ผ่าแผนฟื้นเศรษฐกิจหลังล็อกดาวน์

ผ่าแผนฟื้นเศรษฐกิจหลังล็อกดาวน์

“คลายล็อกดาวน์ก็ว่ายากแล้ว คลายล็อกวิกฤติเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ยากยิ่งกว่าหลายเท่า!!!”

แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในระยะที่สองแล้ว แต่ปัญหาเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้เวลาแก้อีกนานก่อนที่หลายธุรกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนเดิม

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบ 5.3% และในขณะนี้เอง ภาครัฐก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการเปิดให้ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เหมือนเดิม เนื่องจากเกรงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นรอบที่สอง และก็ยังมีปัญหาเรื่องการถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่ซ้ำเติมในเชิงลบต่อภาคการส่งออกโดยรวมของไทย

ส่วนภายในประเทศเองก็มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อภายในที่หดตัวเพราะมีความเสี่ยงว่าแรงงานจะตกงานกันมาก ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จึงนับเป็นโจทย์ยากของการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังล็อกดาวน์ โดยยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการปรับตัวเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจแบบนิวนอร์มอลเลย

ที่ผ่านมา หน่วยเศรษฐกิจที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในกลไกของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็คือบรรดาผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ทั้งหลาย ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ทั้งหมดที่มีอยู่ราว 3 ล้านรายจะมีการจ้างงานโดยรวมกว่า 12 ล้านคน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากนี้ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องประสบกับปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องอย่างหนักในขณะนี้ และแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในระยะที่สองแล้วก็ตาม ธุรกิจเอสเอ็มอีก็ยังต้องเผชิญกับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงเท่าเดิม ในขณะที่รายได้จากยอดขายกลับมีลดน้อยลงจากปกติมาก ดังนั้น ไม่ช้าก็เร็วก็จะเจอกับปัญหาเรื่องชักหน้าไม่ถึงหลังในที่สุด

แม้ว่าภาครัฐจะได้ออกมาตรการสำคัญเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปก่อนหน้านี้แล้ว คือมาตรการซอฟท์โลนเอสเอ็มอีที่มีวงเงิน 5 แสนล้านบาทจาก ธปท.ที่จะให้กู้ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จัดอยู่ในชั้นลูกหนี้ชั้นดี โดย ธปท.จะคิดดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์เพียง 0.01% ต่อปี และให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 2% ต่อปีใน 2 ปีแรก และหากมีปัญหากลายเป็นหนี้เสียในภายหลัง กระทรวงการคลังก็จะจ่ายชดเชยให้ ธปท.เพื่อไปให้กับธนาคารพาณิชย์ ในสัดส่วนราว 60-70% ของมูลค่าหนี้เสียนั้น ซึ่งภาครัฐหวังว่ามาตรการเงินกู้นี้จะถึงมือเอสเอ็มอีที่กำลังมีปัญหาได้จริง

ในทางปฏิบัติแล้ว กลับพบว่ามีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่มีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้นี้ได้ หรือได้ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปีตามที่ ธปท.กำหนดซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยไม่ใช่ลูกค้าเดิมของธนาคารพาณิชย์ ที่ตนไปยื่นกู้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจึงอาจไม่มั่นใจที่จะปล่อยกู้เพราะเกรงว่าจะเสี่ยงต่อการเป็นหนี้เสียในภายหลัง ทั้งๆ ที่ภาครัฐเองเป็นผู้รับชดใช้หนี้เสียให้ในสัดส่วนที่สูง ผลก็คือทำให้มีเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องจำนวนมากต้องหันไปหาแหล่งเงินกู้นอกระบบแทน

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจจริง และสำคัญไม่น้อยไปกว่าบทบาทของระบบสถาบันการเงินเช่นกัน ดังนั้นทั้งเอสเอ็มอีและสถาบันการเงินจึงจำเป็นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางสถานการณ์ที่เศรษฐกิจต้องเผชิญกับภัยวิกฤติครั้งใหญ่

คำถามสำคัญก็คือว่า ภาครัฐจะโน้มน้าวให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายยินยอมพร้อมใจกันเพื่อช่วยในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร

อันที่จริงแล้ว ก็มีผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่เห็นว่า “….วิกฤติรอบนี้ไม่ได้เกิดจากการทำอะไรที่เกินตัวเหมือนตอนปี 2540 และในฝั่งของผู้ประกอบการเชื่อว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันยังสามารถประคับประคองตัวเองได้แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีความอ่อนแอในกลุ่มนี้ธนาคารพาณิชย์ต้องเข้าไปประคับประคอง ต้องช่วยยืดหนี้หรือมีมาตรการต่างๆ เข้าไปดูแล...” เช่นกัน แต่ธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งหนึ่งแห่งใดก็ย่อมจะไม่สามารถช่วยเหลือเหล่าเอสเอ็มอีจำนวนมากได้ จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่พร้อมใจดำเนินการช่วยเหลือในลักษณะร่วมหรือมี collective actions กันอย่างจริงจัง" 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์เองก็อาจไม่มีแรงจูงใจให้ต้องทำเช่นนั้น เพราะยังสามารถอยู่ได้ด้วยผลประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ที่ต่างกันมาก ทั้งๆ ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาก็เป็นอัตราดอกเบี้ยขาลงด้วยเพราะฉะนั้นหากภาครัฐสามารถเจรจาให้มีการปรับลดส่วนต่างดอกเบี้ยให้แคบลงจนใกล้เคียงกับของในนานาอารยประเทศทั้งหลายแล้ว (ซึ่งก็เป็นหน้าที่โดยตรงในเชิงนโยบายของ ธปท.)

ก็เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายจะมีความกระตือรือร้นในการ “แข่งขัน” เพื่อแย่งชิงปล่อยกู้ให้กับลูกค้าประเภทเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ มีอนาคตได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นกว่าในอดีต และยังเป็นช่องทางในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กรายใหม่และเก่งอีกจำนวนมากได้มีโอกาสเกิดในทางธุรกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้น

ส่วนหน่วยงานรัฐที่มีศักยภาพในการประสานงานและกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้และในเชิงนโยบาย ก็คงหนีไม่พ้นที่จะเป็น ธปท.นั่นเอง