'Hybrid Learning' คำตอบการเรียนรู้ในอนาคต

'Hybrid Learning'  คำตอบการเรียนรู้ในอนาคต

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการเรียนรู้ อย่างน้อย 3 อย่างที่จะทำให้การเรียนออนไลน์ประสบความสำเร็จ

เปิดเทอมใหญ่คราวนี้ หัวใจว้าวุ่นค่ะ ประเด็นร้อนที่พูดถึงกันคือ การเรียนออนไลน์ของเด็กประถมว่า  จะส่อแววล่ม รวมถึงผลกระทบต่อเด็กที่เริ่มมีอาการอาเจียนมึนศีรษะ และข่าวผู้ปกครองที่ออกมาระบายความเดือดร้อนจากการเรียนออนไลน์

ดิฉันในบทบาทคุณแม่ลูกสอง ที่ลูกสาววัยประถมต้องเรียนออนไลน์มากว่าสองเดือนแล้ว ทีแรกคิดว่าเอาอยู่ เพราะเราเองก็เป็นวิทยากรให้ความรู้ทั้งออฟไลน์ออนไลน์ ผ่านไปไม่ถึง 2 วัน บอกตามตรงว่าสาหัสจริงๆ

ไหนจะต้อง Work From Home ประชุมออนไลน์ ตื่นมาต้องเช็คตารางประชุมออนไลน์ของเราเอง เช็คตารางเรียนออนไลน์ให้ลูก ไม่ทันไร ได้เวลาอาหาร 3 มื้ออีกแล้ว บ่อยมากที่ลูกไม่ให้ความร่วมมือ เพราะเมื่อแม่พร้อมสอน แต่ลูกกลับไม่พร้อมเรียน ทำให้ต้องตะโกนใส่หัวลูกบ่อยๆ สุดท้ายเราเองนั่นแหละที่กลับนั่งสำนึกผิด

ทางโรงเรียนมีการปรับวิธีการสอนเกือบทุกสัปดาห์ มาลงเอยที่วิธีที่ดิฉันขอเรียกว่า Hybrid Learning คือ ผสมผสานระหว่างเรียนออนไลน์ การเจอคุณครูผ่าน Virtual Platform และกิจกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน อะไรที่เป็นทฤษฎีให้ไปเรียนออนไลน์ อะไรที่เป็นเทคนิคที่ครูต้องสอน จะทำผ่าน Zoom และเพิ่มกิจกรรมหลายอย่าง เพื่อไม่ให้เด็กติดจอ ซึ่งถือว่าดีขึ้นมาก

บทเรียนที่ดิฉันได้รับในช่วง 2 เดือนนี้ สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จของการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างน้อย 3 อย่างนี้

1.เข้าใจเป้าหมายของคำว่า “การเรียนรู้ การเรียนรู้ในโรงเรียนไม่ได้เพียงสอนความรู้ แต่ยังมุ่งเน้นให้เด็กเติบโตทั้งด้านอารมณ์และสังคม ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ การศึกษาของผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน องค์กรส่งพนักงานมาอบรม มากกว่าได้ความรู้คือ หวังให้นำความรู้กลับไปใช้ให้เกิดผลจริง เพื่อการเติบโตของตัวผู้เรียนเอง ของทีมและองค์กร ยิ่งการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ทำงานร่วมกับคนอื่น มีคนมากมายได้รับประกาศนียบัตรจากการเรียนออนไลน์ ในขณะเดียวกัน มีคนอีกมากมายที่กำลังเผชิญความท้าทายกับการใช้ความฉลาดทางอารมณ์และสังคมเพื่อนำรู้เหล่านั้นมาใช้ให้เกิดผล เมื่อเป้าหมายนี้เคลียร์ สิ่งที่น่ากลับมาคิดคือ การเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียวยังตอบโจทย์คำว่า “การเรียนรู้” อยู่หรือไม่

2.ความพร้อมของผู้สอน 

ความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ดิฉันคิดมาเสมอว่า สมัยนี้ทุกคนมีมือถือ สมาร์ทโฟน เราสามารถเรียนผ่านมือถือที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งอาจจะจริงสำหรับการเรียนรู้บางอย่าง แต่หากต้องตั้งใจ จดจ่อเรียนอย่างจริงจังเป็นระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่เจอออุปสรรคมากเหลือเกิน ทั้งจากหน้าจอที่เล็กเกินไป บางฟังก์ชันที่ใช้ได้ไม่เต็มรูปแบบ และความเครียดที่เกิดจากการอยู่หน้าจอนานๆ

ความพร้อมในเรื่องทักษะ ทั้งทักษะการใช้เทคโนโลยีการสอน รวมถึงการออกแบบหลักสูตรที่เหมาะกับการเรียนรู้แบบไม่เจอตัว ในช่วงแรกๆ มีหลายครั้ง Login เข้าไปแล้วไม่เจอครู เพราะครูเองก็ยังหาทางเข้าไม่เจอเหมือนกัน บางครั้งเรียนไปสักพัก คุณครูหลุดหายไป กว่าจะกลับมาอีกรอบ เด็กๆ หมดอารมณ์ เอาจริงๆ เห็นใจคุณครูนะคะ เพราะไม่ใช่ครูทุกคนที่ถูกเทรนมาพร้อม แต่สถานการณ์ตอนนี้มันบังคับ The show must go on

3.ความอยากของผู้เรียน ข้อนี้สำคัญมาก จะชวนลูกสาวมาซ้อมคูณเลข แค่ลูกพูดว่า “ไม่อยากเรียน” เดาได้เลยว่าสนามรบกำลังเริ่มแล้ว ต้องเอาขนมเอาของเล่นมาล่อ คุณแม่นี่หัวร้อนเลย ต้องขอยกย่องคุณครูเลยนะคะ เชื่อว่าจิตวิญญาณคนเป็นครู ไม่ได้เพียงให้ความรู้ แต่ต้องให้ความรัก ความเมตตาแก่เด็ก ผ่านจิตวิทยาสร้างบรรยากาศให้เด็กอยากเรียน มากกว่าเพียงถูกบังคับให้มานั่งเรียน ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะทำผ่านหน้าจออย่างไร การเรียนของผู้ใหญ่เองก็เช่นเดียวกัน สมัยนี้เนื้อหาเรียนออนไลน์ฟรีๆ มีเยอะ แต่ถ้าเลือกได้คนอยากควักกระเป๋าเสียเงินดูหนังออนไลน์ดีกว่า​ โลกแห่งการเรียนรู้ในวันนี้ เนื้อหาจึงไม่สำคัญเท่าความอยาก

องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ ใช้การเรียนรู้แบบ Hybrid ที่ไม่ได้มีแค่การบทเรียนออนไลน์ แต่รู้ว่าเรื่องไหนเหมาะกับออนไลน์ เรื่องไหนต้องผสมผสานรูปแบบการเรียนรู้หลากหลาย รวมถึงใช้โอกาสจากการเจอกัน มาสร้างบรรยากาศ สร้างความผูกพันและวัฒนธรรมให้คนอยากเข้าไปเรียนออนไลน์

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คุณครูถามเด็กๆ ผ่าน Zoom ว่า หากพรุ่งนี้โควิด-19 หายไป สิ่งแรกที่อยากทำคืออะไร เด็กๆ พร้อมใจกับตอบว่า “อยากไปโรงเรียน”

ดิฉันแอบเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของคุณครูผ่านหน้าจอ เชื่อว่า  คุณครูก็คิดถึงเด็กๆ ไม่แพ้กัน ขอภาวนาให้ทุกอย่างดีขึ้นเร็วๆ เด็กๆ กับคุณครูจะได้กลับไปเจอกัน เป็นกำลังใจให้คุณครูและพ่อแม่ทั่วประเทศค่ะ