ผลลัพธ์คุมโควิด-19 สะท้อนมาที่ตลาดหุ้น

ผลลัพธ์คุมโควิด-19 สะท้อนมาที่ตลาดหุ้น

เศรษฐกิจของรัฐนั้นๆ ภายหลังการควบคุมสถารณ์การแพร่ระบาดฯ ได้ จะฟื้นตัวได้แข็งแกร่งกว่า

ประเทศไทยรวมถึงอีกหลายประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ 'โควิด-19' ได้ดี เริ่มพิจารณาถึงการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งแล้ว ส่งผลสะท้อนมายังตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดหุ้นที่เห็นการฉีกตัวออกจากกันของตลาดการเงินและกับตัวเลขเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า 'Decoupling' โดยในบทความก่อนหน้าผมเขียนถึงเรื่องผลของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ (และคาดจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่องจนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย) ส่งผลให้นักลงทุนมุ่งหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า (Reach for Yield) เป็นเหตุให้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับความรู้สึกของนักลงทุนโดยทั่วไปที่ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำแล้วยังมีปัจจัยอื่นที่สนับสนุนการปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยอีกหรือไม่?

ผมเคยเขียนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสฯ โดยยกกรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 (Correia S., Luck S., Verner E., 2020, Pandemics depress the economy, public health interventions do not: evidence from the 1918 flu) ซึ่งมีการศึกษาผลของมาตรการที่เรียกว่า Non-Pharmaceutical Intervention หากเปรียบกับในปัจจุบันก็คือ มาตรการล็อคดาวน์ หรือ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม นั่นเอง ว่ารัฐใดในสหรัฐฯ ที่ตัดสินใจใช้มาตรการฯ อย่างรวดเร็วและเข้มข้น เศรษฐกิจของรัฐนั้นๆ ภายหลังการควบคุมสถารณ์การแพร่ระบาดฯ ได้ จะฟื้นตัวได้แข็งแกร่งกว่าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งหากอ้างอิงผลการศึกษาดังกล่าว และข้อมูลโดยเปรียบเทียบของดัชนีตลาดหุ้นแต่ละประเทศ โดยพิจารณาจากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเห็นว่ามีความสอดคล้องกันอย่างชัดเจน

หากเราแบ่งประเทศในภูมิเอเชีย โดยแบ่งตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสฯเป็น i) กลุ่มประเทศที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดี (เช่น ประเทศไทย, ประเทศญี่ปุ่น, ประเทศเกาหลีใต้, ประเทศจีน และไต้หวัน ii) กลุ่มประเทศที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสฯยังไม่สามารถควบคุมได้ดีมากนัก (เช่น ประเทศฟิลิปปินส์, ประเทศอินโดนีเซีย, และประเทศสิงคโปร์) จะพบว่าตลาดหุ้นของกลุ่มแรกมีการปรับตัวขึ้น Outperform อย่างชัดเจน (คำนวณราคาปิด ณ สิ้น 1Q63 จนถึงวันที่ 28 พ.ค.2563) โดยดัชนีตลาดหุ้นของ ไทย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, และไต้หวัน ปรับขึ้นมาแล้ว +18.8% QTD, +15.9% QTD, +15.6% QTD, +3.5% QTD, และ +12.7% QTD ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่มที่สอง ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, และสิงคโปร์ปรับขึ้นเพียง +4.7% QTD, +3.9% QTD, และ +1.4% QTD ตามลำดับ  ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าตลาดหุ้นไทยที่ปรับขึ้นแรงและสวนความรู้สึกของนักลงทุนโดยทั่วไปที่กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้นั้น เป็นผลจากทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและการคาดหวังถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ว่าจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วและแข็งแกร่งในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มที่ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสฯได้ดีนัก

สำหรับประเทศไทยที่ภาครัฐฯกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และการใช้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปี 2563 ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของ การลงทุนภาครัฐฯ (คาดจะเริ่มเซ็นสัญญาโครงการขนาดใหญ่ต่างๆที่ล่าช้า ภายใน 2H63) การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (คาดจะมีข้อเสนอดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มเติมใน 2H63) การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวประเทศ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกสนับสนุนอยู่บ้าง แต่เนื่องจาก Valuation ของตลาดหุ้นไทยไม่ถูกมากนัก (Forward PE ±19 เท่า, Earnings yield gap ±4%) ทำให้ผมประเมินว่าจะเห็นภาพของการ "เปลี่ยนกลุ่มเล่น" หรือ "Sector rotation" มากขึ้น โดยจะเป็นการขายเปลี่ยนตัวเล่นจากหุ้นที่ปรับขึ้นมามากจน Upside เริ่มจำกัด ไปยังหุ้นที่ยัง Laggard และคาดหวังถึงการฟื้นตัวใน 2H63 แทน ดังนั้นสำหรับแนวโน้มของดัชนี SET index ในเดือน มิ.ย.2563 จึงประเมินว่าจะเป็นการ Sideway และมีโอกาสพักฐาน ผมแนะนำให้ใช้จังหวะการพักฐานของตลาดหุ้นไทยที่มีโอกาสเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 2563 เป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่คาดผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวใน 2H63 และ/หรือ ปี 2564 อีกครั้ง โดยเฉพาะหุ้นที่เชื่อมโยงกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐฯ