อันเนื่องมาจากเรื่องจดหมายจากชายทุ่ง

อันเนื่องมาจากเรื่องจดหมายจากชายทุ่ง

ขอเรียนว่า ผมเพิ่งพิมพ์หนังสือแนวความทรงจำเล่มที่ 5 ออกมาชื่อ “จดหมายจากชายทุ่ง” เนื้อหามาจากประสบการณ์ของการร่วมกับกัลยาณมิตรและจิตอาสา

เข้าไปทำโครงการสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานในอ.บ้านนา จ.นครนายก เป็นเวลากว่า 15 ปี เนื่องจากหนังสือเล่มนี้มิได้เขียนขึ้นเพื่อขาย จึงคงไม่เป็นการไม่เหมาะสมที่จะอ้างถึงในคอลัมน์นี้ ท่านที่สนใจในรายละเอียดอาจเขาไปดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com

ในช่วงเวลากว่า 15 ปีมีข้อคิดจำนวนมากเกิดขึ้น ขอพูดถึงข้อคิดหลักอันเกิดจากการสังเกตเหตุปัจจัยที่ทำให้การศึกษาขาดประสิทธิผลจนก่อให้เกิดการบ่นกันอย่างกว้างขวาง เหตุปัจจัยอาจรวมกันได้เป็นหัวข้อชื่อ การขาดความเป็นเจ้าของ ก่อนเขียนต่อไปต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าที่จะเรียนว่า ผมพอมองเห็นปัญหา แต่ยังไม่สามารถแนะนำทางออกแบบเป็นรูปธรรมได้แบบมั่นใจเต็มร้อย

การขาดความเป็นเจ้าของในด้านการศึกษาของเยาวชนเริ่มต้นตั้งแต่ในครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม ยกเว้นในครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาสูงและรายได้ในระดับมั่นคงเช่นเป็นครูที่อาศัยอยู่ในชุมชน โดยทั่วไปครอบครัวที่มีเด็กมิได้เข้าใจ หรือใส่ใจในด้านการปูฐานการศึกษาให้แก่เด็กอย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่เด็กจะเข้าโรงเรียน ผู้ใหญ่มักมีความฝังใจว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของโรงเรียน ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือพ่อแม่ต้องออกไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลไม่ว่าจะเป็นแบบออกในตอนเช้ามืดและกลับตอนดึกของวันเดียวกัน หรือไปทำงานในต่างถิ่นแบบนานๆ กลับบ้านครั้ง โอกาสที่ครอบครัวจะมีความเป็นเจ้าของการจัดการศึกษาให้แก่เด็กยิ่งต่ำลงไปอีก

ครอบครัวรวมตัวกันเป็นชุมชุนรอบโรงเรียน แต่ชุมชนก็มักไม่มองว่าตนเป็นเจ้าของการจัดการศึกษาให้แก่เยาวชน ยิ่งครอบครัวที่ไม่มีเด็กเรียนอยู่ในโรงเรียนด้วยแล้ว ความใส่ใจในโรงเรียนมองได้ว่าไม่มี จริงอยู่ตามทฤษฎี โรงเรียนมีคณะกรรมการโรงเรียนซึ่งมาจากสมาชิกในชุมชน แต่กรรมการได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาให้ดูว่าการจัดการศึกษามีความเป็น สากลหรือทันสมัย ส่วนในความเป็นจริงแทบไม่มีบทบาทอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ชุมชนยังมักมีวัดเป็นองค์ประกอบสำคัญถึงขั้นเป็นศูนย์กลางพร้อมกับเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอีกด้วย แต่วัดในยุคนี้ยิ่งแทบไม่มีบทบาทเกี่ยวเนื่องกับเรื่องจัดการศึกษาของเยาวชน

ทุกตำบลมีองค์การปกครองท้องถิ่นและผู้นำในระบบกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่องค์กรเหล่านี้ก็ไม่มีความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงเพราะส่วนใหญ่แทบไม่มีบทบาทในด้านการจัดการศึกษาไม่ว่าจะเป็นทั้งนอกและภายในโรงเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดนอกจากสมาชิกในครอบครัวของเด็กจึงได้แก่ครูและผู้บริหารโรงเรียน แต่บุคคลเหล่านี้เป็นข้าราชการซึ่งอาจโยกย้ายบ่อยและทำงานไปตามกรอบและคำสั่งของหน่วยที่เหนือกว่า เช่น สำนักงานเขตการศึกษาซึ่งก็ทำงานไปตามนโยบาย หรือคำสั่งของหน่วยเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง หน่วยงานเหล่านี้ไม่มีความเป็นเจ้าของโรงเรียน หรือการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง ร้ายยิ่งกว่านั้น ยังมักเปลี่ยนนโยบายไปตามใจชอบของนักการเมืองซึ่งสลับหน้ากันเข้ามาคุมกระทรวงอีกด้วย

ในภาวะปกติ การจัดการศึกษาก็มีปัญหาดังที่บ่นกันมานานอยู่แล้ว หากเชื้อโรคร้ายจำพวกไวรัสโควิด-19 สร้างวิกฤติบ่อย หรือแบบยืดเยื้อ ปัญหาจะสาหัสยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในด้านการเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มของเด็ก ดังที่เรียนข้างต้น หลังจากทำโครงการมากว่า 15 ปี ผมยังไม่มีทางออกแบบมั่นใจเต็มร้อยมาเสนอนอกจากจะเรียนว่า ประสบการณ์ด้านการพัฒนาชี้บ่งว่า ถ้าโครงการใดไม่มีเจ้าของผู้ใส่ใจแบบใกล้ชิดอย่างแท้จริง โอกาสที่โครงการนั้นจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายมักใกล้ศูนย์ ในกรณีของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หน่วยงานที่เป็นเจ้าของควรต้องเป็นชุมชนรอบโรงเรียน หรือตำบลที่ชุมชนตั้งอยู่ซึ่งรู้สภาพท้องถิ่นของตนดีที่สุด นั่นหมายความว่าควรยุบ หรือลดบทบาทของสำนักเขตการศึกษาจำนวนมากเป็นสิ่งแรก