กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังน่ากังวล

กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังน่ากังวล

GDP ในไตรมาส 1 ของไทยประกาศออกมาที่ -1.8% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี แม้ว่าจะดีกว่าตัวเลขที่คาดไว้ -4%

 จากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเติบโต 3% yoy จากแรงกักตุนซื้อสินค้าก่อนการ Lock down และการส่งออกเติบโต 2% yoy ซึ่งหลักๆ มาจากการส่งออกทองคำและอาวุธ ในขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ติดลบค่อนข้างมาก การบริการซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรค COVID-19 ติดลบ -29.8% yoy การลงทุนของเอกชน -5.5% yoy จากการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง การลงทุนของภาครัฐ ติดลบ -9.3% yoy จากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณ ส่วนภาคการผลิตการเกษตร -5.7% yoy จากภาวะภัยแล้ง

ตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 1 ออกมาเติบโตติดลบ -52.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว และติดลบ -42.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มที่พลิกจากกำไรเป็นขาดทุน คือกลุ่มพลังงาน ที่ถูกบันทึกขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงคลัง จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงแรงในเดือนมีนาคม กลุ่มที่กำไรสูงสุดหดตัวรองลงมาคือกลุ่มธุรกิจในภาคบริการ กำไรหดตัว -46.0% yoy -45.5% qoq โดยกลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ (ไม่รวม THAI และ NOK ที่เลื่อนการประกาศงบการเงิน) พลิกเป็นขาดทุน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ที่เหลือเพียง 6.7 ล้านคน คิดเป็น -38% yoy โดยนักท่องเที่ยวจีนลดลงประมาณ 60% yoy จากการปิดเมืองหลายเมืองในประเทศจีน และมาตรการ Lock down ของไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้การเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศหยุดชะงัก กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กำไรหดตัว -43.7% yoy -36.1% qoq จากผลกระทบต่อเนื่องของมาตรการควบคุม LTV ของธปท. ในปีที่แล้ว ผนวกกับกำลังซื้อในประเทศอ่อนตัว และผู้ประกอบการมีการออกโครงการใหม่ๆ น้อยลง

กลุ่มธนาคารพาณิชย์กำไรหดตัว -10% yoy จากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เนื่องจากความอ่อนแอของคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงการบันทึกขาดทุนทางบัญชีจำนวนมาก จากราคาสินทรัพย์ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนที่ธนาคารเข้าไปลงทุนปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ในช่วงตลาดการเงินโลกผันผวนในเดือนมีนาคม ส่วนกลุ่มโรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กำไรเติบโตลดลง -54.7% yoy หลักๆ มาจากกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ลูกค้าต่างชาติหายไป ในขณะที่โรงพยาบาลขนาดกลาง - เล็ก มีเคสผู้ป่วยลดลงเช่นกัน เนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น แม้แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ค่อนข้าง Defensive ก็ประกาศกำไรหดตัวเช่นกัน หลักๆ มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทที่อ่อนค่า เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่มีหนี้ต่างประเทศ

ส่วนกลุ่มที่กำไรยังเติบโต ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์เติบโต 8.7% yoy จากอานิสงค์ของเงินบาทอ่อนค่า และคำสั่งซื้อที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงต้นปี กลุ่มอาหารกำไรยังเติบโตได้ดีจากราคาหมูและไก่ในต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น และได้รับอานิสงค์จากเงินบาทอ่อนค่าเช่นกัน

จะเห็นว่าในไตรมาส 1 นั้นแม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพียง 1 เดือนโดยประมาณ แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนหดตัวค่อนข้างรุนแรง ดังนั้น ในไตรมาสที่ 2 กำไรจึงมีแนวโน้มหดตัวสูงกว่าในไตรมาสแรก โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะได้รับผลกระทบทางลบโดยตรงจากเศรษฐกิจหดตัวทำให้อาจต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น อีกทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะลดลงมาก จากการลดดอกเบี้ยนโยบายของธปท. อีกครั้งในวันที่ 20 พฤษภาคม ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สายการบิน สนามบิน กำไรจะหดตัวลงจากไตรมาส 1 เช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับมาเดินทางในระยะเวลาอันใกล้ อีกทั้งการท่องเที่ยวในประเทศยังไม่อาจทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทั้งหมด

ทว่า SET Index ปรับตัวขึ้นในลักษณะ V- Shape สวนทางกับกำไร โดยกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาดในปี 2020 ล่าสุดถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 65.1 ทำให้ระดับดัชนีที่บริเวณ 1,320 จุด คิดเป็นค่าพีอีสูงถึง 20.3 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 14-15 เท่า ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว การเติบโตของ GDP ในปีนี้อาจติดลบกว่า -5%  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ยังมีแนวโน้มหดตัว ทำให้อาจมีแรงขายทำกำไรค่อนข้างมาก หากดัชนีปรับตัวขึ้นสูง ดังนั้น สำหรับการเข้าลงทุนในระยะนี้ นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มที่ผลประกอบการขาดทุน หรือกำไรหดตัวแรง และเน้นเลือกลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อย และมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วหากสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปรกติ และใช้ความระมัดระวังในการลงทุนครับ