ความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) คืออะไร?

ความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) คืออะไร?

จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562 (Thailand Internet User Behavior 2019)

ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ETDA) พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่า 150% ส่งผลทำให้ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 47.5 ล้านคน หรือราว 70% ของจำนวนประชาชนทั้งหมด จากตัวเลขที่พุ่งสูงนี้นับเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามที่ภาครัฐต้องดูแล ส่งเสริม และเฝ้าระวัง เพื่อให้การใช้อินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความมั่นคงปลอดภัยไปพร้อม ๆ กัน

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งจำเป็นจะต้องแย่งชิงตลาดระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้เกิดคำถามในเรื่องความเป็นธรรมของการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการเนื้อหา กับ ผู้ให้บริการโครงข่ายตามมา เพราะถ้าหากผู้ให้บริการเนื้อหาที่มีทุนหนา เช่น google ร่วมมือกับผู้ให้บริการโครงข่าย โดยอาจสนับสนุนเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อตกลงบางประการ เช่น การให้บริการเนื้อหาของตนอย่างรวดเร็วกว่า เป็นต้น เพื่อเป็นการกีดกันหรือสร้างข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งอื่นๆ แล้วนั้น จะมีกฎเกณฑ์หรือหลักปฏิบัติในการรับส่งข้อมูลที่สามารถกำกับดูแลกรณีเหล่านี้ได้บ้างอย่างไร

หลักปฏิบัติดังกล่าวถูกเรียกว่า หลักความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) คือหลักการที่ระบุว่าผู้ให้บริการเครือข่ายรวมถึงรัฐบาลจะต้องจัดการกับข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติภายใต้กฎเกณฑ์พิเศษใดๆ โดยมีแนวคิดที่ว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ควรแบ่งแยกผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยการเก็บค่าบริการที่แตกต่างกันหรือทำการลดความเร็วของผู้ใช้งานบางคนลงให้แตกต่างจากผู้ใช้งานคนอื่น

อันหมายความว่า ผู้ให้บริการโครงข่าย (เช่น True internet, TOT, Comcast, Verizon) จะต้องไม่ให้ความสำคัญกับลักษณะเนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจากผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งเหนือผู้ให้บริการรายอื่น เช่น การลดทอนความเร็ววิดีโอของ Youtube ให้น้อยกว่าความเร็วคอนเทนต์วิดีโอของ Netflix เป็นต้น

ทั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า หลักการของ Net neutrality จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่จะสร้างความเป็นธรรม หรือ ความเป็นกลางระหว่างผู้ให้บริการทุกๆ ราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการรายเล็ก หรือ รายใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนในการเริ่มธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต และกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตอีกด้วย อีกทั้งยังถือเป็นหลักการพื้นฐานของ “เสรีภาพ” บนอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

แต่หลักการดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตมองว่า Net neutrality นี้ทำให้ทางบริษัทหาเงินได้น้อยลงและทำให้นักลงทุนไม่ต้องการลงทุนกับบริษัท ดังนั้นในระยะยาว Net neutrality จะทำให้เกิดผลเสียต่อเครือข่าย อีกทั้งมีบางส่วนเห็นว่า กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลจะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ

ประเด็นเรื่อง Net Neutrality นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากมีมานานตั้งแต่ปี 2000 แต่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนมาถึงปี 2015 จึงเริ่มมีการร่างกฎหมายเพื่อนำหลักการดังกล่าวนำมาใช้ในที่สุด และถึงแม้ว่าจะไม่ได้บังคับให้เป็นกลาง Net Neutrality 100% แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายฝ่ายก็ไม่พอใจ

ดังนั้นจึงส่งผลทำให้แต่ละประเทศมีมุมมองเกี่ยวกับความเป็นกลางทางเน็ตต่างกัน โดยบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์และอินโดนีเซียได้มีการจัดการตามแนวคิดนี้ ในยุโรปมีกฎหมาย Net Neutrality เพื่อควบคุมความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2016 ส่วนกระทรวงการโทรคมนาคมแห่งอินเดียได้ผ่านกฎควบคุม Net Neutrality อย่างเป็นทางการ โดยมีการระบุห้ามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปฏิบัติต่อทราฟฟิกบนอินเทอร์เน็ตอย่างไม่เท่าเทียม เช่น บล็อก ลดแบนด์วิดท์ ให้แบนด์วิดท์เพิ่ม หรือไม่คิดปริมาณข้อมูลโดยแบ่งแยกตามเงื่อนไขต่าง ๆ

สำหรับสหรัฐได้มีการบังคับใช้กฎหมาย Net Neutrality ตั้งแต่ปี 2015 แต่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission) หรือ FCC ของสหรัฐ ลงมติยกเลิกข้อบังคับหลัก Net Neutrality เมื่อเดือนธ.ค. 2017 โดยประธานของ FCC กล่าวว่า Net Neutrality เป็น “ความผิดพลาด” และ “เป็นการกระทำที่ไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อน” และอ้างว่ากฎเหล่านี้ลดความน่าดึงดูดในการลงทุนและขัดขวางการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งผลให้มีกลุ่มผู้คัดค้านหลากหลายกลุ่มพยายามต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อให้ FCC ทบทวนมติ และเรียกร้องให้สภาคองเกรสกลับมติครั้งนั้น นำโดยบริษัทไอที 6 แห่ง (Kickstarter, Foursquare, Etsy, Shutterstock, Expa และ Automattic) ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ในรัฐโคลัมเบียเพื่อฟ้อง FCC จากการยกเลิกหลัก Net Neutrality อย่างไรก็ตามปัจจุบัน The Federal Trade Commission มีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทย เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องใหม่มากและผู้เขียนเห็นว่าอาจต้องใช้เวลายาวนานกว่า เรื่องนี้จะถูกนำมาถกเถียงในเมืองไทยอย่างจริงจัง แต่หากวันหนึ่ง กลุ่มเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งหลายรวมตัวกันขึ้นมา ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสังคมต่อไป เนื่องจากการกำกับดูแลสื่อแบบเป็นประชาธิปไตยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ใช่เพียงส่วนร่วมในแง่ของการกำหนดเนื้อหาเท่านั้น แต่รวมทั้งในแง่การออกแบบนโยบายกำกับดูแลสื่ออีกด้วย

โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์