“New Normal ที่ยั่งยืน”

“New Normal ที่ยั่งยืน”

ในช่วงที่วิกฤติโควิด-19 ยังคงอยู่กับเรา คำว่า New Normal (ความปกติใหม่ หรือ ฐานชีวิตใหม่)

กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนถามหา เพราะกระทบกับการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างมากและรวดเร็วจนตั้งตัวกันแทบไม่ทัน

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ 4 ประการ มีการคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งแนวโน้มการอยู่อาศัยที่ต้องการพื้นที่มากขึ้น บ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์จะมาแรงแซงคอนโดมิเนียม การออกแบบที่ต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไร รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในยุคที่การสัมผัสกันกลายเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นอย่างไรจะต้องตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้เป็นสำคัญ แม้จะยากที่จะยอมรับแต่ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤติโควิด-19 ได้กระตุ้นและเร่งให้เกิดการแก้ปัญหาในแต่ละจุดอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ แล้ว เช่น การเว้นระยะห่าง การรักษาความสะอาดอย่างถูกต้องฯลฯ โดยไม่รู้ตัว จากความกลัวในใจ และความห่วงใยในสุขภาพตนเองและคนรอบข้าง ผู้คนจึงหันมาดูแลตนเองอย่างดี และช่วยป้องกันทั้งครอบครัว ชุมชน และประเทศ โดยร่วมกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในองค์ประกอบ 4 ประการ คือ 

1.Privacy มีพื้นที่ส่วนตัวของตนเองไม่ปะปนกับคนอื่น 2.Virtual ทำธุรกรรมทุกอย่างผ่านสื่อออนไลน์ 3.Distance และ Touch-less เพื่อรักษาระยะห่างและป้องกันการติดเชื้อ และ 4.Mine หรือของส่วนตัวที่ไม่แบ่งปันกับคนอื่น ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวเป็นการปรับตัวตามความจำเป็นในช่วงการแพร่ระบาดในระยะสั้น

ส่วนในระยะยาว แน่นอนว่าคนจะหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและสุขภาวะกันมากขึ้น รวมถึงต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยให้การใช้ชีวิตปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่เทคโนโลยีเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คำถามสำหรับผู้ประกอบการ คือ จะทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างสมดุลไม่ให้เป็นภาระแก่ลูกค้าในระยะยาว และปรับเปลี่ยนได้โดยไม่มีต้นทุนที่สูงจนเกินไป และควรพิจารณาพื้นฐานการออกแบบอย่าง Back to Basic โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดในการออกแบบที่ดี ตัดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นลงจนเหลือเพียง “แก่น” ที่จำเป็นต่อการอยู่อาศัย คุ้มค่ากับประสิทธิภาพที่ได้รับ ซึ่งปัจจัยสำคัญแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล และ ส่วนที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

ในส่วนที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ได้แก่ 1.ลดการสัมผัส เช่น ปรับวิธีใช้ Lift ผ่านคีย์การ์ด หรือประตูอัตโนมัติ 2.ศึกษาและสนับสนุนการทำกิจกรรมผ่านออนไลน์ 3.ดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพส่วนตัว และส่วนรวม เช่น การติดเครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermoscan) อุปกรณ์ส่งเสริม/คัดกรองสุขภาวะ (Health Device) 4.การไม่ใช้เงินสด ซึ่งจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ หรือ การยืนยันตัวตนด้วย ID

ส่วนที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ได้แก่ การ Work from Home และการรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้อาจไม่ได้เกิดหรือปรับตัวได้ง่าย แต่ในระยะสั้น ต้องเตรียมความพร้อม เช่น จำกัดจำนวนคนในการใช้พื้นที่ หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อกั้นพื้นที่ระหว่างกัน

ด้วยตัวแปรหลายประการ ทั้งรายได้ครัวเรือน ความจำเป็นในการใช้ชีวิตในเมือง การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น Mass Transit ที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความที่มนุษย์จำเป็นต้องมีสังคม จึงเห็นได้ว่าเพียงแค่การล็อคดาวน์ 1-2 เดือน ทุกคนต่างโหยหาที่จะได้พบปะ ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างปกติ โดยส่วนตัว จึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการอยู่อาศัย จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้สมดุลของภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และราคาที่อยู่อาศัยที่จับต้องได้

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาด ย่อมมีวิสัยทัศน์และแนวนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อแนวคิดในการออกแบบและพัฒนาโครงการ และหากสังเกตกันดีๆ แล้ว วิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยแต่ละครั้ง ล้วนมีเหตุและปัจจัยที่ต่างกัน อย่างเช่นครั้งที่น้ำท่วมใหญ่ และวิกฤติโควิด-19 นี้ การบริหารจัดการชุมชนหลังเข้าอยู่อาศัยที่สามารถรับมือกับทุกวิกฤติที่ถูกต้อง เหมาะสม และรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งสำคัญ การทำความเข้าใจในพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียเป็นสิ่งที่มีค่าและสามารถประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในทุกทาง และไม่ว่าจะต้องพบเจอกับเหตุวิกฤติใดๆ ย่อมสร้างให้เกิด “New Normal” ที่สร้างความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้หลังจากนั้นอย่างแน่นอน