ความท้าทายของ “เมือง” ในยุคหลัง COVID-19

ความท้าทายของ “เมือง” ในยุคหลัง COVID-19

COVID-19 จึงกลายเป็นบททดสอบความสามารถของคนเมืองในการปรับตัว

95% ของผู้ติดเชื้อ COVID-19 คือผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง

ข้อเท็จจริงข้างต้น เปลี่ยน 'เมือง' จากสถานที่ปลอดภัย ความหนาแน่นของ 'เมือง' ที่แสดงถึงเสน่ห์และความเจริญก้าวหน้า ให้ 'เมือง' เป็นสถานที่อันตราย เสี่ยงสูงต่อการติดโรค กระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตและคุณภาพชีวิตของคนเมือง เมืองยิ่งมีขนาดใหญ่หรือประชาชนหนาแน่น COVID-19 ยิ่งเสี่ยงระบาดรุนแรง ตัวอย่างเช่น อู่ฮั่น ประเทศจีน และนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

COVID-19 จึงกลายเป็นบททดสอบความสามารถของคนเมืองในการปรับตัว ทดสอบเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจในการรับมือความไม่แน่นอน และทดสอบกลไกต่างๆ ของรัฐว่ามีประสิทธิภาพในการดูแลชีวิตผู้คนท่ามกลางความไม่แน่นอนอย่างไร

ดังจะเห็นว่า ในสถานการณ์ COVID-19 'เมือง' หรือ 'จังหวัด' มีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรการดูแลผู้คนของแต่ละเมือง เช่น มาตรการล็อกดาวน์ มาตรการเปิดปิดห้างร้าน ทั้งนี้เพราะแต่ละเมืองเผชิญความรุนแรงของปัญหาแตกต่างกัน และกลไกระดับเมืองเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่าส่วนกลาง จึงแก้ปัญหาได้เร็วและตรงจุดมากกว่า

การมาของ COVID-19 สร้างความท้าทายและเปิดโอกาสให้เมืองซึ่งในที่นี้หมายรวมทั้งรัฐ และประชาชน ตลอดจนภาคธุรกิจ ต้องออกแบบเมืองและการใช้ชีวิตของตนใหม่ เพื่อรับมือปัญหาและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างการออกแบบชีวิตตัวเองใหม่ เช่น สำหรับประชาชน ต้องใส่หน้ากากเมื่อออกจากบ้าน ภาคธุรกิจต้องจำกัดจำนวนคนต่อพื้นที่ที่ให้บริการ วัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ มีฉากกั้นระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

คำถามคือ สำหรับรัฐหรือเมือง ควรเตรียมการสิ่งใดเพื่อรองรับโลกยุคหลัง COVID-19 รัฐควรออกแบบเมืองให้รองรับชีวิตผู้คน

อย่างไร ทั้งนี้ไม่ใช่แค่โรคภัยไข้เจ็บที่ต้องรับมือ หากรวมถึงความท้าทายอื่น เช่น ความเหลื่อมล้ำในสังคมเมือง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ

ตัวอย่างสิ่งที่เมืองต้องออกแบบใหม่ เพื่อรองรับความท้าทายมีอย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่

ประการแรก การเดินทางและระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง รถไฟลอยฟ้า รถไฟใต้ดิน ที่แต่เดิมแออัด ในสถานการณ์ที่ประชาชนต้องเว้นระยะทางสังคม จะทำอย่างไร

ประการที่สอง เมื่อคนต้องอยู่บ้านหรือทำงานจากบ้านมากขึ้น ความต้องการพักอาศัยในคอนโดมิเนียมในเมืองบางส่วนจะลดลง เพราะการอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก เสี่ยงติดโรค และห้องพักในคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก การต้องอยู่ในที่พักตลอดเวลา โดยเฉพาะหากมีลูกด้วย ยิ่งลำบาก ดังนั้นมีแนวโน้มคนที่อยู่คอนโดมิเนียมจะอยากอยู่บ้านมากขึ้น แต่ก็ต้องไปอยู่ห่างใจกลางเมือง รัฐจะออกแบบเมืองและการเดินทางอย่างไรเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ นอกจากนี้เมื่อการทำงานจากบ้านเป็นเรื่องปกติ การใช้พื้นที่สำนักงานของทุกบริษัทย่อมลดลง ส่งผลต่อความต้องการใช้อาคารสำนักงาน และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น แม่บ้าน รปภ. ด้วย

ประการที่สาม ในเมืองที่คนตกงานมากเพราะเศรษฐกิจถดถอย เมืองจะทำอย่างไร เพราะตราบที่ไม่มีวัคซีน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังหดตัว คนยังเดินห้างน้อย ร้านอาหารขายได้ลดลง สถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ผลักดันให้คนตกงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจพบว่า 70% ของร้านอาหารขนาดเล็กเสี่ยงปิดตัวถาวรจาก COVID-19 หรือตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่าแรงงานไทยเสี่ยงตกงานถึง 8.4 ล้านคน เมืองจะดูแลคนเหล่านี้และครอบครัวของพวกเขาอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้อาศัยในชุมชนแออัด คนไร้บ้าน ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น

ประการที่สี่ ในแง่สุขภาพ เมืองทุกแห่งต้องเตรียมรับมือความท้าทายด้านสุขภาพ ในระยะสั้นเมืองจะออกแบบระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อและติดตามผู้เสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้ออย่างไร จะออกแบบมาตรการเว้นระยะทางสังคม หรือล็อกดาวน์อย่างไรให้สามารถรักษาทั้งความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้ ในระยะยาว ความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดใหม่ๆ ยังมีโอกาสเกิดได้อีก เมืองจะออกแบบระบบแจ้งเตือนอย่างไรให้ทันสถานการณ์กรณีเกิดปัญหาดังกล่าว

ประการที่ห้า ความต้องการพื้นที่สีเขียวของคนเมืองเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งผู้คนหลีกเลี่ยงไปสถานที่ปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า เพราะเสี่ยงได้รับเชื้อโรค คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงอยากออกกำลังกาย กลุ่มคนที่ออกกำลังกายในฟิตเนสก็มีแนวโน้มเปลี่ยนมาออกกลางแจ้งมากขึ้น เพราะเสี่ยงติดเชื้อน้อยกว่า เมื่อคนเมืองต้องการพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ความท้าทายของเมืองนอกจากการหาพื้นที่สีเขียวเพิ่มแล้ว ยังมีเรื่องจะออกแบบพื้นที่สีเขียวอย่างไร ให้คนได้ใช้ร่วมกันอย่างปลอดภัย ตัวอย่างข้อเสนอออกแบบสวนรับมือ COVID-19 เช่น ออกแบบเป็นเขาวงกต (maze) เพื่อให้ผู้ใช้สวนแต่ละคนสามารถรักษาระยะห่างระหว่างกันได้

โลกยุคหลัง COVID-19 ที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น การดำเนินชีวิตมีต้นทุนสูงขึ้น รัฐจะออกแบบเมืองเพื่อรับมือความไม่แน่นอนเหล่านี้อย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่ผู้บริหารเมืองยุคใหม่ต้องเตรียมตัวครับ