ระบบ Incentives ที่ใช้กับโรงพยาบาลท้องถิ่น ที่สหรัฐ

ระบบ Incentives ที่ใช้กับโรงพยาบาลท้องถิ่น ที่สหรัฐ

ระบบสุขภาพของรัฐบาลส่วนท้องถิ่น (Local government) ที่สหรัฐ มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ และน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้

เรื่องหนึ่งที่รัฐบาลกลางสหรัฐใช้เป็นตัวชี้วัดการให้ค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินเพิ่มพิเศษกับโรงพยาบาลท้องถิ่น คือเรื่องอัตราการกลับเข้ามาเป็นคนไข้ใน (Readmission) ของผู้ป่วยหมายความว่า ยิ่งโรงพยาบาลสามารถลดอัตราการกลับเข้ารักษาตัวของผู้ป่วยตั้งแต่ครั้งที่ 2ได้มากเท่าไร รัฐบาลกลาง (Federal government) ก็จะมีเงินเพิ่มให้โรงพยาบาลมากขึ้นเท่านั้น

งบประมาณหรือรายได้ของโรงพยาบาลท้องถิ่นที่สหรัฐนั้นมาจากงบประมาณของรัฐบาลส่วนท้องถิ่น (Local government) มูลนิธิที่ก่อตั้งโรงพยาบาล องค์กรเอกชนที่สนับสนุน และค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยที่มารับการรักษาพยาบาล เพราะโรงพยาบาลท้องถิ่นที่สหรัฐประมาณ 75% อยู่ในรูปแบบนี้ มีเพียงประมาณ 25% ที่เป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือ Public Hospital อย่างเดียว และส่วนที่นอกเหนือจากนั้นจะเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง หรือ Federal Government

รัฐบาลกลางไม่เพียงให้งบประมาณตามที่ตั้งงบรายจ่ายประจำปีเท่านั้น แต่มีมาตรการอย่างอื่นที่ทำให้โรงพยาบาลสามารถได้รับเงินเพิ่มจากรัฐบาลกลางได้ ถ้าทำอย่างไรให้คนไข้ลดลงและมาตรการลดอัตราการกลับเข้ามารับการรักษาเป็นผู้ป่วยภายในอีกหรือ Readmission ก็เป็นมาตรการหนึ่งจึงกลายเป็นว่า ยิ่งทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลอีกได้เท่าไร ก็ยิ่งทำให้ได้รับเงินพิเศษจากรัฐบาลกลางมากขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่าโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้นมีความหลากหลายแต่ก็มีการทำวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ติดบุหรี่และต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นคนไข้ในเนื่องจากเป็นโรคต่างๆจากการสูบบุหรี่นั้น ถ้าต้องกลับเข้ามาเป็นคนไข้ในอีก หรือ Readmission อัตราการเสียชีวิตจะสูงมากกว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นครั้งแรกหลายเปอร์เซ็นต์ รัฐบาลกลางก็เลยใช้มาตรการกระตุ้นโรงพยาบาลว่า ทำอย่างไรให้ลดการเข้าโรงพยาบาลอีก และให้เงินพิเศษเป็น Incentives สำหรับการลดจำนวนผู้ที่กลับมาเป็นคนไข้ในใหม่

ตรงนี้ต่างจากวิธีคิดของบ้านเรา ที่งบประมาณของโรงพยาบาลจะอยู่ที่จำนวนการให้บริการ ยิ่งต้องให้บริการมาก ก็ยิ่งต้องใช้งบประมาณมาก จึงต้องตั้งเบิกสูงเข้าไว้เพื่อให้เพียงพอที่จะใช้ในการให้บริการประชาชน แต่ถ้าโรงพยาบาลเกิดมีการให้บริการลดลง นั่นก็หมายความว่างบประมาณของโรงพยาบาลก็จะต้องลดลงด้วยมาถึงตรงนี้ แล้วพอจะมองเห็นวิธีคิดของเขากับของเราต่างกันวิธีคิดของเขานั้น ให้เงินเพิ่มจากการที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลลดลง แต่ของเราให้เงินเพิ่มจากการให้บริการเพิ่มขึ้น (แต่จริงๆจะได้มากขึ้นหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับตัวแปรอื่นอีก)

วิธีคิดแบบนี้ ไม่ใช้เฉพาะกับโรงพยาบาล แต่ใช้กับโรงเรียนของรัฐด้วย เช่น ถ้าโรงเรียนไหนทำให้นักเรียนได้รับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้น อัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันลดลง โรงเรียนก็จะได้เงินเพิ่มจากรัฐบาลกลางทำให้โรงเรียนมีเงินเพิ่มสำหรับการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ได้อยู่ที่จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น มีอัตราครูมากขึ้น จึงต้องใช้งบประมาณมากขึ้น เหมือนบ้านเรา เท่าที่ติดตามวิธีเพิ่มเงินพิเศษของโรงเรียนที่รัฐบาลใช้มาตรการเสริมนี้ ปรากฎเป็นผลดีกับทางโรงเรียนในระดับหนึ่ง เพราะเงินเพิ่มสามารถนำมาใช้ขยายกิจกรรมเสริมได้มากขึ้นโรงเรียนก็ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นอีกแต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการทำงานหนักของแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาล และครูในโรงเรียนคนละเรื่องกัน