โนเบล เศรษฐศาสตร์ปีนี้ 3 ศาสตราจารย์สอนหนังสือที่สหรัฐ

โนเบล เศรษฐศาสตร์ปีนี้ 3 ศาสตราจารย์สอนหนังสือที่สหรัฐ

เจ้าของรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปีล่าสุด เป็นของชาวอเมริกัน 3 คนที่ทำงานในเรื่องเดียวกัน 2 คนเป็นอาจารย์ MIT

โดยคนหนึ่งเป็นชาวอินเดียผู้สามีที่โอนสัญชาติมาเป็นอเมริกันกับอีกคนหนึ่งที่เป็นภรรยาโอนสัญชาติมาเป็นอเมริกันเช่นกัน และอีกคนหนึ่งเป็นอาจารย์ Harvard เป็นการทดลองเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาความยากจน (Poverty Alleviation) โดยรัฐเป็นผู้จัดการแจกจ่ายเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ที่นอนหมอนมุ้ง รวมทั้งบริการดูแลรักษาสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับคนยากจน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นการทดลองแบบแบ่ง 2 กลุ่ม คือกลุ่มทดลอง (Experimental Group) กับกลุ่มควบคุม (Control Group) แต่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ระดับประเทศ เป็นการทดลองระยะยาวหลายปีติดต่อกัน โดยเก็บข้อมูลจาก 2 ประเทศกำลังพัฒนาคือประเทศเคนยา ในแอฟริกา กับ อินเดีย ในเอเซีย ผลปรากฎว่า มาตรการช่วยเหลือแจกฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายจากรัฐนี้ ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น เด็กและเยาวชนสามารถเรียนหนังสือดีขึ้น ทำงานได้มากขึ้นเพราะฉะนั้นจึงอาจสรุปว่า นโยบายแจกฟรีถ้วนหน้าของรัฐบาล เป็นเรื่องดีถ้าแจกได้ตรงเป้าหมายที่เป็นเรื่องจำเป็นในการใช้ชีวิตของประชาชน

ไม่เห็นวิธีการคำนวณหรือตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ว่าดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างไร และสามารถนำไปอธิบายในภาพรวม หรือ generalize เพื่อใช้อธิบายปรากฎการณ์ในประเทศอื่นได้แค่ไหนคงต้องติดตามในรายละเอียด แต่ที่จริงเรื่องการแจกฟรีหรือให้บริการสุขภาพพื้นฐานฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายนี้ ดีแน่นอนอยู่แล้วสำหรับประเทศที่ยากจน ประชาชนไม่มีอำนาจซื้อ ไม่มีรายได้ และไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ต้องมีค่าใช้จ่าย

คำถามมีว่า แล้วมาตรการแจกฟรีให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายนี้ จะหมายความว่ายิ่งแจกฟรี บริการฟรี ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นหรือไม่ เพราะเมื่่อถึงจุดๆ หนึ่งที่มนุษย์ต้องการสิ่งที่นอกเหนือความต้องการพื้นฐาน ของฟรีอาจไม่ได้เป็น incentives อีกต่อไปเหมือนคนที่กินข้าว 2 จานแล้วอิ่ม แม้จะให้กินจานที่ 3  ที่ 4 ที่ 5 ก็คงกินไม่ได้ตรงนี้ก็เหมือนกัน

ที่จริง ก่อนหน้านี้ก็มีผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล ชาวบังคลาเทศ คือคุณยูนูส ที่ทำเรื่องสินเชื่อรายจิ๋ว หรือ Micro Finance ที่ทำให้คนยากคนจนเข้าถึงแหล่งเงินสินเชื่อเพื่อกู้ยืมมาประกอบธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ โดยเสียดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ที่ปกติแล้วไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินปกติได้ได้ผลดี เพราะทำให้ประชาชนคนยากจนมีโอกาสทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ เกิดรายได้ เกิดการกระจายรายได้ และไม่มีปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้อย่างมีนัยสำคัญ มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนนั้น เป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่เช่นนั้น พวกเขาจะกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสตลอดกาล ไม่สามารถลืมตาอ้าปากช่วยตนเอง และเป็นภาระของรัฐบาลตลอดชีวิต

สำหรับประเทศยากจน การใช้มาตราการให้ฟรีแบบถ้วนหน้าสำหรับประชาชนโดยไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องจำเป็น แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นการแจกฟรีแบบไม่แยกแยะก็ในเมื่อยังแยกแยะไม่ได้ การให้ทั้งหมดทุกคนเหมือนกันหมด ก็ย่อมดีกว่าไม่ให้อะไรเลย แต่เมื่อรัฐบาลมีศักยภาพมากขึ้น สามารถแยกแยะกลุ่มเป้าหมายได้ การให้ฟรีแบบถ้วนหน้าไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายจึงต้องกลับมาทบทวนให้ถ้วนหน้าในกลุ่มเป้าหมาย หรือ universal-targeting coverage ที่เป็นการยิงตรงเป้าตรงประเด็น ได้ผลสัมฤทธิ์ตรงตามวัตถุประสงค์ มากกว่าการหว่านไปทั่วไม่มีเป้าหมายแบบเก่า

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้กำลังจะถูกนำไปขยายผลว่า ถ้ารัฐจะดำเนินการแบบแจกฟรีบริการฟรีถ้วนหน้าในประเทศที่ร่ำรวย พัฒนาแล้ว จะเป็นผลดีเหมือนที่เกิดกับประเทศยากจนหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องระบบประกันสุขภาพ เพราะเท่าที่ติดตามการหาเkสียงเลือกตั้งที่สหรัฐ พบว่านโยบายแจกฟรีถ้วนหน้า ไม่ว่าคนรวยคนจน กำลังเป็นประเด็นหาเสียงที่เข้มข้นถึงขั้นที่ผู้สมัครเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตบางคนเสนอนโยบายแจกเงินฟรีเดือนละ $1,000 ให้ชาวอเมริกันทุกคน ไม่ว่าจนหรือรวยในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังออกนโยบายแบบถ้วนหน้าในกลุ่มเป้าหมายในเรื่องประกันสุขภาพ เช่นถ้วนหน้าเฉพาะผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้พิการซึ่งอีกไม่นานก็คงรู้กันว่า จะเป็นแบบถ้วนหน้าไม่จำกัดเป้าหมาย หรือถ้วนหน้าเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ชาวอเมริกันต้องเลือก