ดาวรุ่งดิจิทัลในช่วงวิกฤติ Covid-19

ดาวรุ่งดิจิทัลในช่วงวิกฤติ Covid-19

ผลประกอบการของบริษัทแอปเปิ้ลในไตรมาสที่ Q2/2020 อยู่ที่ 58,300 ล้านดอลลาร์ซึ่งนับว่าสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์จากนักวิเคราะห์

เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโรค Covid-19 ซึ่งทำให้รายได้จากไอโฟนลดลงมาที่ 29,000 ล้านดอลลาร์ แต่ช่วงเวลาการอยู่บ้านก็ทำให้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊คและแอพในเครือได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ผ่านมามีผู้ใช้เฟซบุ๊คเฉลี่ยถึง 1,730 ล้านรายต่อวันหรือ 2,600 ล้านรายต่อเดือน และสร้างรายได้ให้เฟซบุ๊คเพิ่มขึ้น 18% เป็น 17,740 ล้านดอลลาร์

ในขณะเดียวกัน Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลได้ประกาศผลประกอบการของไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์โดยนักวิเคราะห์ที่ 33,700 ล้านดอลลาร์ลบค่าใช้จ่ายในการนำผู้ชมเข้าสู่แพลตฟอร์ม โดยกูเกิลประมาณว่าผลจาก Covid-19 ทำให้ภาพรวมของรายรับจากการโฆษณาลดลงถึง 16% แต่รายรับผ่าน YouTube กลับเพิ่มขึ้นกว่า 33% เป็น 4,040 ล้านดอลลาร์และบริการ Google Cloud เพิ่มขึ้นถึง 52% เป็น 2,700 ล้านดอลลาร์

มาตรการอยู่บ้านและ Lockdown ในหลายประเทศได้ส่งผลต่อกลุ่มบริษัทดิจิทัลและสตาร์ทอัพน้อยใหญ่ โดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจด้านการเดินทางและที่พัก จนสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังนักลงทุนรายใหญ่อย่าง SoftBank และกองทุนที่เกี่ยวข้อง

ฝันร้ายของ Airbnb และ Uber

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจการเดินทาง การท่องเที่ยวและที่พัก เกิดผลกระทบต่อสตาร์ทอัพชั้นนำอย่าง “Airbnb” ที่เปิดตัวในปี 2008 ซึ่งดีสรัปอุตสาหกรรมโรงแรมอย่างหนัก และถูกประเมินมูลค่าตลาดกว่า 31,000 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้จะทำรายได้กว่าถึง 4,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 แต่บริษัทก็แสดงผลขาดทุนถึง 674 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากการใช้เงินในการลงทุนด้านความปลอดภัยและเทคโนโลยีของแพลตฟอร์ม ตลอดจนด้านการตลาดและการเข้าซื้อกิจการของ HotelTonight และ Urbandoor โดยมีข่าวว่า Airbnb อาจเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2020

ผลกระทบจาก Covid-19 ทำให้ Airbnb จำต้องลดพนักงานลง 25% หรือเท่ากับ 1,900 ตำแหน่งและคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ลดลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รวมถึงการใช้งบประมาณกว่า 250 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเจ้าของบ้านที่เดือดร้อนจากการยกเลิกห้องพักในช่วงเวลานี้ จนทำให้ต้องหาเงินทุนเพิ่มอีก 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในกิจการ นอกจากนี้เชื่อว่าผลกระทบจากเชื้อโรคร้ายจะทำให้ผู้เช่าเกิดความวิตกในการตัดสินใจเลือกที่พัก ซึ่งต้องคำนึงถึงการรักษาความสะอาดของห้องพักและสถานที่ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล รวมถึงเงื่อนไขในการยกเลิกการจองห้องพักและการขอเงินจองคืน จนอาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการเลือกจองห้องพักหลังจากนี้

ขณะที่ Uber ซึ่ง SoftBank ร่วมลงทุนอยู่ถึง 7,700 ล้านดอลลาร์มีผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2020 อยู่ที่ 3,540 ล้านดอลลาร์แต่ก็ยังขาดทุนอยู่ถึง 2,900 ล้านดอลลาร์ โดยผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคทำให้ Uber ต้องลดพนักงานลง 3,700 ตำแหน่งหรือคิดเป็น 14% ของจำนวนพนักงาน 26,900 ตำแหน่ง รวมถึงการปิดศูนย์บริการลง 180 แห่ง

 

ศึกใหญ่ของ SoftBank

หลังจากที่ SoftBank ก่อตั้ง The Vision Fund ขึ้นในปี 2017 ด้วยเงินกองทุนถึง 100,000 ล้านดอลลาร์จากการร่วมลงทุนของกลุ่มทุนรายใหญ่ อาทิ Public Investment Fund (PIF) จากซาอุดีอาระเบียที่ 45,000 ล้านดอลลาร์ และ Mubadala Investment ของอาบูดาบีที่ 15,000 ล้านดอลลาร์ และการลงทุนจาก SoftBank ที่ 38,000 ล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพระดับ Unicorn อาทิ กลุ่มบริการรถร่วมเดินทางอย่าง Uber, Didi, Grab, Ola ซึ่งได้ลงทุนแล้วกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดจนการลงทุนใน OneWeb, Slack, Oyo และ WeWork

ในปี 2019 WeWork มีผลประกอบการที่ขาดทุนถึง 6,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้ง SoftBank และกองทุน Vision Fund ตัดสินใจเข้าเพิ่มเงินลงทุนรวมถึง 14,250 ล้านดอลลาร์เพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัท และเข้าดูแลการบริหารกิจการของบริษัทในเดือนตุลาคม 2019 ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค Covid-19 ในต้นปี 2020 จึงทำให้ SoftBank และ Vision Fund ขาดทุนอย่างหนักจากกลุ่มบริษัทที่ร่วมลงทุนอยู่

ในกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา SoftBank คาดว่ากองทุน Vision Fund ซึ่งขาดทุนติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สามอาจขาดทุนเป็นเงิน 16,500 ล้านดอลลาร์ และเป็นเหตุให้ SoftBank ขาดทุนถึง 12,500 ล้านดอลลาร์ซึ่งนับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด Masayoshi Son ซีอีโอของ SoftBank ได้ตัดสินใจขายสินทรัพย์กว่า 41,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเข้าซื้อหุ้นของ SoftBank เพิ่มและเพื่อลดหนี้เสียของบริษัท

 

ธุรกิจหลัง Covid-19

ในเดือนสิงหาคม 2019 ธุรกิจของ SoftBank แสดงผลกำไรจากการลงทุนถึง 10,600 ล้านดอลลาร์ แต่ในต้นปี 2020 เชื้อโรค Covid-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงกับธุรกิจอย่างหนัก พร้อมทั้งขยายผลกระทบไปในธุรกิจทุกประเภทอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยกลุ่มที่มีโอกาสดี ได้แก่ กลุ่มออนไลน์แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ออนไลน์เกมส์ โซเชียลมีเดียเช่น TikTok ออนไลน์เลิร์นนิ่ง และบริการคลาวด์คอมพิวติ้ง ในขณะที่ธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยว เดินทาง ที่พัก รถยนต์ เชื้อเพลิง ตลอดจนแฟชั่นและอุปกรณ์ไฟฟ้ากลับได้รับผลกระทบอย่างมาก

เชื่อว่าเมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสงบลง ธุรกิจที่ได้รับความนิยมตลอดจนพฤติกรรมของผู้คนอาจเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการทำงานและการใช้ชีวิตในช่วงระหว่างการอยู่บ้าน จึงอาจสร้างธุรกิจดาวรุ่งดิจิทัลกลุ่มใหม่ที่ตรงใจผู้คนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของโลก จนเกิดเป็นโอกาสให้แก่นักคิดและพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง