เมืองเปิดแต่ปัญหาไม่จบ

เมืองเปิดแต่ปัญหาไม่จบ

วิกฤติ Covid-19 กำลังสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไปทั่วโลก เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะหยุดชะงัก

 เพราะความกังวลเรื่องการติดเชื้อทำให้ต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ

ในปีนี้เราอาจจะเห็นเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และหากปัญหาการติดเชื้อไม่จบง่ายๆ หรือจบไปแล้วกลับมาแพร่ระบาดอีกรอบ เราอาจจะไม่เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบตัว  “V” ที่หลายๆ คนตั้งความหวังไว้

เพราะเชื้อโรคได้แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว กว่าที่โลกจะกลับไปเหมือนเดิม เราอาจจะต้องรอให้มีการค้นพบวัคซีน รอให้มีการผลิตให้เพียงพอจำนวนคนสักครึ่งโลก และรอให้คนคลายความกังวลเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งอย่างน้อยๆอาจจะกินเวลาถึง 12-18 เดือน

กว่าเราจะกลับไปสู่ภาวะ “ปกติ” เหมือนเดิม เราอาจจะต้องอยู่กับโลกที่ “ไม่ปกติ” ไปอีกสักระยะ และเป็นโลกที่เศรษฐกิจดำเนินไปต่ำกว่าระดับศักยภาพของเศรษฐกิจ อาจจะเป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีคนเดินทางแบบเดิมๆ เศรษฐกิจที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากแบบเดิม เศรษฐกิจที่ร้านค้า ร้านอาหารถูกจำกัดปริมาณผู้เข้าใช้บริการ เศรษฐกิจที่บังคับใช้มาตรการต่างๆ และเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความกังวลและหวาดระแวง

แม้เมืองจะเริ่มเปิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ธุรกิจบางแห่งอาจจะยังไม่สามารถกลับไปทำกำไรได้เหมือนเดิม และอาจจะไม่มีงานเพียงพอที่จะรองรับแรงงานจำนวนมากที่ถูกให้ออกจากงาน และปัญหาการว่างงานคงจะยังเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปอีกสักระยะ  มีโอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ ทั้งธุรกิจและรายย่อย แบบที่เราอาจจะไม่เคยเจอมาก่อน

แม้ว่าครั้งนี้ เราจะโชคดีที่วิกฤติเกิดขึ้นระหว่างที่ระบบธนาคารทั่วโลกมีความแข็งแกร่ง เพราะเพิ่งจะผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาจากวิกฤตครั้งก่อน ธนาคารส่วนใหญ่จึงมีทุนเพียงพอ และยังไม่มีปัญหามากนัก แต่ก็คงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้

เราเริ่มเห็นสัญญาณของปัญหาเริ่มขึ้น ตั้งแต่ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวน นักลงทุนกังวลเรื่องความเสี่ยงจนเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงออกมา เพราะไม่มีความมั่นใจกับสถานะและความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ จนกลายเป็นวิกฤติของตลาดรอง และลามไปถึงกองทุนหุ้นกู้ จนกระทั่งธนาคารกลางต่างๆ ต้องออกมาอุ้มหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดรอง

แม้แต่ผู้ออกตราสารคุณภาพดียังมีปัญหาในการระดมทุนและต่ออายุตราสาร จนธนาคารกลางต่างๆ ก็ต้องออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดแรก และธนาคารกลางทั่วโลกยังช่วยจัดหาสภาพคล่องผ่านภาคธนาคารในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loans) เพื่อให้ผู้กู้ในระบบมีสภาพคล่องเพียงพอให้ผ่านช่วงเวลาที่มีการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจและธุรกิจไปให้ได้

สังเกตว่า วิธีการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลก คือการจัดหาสภาพคล่องให้มีอย่างเพียงพอ ลดความตื่นตระหนกของตลาด และทำให้สภาพคล่องไปถึงมือผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงเป้าหมายและทั่วถึง เพื่อเยียวยารักษาธุรกิจและครัวเรือนให้รอดชีวิตให้นานที่สุด เพราะเชื่อว่าปัญหานี้เป็นปัญหาชั่วคราว เมื่อปัญหา Covid นี้หายไป ธุรกิจเหล่านี้น่าจะยังคงอยู่รอดได้ และกลับมาผลิตรายได้ให้กับประเทศได้อีกครั้ง

แต่ถ้าปัญหาการหยุดชะงักของกระแสเงินสดและธุรกิจในครั้งนี้ ไม่ใช่ “ชั่วคราว”? ถ้าธุรกิจยังคงขาดกระแสเงินสดแม้เมืองเริ่มเปิดกลับมาแล้ว?

เราเริ่มเห็นธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เริ่มขอเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือกระบวนการล้มละลายกันแล้ว ทั้งธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจรถเช่า ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆจำนวนมากโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีสายป่านไม่ยาวพอ กำลังได้รับผลกระทบเพราะไม่รู้ว่าจะกลับมาเปิดได้เมื่อไร หรือแม้กลับมาเปิดได้แล้วจะกลับมามีกำไรหรือไม่

นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนก็มีแนวโน้มจะมีการผิดนัดชำระหนี้กันมากขึ้น แม้ว่าจะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ และเลื่อนการชำระหนี้ออกไป แต่ถ้ารายได้ไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้คงไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน และจะกลายเป็นปัญหาที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน ที่จะมีผลกระทบอย่างกว้างไกล ทั้งกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ครัวเรือน เศรษฐกิจ และสังคม

ภาครัฐและภาคเอกชน คงต้องเริ่มคิดว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไรให้เกิดความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด จะจำกัดวงของปัญหาไม่ให้ลามออกไปจนเกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม จะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรใหม่ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วได้อย่างไร กระบวนการฟื้นฟูกิจการ กระบวนการล้มละลาย และบังคับทรัพย์ที่มีอยู่ เพียงพอและพร้อมจะรับกับปัญหาที่กำลังจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่

ที่สำคัญคือรัฐต้องเข้ามา “ช่วยเหลือ” ธุรกิจเหล่านี้หรือไม่ จะต้องใช้เงินเท่าไร และรูปแบบการใส่เงินใหม่ควรเป็นอย่างไร เพราะเงินกู้อาจจะไม่ตอบโจทย์แล้ว และเพราะทรัพยากรทุนมีจำกัด เราจะเลือกช่วยใคร หรือไม่ช่วยใคร?

...น่าคิดนะครับ!