โควิดและสงครามการค้า

โควิดและสงครามการค้า

ควรเน้นการสามัคคีและแสวงหาความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ความต้องการของมนุษยชาติมุ่งไปที่สันติภาพเป็นหลักนั่นคือ ลดความขัดแย้งและเน้นสร้างความปรองดองในสังคมโลก นับจากนั้นเป็นต้นมาความตึงเครียดระหว่างประเทศก็ไม่เคยขยายวงจนกลายเป็นสงครามใหญ่แบบที่โลกเคยประสบมาถึง 2 ครั้ง

แม้โลกยุคปัจจุบันจะเปลี่ยนรูปแบบมาสู่สงครามการค้าซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ความขัดแย้งก็จำกัดอยู่เพียงแค่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐกับประเทศจีนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่รายใหม่เท่านั้น

ไม่มีใครคิดว่าภัยจากโรคระบาด “โควิด-19” จะสร้างกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะพลเมืองโลกได้เห็นพิษภัยของโลกไร้พรมแดนที่ทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายไปทั่วโลกจนมีผู้ติดเชื้อหลายล้านคนในระยะเวลาสั้นๆ

เราจึงเห็นมาตรการล็อคดาวน์และปิดพรมแดนในหลายๆ ประเทศรวมทั้งบ้านเรา ซึ่งส่งผลให้ประชาชนตกค้างในประเทศต่างๆ มากมายจนต้องรอคอยความช่วยเหลือ และความต้องการพิสูจน์หาที่มาของการระบาดที่หลายๆ ประเทศกดดันให้จีนเปิดให้สอบสวนที่มาอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อจีนไม่ยอมจึงนำมาสู่การโต้ตอบอย่างรุนแรง สงครามการค้าจึงทำท่าจะปะทุขึ้นมาอีกครั้งโดยมีสหรัฐ เป็นผู้นำการต่อต้านจีนเหมือนเช่นเคย โดยทรัมป์เชื่ออย่างฝังหัวว่าจีนหวังจะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในสหรัฐอย่างไม่เป็นธรรม จึงใช้มาตรการกีดกันอุตสาหกรรมจีนทุกรูปแบบโดยเฉพาะการใช้กำแพงภาษี

ความมุ่งมั่นของทรัมป์เป็นสิ่งที่ขัดกับพื้นฐานการเป็นนักธุรกิจของเขาอย่างมาก เพราะการปราศรัยของทรัมป์เน้นการโจมตีจีนแบบเอาเป็นเอาตาย ซึ่งระยะหลังก็ไม่ได้มีเพียงแค่จีนแต่ขยายวงไปถึงประเทศอื่นๆ ที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ จนดูเหมือนทรัมป์อยากเปิดศึกรอบด้านโดยไม่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งๆ ที่ในโลกแห่งความเป็นจริงทุกวันนี้เราปฏิเสธกำลังซื้อจากต่างประเทศไม่ได้เลย เพราะหลายๆ อุตสาหกรรมล้วนอยู่ได้ด้วยการส่งออก ยิ่งภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นปรากฎการณ์หลายๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ตัวอย่างที่น่าสนใจที่สุดคือตลาดส่งออกดอกทิวลิปที่เป็นสัญลักษณ์ของเนเธอร์แลนด์หรือที่เราคุ้นเคยว่าฮอลแลนด์มานับร้อยปี เราจะเห็นการขึ้นลงของราคาดอกทิวลิปได้จากตลาดส่งออกดอกไม้ในเนเธอร์แลนด์เท่านั้น เพราะประเทศนี้มีตลาดประมูลดอกทิวลิปมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17

จนกระทั่งถึงวันนี้เราจึงคุ้นเคยกันดีว่าดอกไม้ที่สวยและคุณภาพดีที่สุดนั้นต้องมาจากฮอลแลนด์ จนทำให้ประเทศนี้มีมูลค่าการส่งออกไม้ประดับสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วยมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท แต่วันนี้เราต้องเห็นภาพที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคือดอกไม้จำนวนมหาศาลต้องถูกทิ้งกลายเป็นขยะกองมหึมา

เพราะเมื่อพรมแดนแต่ละประเทศถูกปิด แม้จะมีคำสั่งซื้อรออยู่ก็ไม่สามารถส่งออกดอกไม้เหล่านี้ไปยังประเทศปลายทางได้ และเมื่อแต่ละประเทศถูกล็อกดาวน์ก็ยิ่งทำให้ไม่มีความต้องการใช้ดอกไม้เหล่านี้ในการประดับตกแต่งโดยสิ้นเชิง ดอกไม้ทั้งหมดจึงถูกทิ้งไป

หากแม้ภาวะโควิด-19 จะหายไปในอนาคต แต่หากยังมีสงครามการค้าต่อเนื่องไปอีกก็น่าคิดว่าเนเธอร์แลนด์จะยังคงทำรายได้จากการส่งออกไม้ประดับได้เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะเชื่อได้ว่าตลาดสำคัญย่อมหนีไม่พ้นจีนและอีกหลายๆ ประเทศในแถบเอเชียแน่นอน

เช่นเดียวกับตลาดส่งออกล็อบสเตอร์ของออสเตรเลียที่ราคาดิ่งลงถึง 80% ในช่วงล็อคดาวน์ และแน่นอนว่ามีจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ หากออสเตรเลียจะเป็นคู่ขัดแย้งกับจีนก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมาในอนาคต

สงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงยิ่งจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลงไปอีก เพราะเรามาสู่ยุคที่ควรจะเน้นการสามัคคี และแสวงหาความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การแก่งแย่งชิงดี มุ่งเอาชนะประเทศอื่นอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้

จะมีประโยชน์อะไรหากประเทศตัวเองยิ่งใหญ่ได้สมความต้องการ แต่ประเทศข้างเคียงและประเทศที่เคยค้าขายกันล่มสลายจนไม่มีกำลังซื้อเหมือนในอดีต