สภาเด็ก

สภาเด็ก

ตอนที่ดูการทำงานในรัฐสภาของเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ฝ่ายค้านแล้วก็รู้สึกว่ากระดูกยังอ่อนมากเลย

แล้วจะเอาอะไรไปสู้กับฝ่ายรัฐบาลวันแถลงนโยบายรัฐบาล

ถกกัน 3 วัน รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พูดทีเดียว นั่งเงียบเป็นเป่าสาก ค้านไม่ได้สักคำ วันอภิปรายแบบไม่ลงมติ 9 ชั่วโมง รองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองาม เลคเชอร์ให้ฟัง นั่งกันเงียบเหมือนถูกมนต์สะกด ไม่ต่างอะไรกับสภาเด็ก ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์แล้วก็ไม่แน่ใจว่าได้ทำการบ้านมาขนาดไหน กระดูกคนละเบอร์จริงๆ แล้วจะทำอย่างไร

สภาผู้แทนนั้นควรมีผู้อาวุโสมีประสบการณ์เป็นหลัก โดยเฉพาะกรรมาธิการแต่ละคณะนั้นต้องทั้งเขี้ยว ทั้งเชี่ยว รอบจัด ดูคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ ที่เพิ่งตั้ง บอกได้เลยว่าห่างไกลจากความคาดหวังว่าจะทำอะไรให้ประเทศชาติประชาชนได้ ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับครีม ไม่มีนักกฎหมายระดับยอด สะกดคนฟังไม่ได้เลย มีแต่พูดน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ไม่มีน้ำหนัก ผิวเผิน ไม่มีข้อมูลตัวเลขประกอบ กี่คนๆ ก็พูดเรื่องเดียวกัน ข้อมูลชุดเดียวกัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นแผ่นเสียงตกร่อง เป็นที่เบื่อหน่าย

เรื่องใหญ่สุดของรัฐสภาคือเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเร็วๆ นี้ รัฐสภาเปิดประชุมสภาสมัยสามัญวันที่ 1 พ.ย. แต่รัฐบาลเสนอขอเปิดสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 17 ต.ค. ยังไม่เห็นฝ่ายค้านออกมาพูดอะไร แสดงว่าไม่ทันเกมของรัฐบาล เปิดสมัยวิสามัญนี่ต้องเตรียมตัวให้ดีๆ แต่ระยะเวลาที่กระชั้นจะทำให้ฝ่ายค้านไม่มีเวลาพอจะรวบรวมข้อมูลเพื่ออภิปรายงบประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาทขนาดให้รอถึง 1 พ.ย.ก็ยังไม่พอ

ยิ่งเป็นฝ่ายค้านเด็กๆ ไม่เคยทำงานงบประมาณ จะเอาอะไรไปซักรัฐบาลที่มีข้อมูลเต็มมือจากทั้งสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ฝ่ายนโยบายและแผนของทุกกระทรวง รัฐบาลคุมหมด ฝ่ายค้านมีแค่มือเปล่ากับสมองว่างเปล่าจะมีก็แต่หลับหูหลับตายกมือไม่เห็นด้วยตามมติพรรคประชาชนไม่ได้อะไร

เคยเสนอ 2 เรื่องสำคัญที่อยากให้มี

1.อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งกลางเทอม นั่นคือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาครึ่งหนึ่งทุกๆ 2 ปี เพื่อให้ทุกคณะกรรมาธิการกว่าสามสิบคณะได้มีคนทำงานต่อเนื่องประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อเลือกตั้งชุดใหม่เข้ามาการทำงานของคณะกรรมาธิการก็จะเดินหน้าได้ โดยมี ส.ส.เดิมมีประสบการณ์เป็นตัวหลัก ส.ส.ใหม่ก็ต้องเรียนรู้ พร้อมนำเรื่องใหม่ๆ เข้าสู่คณะกรรมาธิการที่ตนเองเข้าร่วม

2.ควรมีการจัดตั้งสำนักงบประมาณรัฐสภา หรือ Parliamentary Budget Officeเหมือน Congressional Budget Office ของสหรัฐ ที่ทำเรื่องเก็บรวบรวมข้อมูลให้กับ ส.ส., ส.ว. ทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องวิธีงบประมาณกับ ส.ส., สว.ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ มีผู้เชี่ยวชาญงบประมาณทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูล ตัวเลขสำหรับสมาชิกสภาในการประชุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับงบประมาณ

สำนักงบประมาณรัฐสภานี้ในประเทศพัฒนาแล้วมีเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะในยุคข้อมูลล้นเหลือในปัจจุบัน จะเป็นผู้ที่รวบรวมกลั่นกรองข้อมูล พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นกฎหมายที่รัฐบาลแพ้ไม่ได้ ถ้าแพ้ก็ต้องลาออก เป็นจุดตายที่ฝ่ายค้านจะต้องทำงานหนักที่สุดของปี ไม่ใช่มาประชุมเฮฮา เหะหะ แต่งตัวประชันโฉมแล้วก็เรียกตัวเองว่าเป็น ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ทั้งๆ ที่เป็นแค่...ส.ส.ผู้ใส่เกือก...เท่านั้น

จะมีเกียรติหรือไม่ อยู่ที่การทำงานว่าประชาชนได้อะไร สมกับเป็นผู้แทนประชาชนหรือไม่ ไม่ใช่แค่แต่งตัวสวยมาประชุม แสดงวาทกรรมในการอภิปราย แต่สมองกลวง

โดย... ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร