทำให้เกิดความท้าทายในกระบวนการทำข่าวว่า จะเน้นความร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อกับนักข่าวพลเมือง และระหว่างสื่อสารมวลชนด้วยกันเอง หรือจะเน้นการทำงานข่าวโดยองค์กรสื่อเพียงลำพังเท่านั้น
  5. True News Mission vs Fake News Mission ในภาวะการแข่งขันและความหลากหลายของสื่อ (media plurality) ที่เพิ่มขึ้น สื่อมวลชนจะต้องเลือกระหว่าง การรื้อฟื้นพันธกิจข่าวจริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หรือจะยังคงพันธกิจข่าวปลอม การสร้างสีสันของข่าว และการเสนอข่าวผสมปนเปกับความคิดเห็น เพื่อสร้างความน่าสนใจของข่าว
  6. Investigative Mission vs Reporting Missionสื่ออาจต้องเลือกว่า จะเน้นการรายงานข่าวหรือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว หรือการทำข่าวเชิงสืบสวนและวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่ข้อเท็จจริงที่ลึกมากขึ้น แม้จะมีต้นทุนในการทำข่าวสูงขึ้นก็ตาม
  7. Diversity Mission vs Sectarian Mission ในภาวะที่ผู้เล่นในสังคมมีความหลากหลาย และมีคนกลุ่มต่าง ๆ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น องค์กรสื่ออาจต้องเลือกระหว่างพันธกิจการเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวที่สอดคล้องความหลากหลายของสังคม หรือจะเน้นพันธกิจสื่อเฉพาะทางที่เลือกปฏิบัติและละเลยความหลากหลายทางสังคม
  8. Inclusive Mission vs Exclusive Missionสื่อสารมวลชนต้องเลือกว่า จะทำพันธกิจการเลือกข้าง ในการเป็นกระบอกเสียงให้กับคนบางกลุ่ม ขั้วการเมืองใดขั้วหนึ่ง หรือจะทำพันธกิจในการเป็นกระบอกเสียงให้กับคนทุกกลุ่ม รวมทั้งคนเล็กคนน้อย และคนชายขอบ
  9. Social Linkage Mission vs Segregation Missionในการรักษาและควบคุมจรรยาบรรณของสื่อสารมวลชน สื่ออาจต้องเลือกระหว่างการกำกับดูแล โดยการเชื่อมโยงและบูรณาการกับสถาบันอื่นในสังคม หรือ การแยกส่วนเป็นสถาบันเฉพาะขององค์กรสื่อ เพื่อกำกับดูแลกันเอง
  10. Good Governance Mission vs Corrupt Missionสื่อสารมวลชนกำลังเผชิญวิกฤตความน่าเชื่อถือและแรงกดดันต่อความอยู่รอด สื่อจึงอาจต้องเลือกว่า จะเน้นพันธกิจธรรมาภิบาล เช่น ความโปร่งใส และความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าว หรือพันธกิจการทำข่าวโดยมีวาระซ่อนเร้นตามความต้องการของผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน หรือผู้ให้สินบน
  11. Peace Mission vs Division Missionสื่อสารมวลชนต้องเลือกว่า จะทำพันธกิจการแบ่งแยกเขา แยกเรา การโจมตีฝ่ายตรงข้าม และการเผยแพร่เนื้อหาข่าวที่สร้างความเกลียดชัง (Hate speech) หรือจะทำพันธกิจเป็นผู้สร้างสันติภาพ โดยนำเสนอข่าวอย่างเที่ยงตรง รอบด้านและสร้างสรรค์ นำผู้ที่เห็นต่างมาพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจกัน และส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น
  12. Innovative Mission vs Status Quo Missionสื่อดั้งเดิมกำลังถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิทัล ส่งผลทำให้องค์กรสื่อต้องเผชิญความท้าทายว่า จะยังรักษารูปแบบสื่อเดิมที่ยังสามารถสร้างรายได้ แต่มีแนวโน้มที่ถดถอยลง หรือจะสร้างนวัตกรรมด้านสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นทิศทางของสื่อในอนาคต
  13. People Mission vs Corporate Mission คือ สิ่งที่องค์กรสื่อจะต้องเผชิญทางเลือกของโมเดลสื่อ ระหว่างการมุ่งเน้นแสวงหากำไร หรือรูปแบบประชากิจที่ไม่แสวงหากำไร หรือแสวงหากำไรแต่ไม่นำมาแบ่งปันให้กับผู้ถือหุ้น แต่นำไปใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคม
  14. Quality Mission vs Quantity Missionการปฏิวัติเทคโนโลยีทำลายข้อจำกัดด้านพื้นที่และเวลา (space and time) ของการทำข่าว สื่อจะต้องเลือกว่า จะเน้นพันธกิจเชิงปริมาณ โดยการแข่งขันกันนำเสนอข่าว เพื่อหวังยอดวิว จำนวนไลค์และแชร์ หรือจะทำพันธกิจเชิงคุณภาพ ที่เน้นความถูกต้องและความรับผิดชอบของการนำเสนอข่าว
  15. Glocal Mission vs Global Missionในบริบทที่ข้อมูลข่าวสารสามารถเผยแพร่ไปได้ทั่วโลก องค์กรสื่อจึงมีความท้าทายในการเลือกระหว่าง การทำข่าวท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ในบริบทโลก และทำข่าวระดับโลกเพื่อเผยแพร่ในบริบทท้องถิ่น (Globalization) ซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งทางวัฒนธรรม หรือจะเน้นการทำข่าวโดยพิจารณาความสอดคล้องทั้งบริบทโลกและบริบทท้องถิ่นไปพร้อมกันหรือที่ผมเรียกว่า “เทศาโลกาภิวัตน์” (Glocalization)

วิกฤติสื่อมวลชน สะท้อนช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition)สู่ยุคใหม่ จำเป็นที่สื่อต้องกลับมารื้อฟื้นพันธกิจของตนเอง และปรับตัวไปสู่โมเดลใหม่ รูปแบบใหม่ แนวทางการทำงานข่าวแบบใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย เพื่อที่สื่อสารมวลชนจะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวทำลายสังคม แต่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างชาติให้เจริญงอกงามและยั่งยืน