กรณีศึกษาของ Sharing Economy ในเอเชีย

กรณีศึกษาของ Sharing Economy ในเอเชีย

เศรษฐกิจแบ่งปันหรือที่เรียกว่า Sharing Economy คือสินทรัพย์หรือบริการที่แบ่งปันกันในหมู่ปัจเจกบุคคล ผ่านช่องทางต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต

ภาพรวมสามารถแบ่งลักษณะของธุรกิจได้เป็น 4 แนวทางหลักด้วยกัน ได้แก่ บริการเรียกยานพาหนะ บริการซื้อขายออนไลน์ บริการด้านคอนเทนต์ เช่น ฟังเพลง หรือวิดีโอสตรีมมิ่ง  และบริการด้านการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์

159066285725

ความสะดวกสบายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิด Sharing Economy ขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ทำให้โมเดลธุรกิจลักษณะนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงมากในปัจจุบัน เช่น อัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้เวลา 4-6 ชั่วโมงต่อวัน การพัฒนาแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อผู้บริโภคกับสินค้าและบริการต่างๆ ชีวิตประจำวันที่รัดตัว ทำให้ต้องการได้รับบริการที่รวดเร็วเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงสินค้าและบริการในราคาที่ถูกลง

ในขณะที่ Sharing Economy กำลังสร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลก ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจแนวนี้ประสบความสำเร็จนั้น อยู่ที่  กลยุทธ์ในการเข้าถึงตลาดในแต่ละประเทศ จากรายงานของ Google และ Temasek ประเมินเอาไว้ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตอยู่ที่ 240,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 ซึ่งการท่องเที่ยวออนไลน์ การซื้อขายออนไลน์ และสื่อออนไลน์ จะมีส่วนแบ่งมากที่สุด  ในที่นี้ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษา 2 ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ Go-Jek และ Spotify

Go-Jek บริการ Ride Hailing ที่ประสบความสำเร็จมากในอินโดนีเซีย ใช้กลยุทธ์สำคัญโดยเริ่มจากการสร้างฐานลูกค้าขนาดใหญ่ก่อน และขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง แนวราบคือการครอบคลุมบริการที่หลากหลาย และแนวดิ่ง คือการรักษาฐานลูกค้าของตนเองไว้ให้ได้ 

Go-Jek พัฒนาตัวเองเป็นซูเปอร์แอปพลิเคชัน ขยายบริการจากเดิมที่เป็นแอปพลิเคชันเรียกรถ ให้ครอบคลุมบริการด้านอื่นๆ เช่น บริการอาหาร บริการเสริมสวย บริการร้านนวด บริการซักรีด บริการส่งพัสดุขนาดเล็ก บริการซื้อตั๋ว บริการจ้างแม่บ้านทำความสะอาด และมอบทางเลือกด้านการชำระเงินที่สะดวก ลูกค้าสามารถชำระค่าบริการทั้งหมดผ่าน Go-Pay ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ของ Go-Jek ซึ่งให้บริการที่หลากหลายจำแนกตามกลุ่มลูกค้า ปัจจุบัน Go-Jek ครองส่วนแบ่งตลาด ride-haling application เกือบ 50% ของตลาดธุรกิจนี้ในอินโดนีเซีย  

เนื่องจากสัดส่วนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในตลาด emerging markets เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจึงคาดว่าตลาดธุรกิจที่ให้บริการแอปพลิเคชันเพื่อเรียกยานพาหนะก็จะโตตามไปด้วยที่ 10-15% ในปี 2566   

Spotify บริการสตรีมมิ่งเพลง ซึ่งเป็นที่รู้จักในตลาดเอเชีย โดยผู้ใช้งานสามารถฟังจากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก และสามารถจ่ายค่าสมาชิกเพื่อได้รับบริการเพิ่มเติม เช่น คุณภาพของสื่อในการฟังเพลงที่ดียิ่งขึ้น  

กลยุทธ์ของ Spotify คือการมีหุ้นส่วนกับคนในท้องถิ่น โดยร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เสนอขายโปรโมชั่นโทรศัพท์พ่วงกับการจ่ายค่าสมาชิก การร่วมกับศิลปินในท้องถิ่นเพื่อโปรโมทเพลย์ลิสต์ที่เป็นที่นิยมในแต่ละประเทศ หรือการซื้อลิขสิทธิเพื่อเข้าถึงเพลงป๊อปเกาหลี เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย ทั้งผ่านบัตรเครดิต      โอนผ่านบัญชีธนาคาร ชำระเงินสดผ่านร้านสะดวกซื้อ หรือการนำเสนอแพคเกจสมาชิกแบบครอบครัวที่จ่ายต่อหัวในราคาที่ถูกลง

Spotify ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ทางธรุกิจแบบ B2B เพื่อขยายธุรกิจทั้วในแนวราบและแนวดิ่งได้มากขึ้น เห็นได้จากการเสนอแพคเกจให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลีก เช่น สตาร์บัคส์ หรือบริการการจัดเพลย์ลิสต์ให้เหมาะกับแบรนด์ของลูกค้า อาทิ Aesop, Joe & The Juice, McDonalds, TAG Heuer, Uniqlo และ W Hotel หรือร่วมมือกับบริษัทเทเลคอม เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับทำการตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิก

แม้ว่าเศรษฐกิจแบบแบ่งปันจะมีโอกาสเติบโตเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดจากรูปแบบธุรกิจนี้ด้วยเหมือนกัน เช่น การมีวินัยด้านการเงิน การได้รับทุนมากเกินไปจากผู้ลงทุน อาจทำให้ขยายกิจการมากเกินไปและประสบปัญหาในการบริหารจัดการได้ หลายบริษัทดำเนินงานแบบขาดทุน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดที่มีกำไร การไม่มีหลักประกันด้านความมั่นคงของธุรกิจเนื่องจากเป็นธุรกิจแนวใหม่ ซึ่งหมายถึงพนักงานอาจขาดความมั่นคงด้านการจ้างงาน  หรือผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดจากกฎหมายข้อบังคับต่างๆ ในแต่ละประเทศที่เข้าไปดำเนินงาน เป็นต้น 

ติดตามอ่านเพิ่มเติม กรณีศึกษาธุรกิจแบบ Sharing Economy จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย ได้ที่ เว็บไซต์ยูโอบี – ทิศทางของเศรษฐกิจเชิงแบ่งปันในเอเชีย