อีคอมเมิร์ซไทย ยอดขายพุ่งช่วงโควิด-19

อีคอมเมิร์ซไทย ยอดขายพุ่งช่วงโควิด-19

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแบบ 360 องศา

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักแล้วทำให้ผู้คนจำเป็นต้องกักตัว ก็ทำให้ช่องทางเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ หรือการค้าปลีกทางออนไลน์ ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญ สำหรับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคของไทย

สินค้าและช่องทางที่มาแรงสำหรับในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา มีข้อมูลว่าการจับจ่ายใช้สอยบนเว็บอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่า 100% ที่น่าสนใจผลิตภัณฑ์สำหรับการป้องกันเชื้อโรคอย่างหน้ากากอนามัยมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 3,500% เมื่อเทียบจากปีก่อน

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เช่น แอลกอฮอล์ วิตามินซี อาหารเสริมสุขภาพ ขณะที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ลาซาด้า” เป็นช่องทางที่มีการสั่งซื้อมากที่สุด ตามด้วย “ช้อปปี้”

หากเทียบกับเมื่อปลายปีก่อน มีข้อมูลว่า กลุ่มเครื่องสำอางในไทยและแบรนด์เนมต่างชาติ มียอดขายเพิ่มขึ้นสองเท่า โดยเฉพาะบนช่องทางลาซาด้า ขณะเดียวกันสินค้าประเภทสกินแคร์ เป็นที่สนใจมาก ในช่วงเทศกาล 12.12. ช้อปปี้มียอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 80 ล้านชิ้น ภายใน 24 ชม.

วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแบบ 360 องศา ทั้งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตั้งแต่ก่อนเริ่มมีการกักตัวจากโควิด-19 คนไทยก็เริ่มจับจ่ายใช้สอยบนเว็บอีคอมเมิร์ซเหล่านี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว แถมแต่ละร้านค้ายังตอบรับด้วยการออกโปรโมชั่น ส่วนลด และโปรแกรมทางการตลาดอื่นๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภค

ที่สำคัญคือ มีสินค้าให้เลือกแทบจะทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่สินค้าหายากบางอย่างที่ลูกค้าจะต้องเดินทางไปหาในแหล่งเฉพาะ ซึ่งไม่สะดวกที่จะเดินทาง สินค้าบางแห่งมีแหล่งซื้อเพียง 1-2 แห่งด้วยซ้ำ 

ดังนั้นการที่ร้านค้าปลีกต่างๆ ปรับตัวมาทำการขายและการตลาดบนช่องทางเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสการขายแล้ว ยังตอบสนองกับความสะดวกและลดปัญหาในการเดินทางของลูกค้าได้ด้วย

แต่แน่นอนว่า การแข่งขันย่อมรุนแรงตามไปด้วย โดยเฉพาะค่าส่งสินค้า ดังนั้นการตั้งราคาจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ในขณะที่ประเภทสินค้าที่เอาขึ้นออนไลน์ และการทำหน้าร้านให้ดูดีบนช่องทางอีคอมเมิร์ซเหล่านี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง

เป็นที่น่าจับตามองว่า โซเชียลมีเดียจะถูกนำมาใช้เป็นตัวช่วยมากขึ้น เนื่องจากช่องทางของธุรกิจค้าปลีกบนอีคอมเมิร์ซไม่ได้โรยด้วยกลับกุหลาบ และโซเชียลมีเดียถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมใช้งานมากที่สุด ทั้งเพื่อเสพข้อมูล และความบันเทิง 

ดังนั้นการผสมผสานระหว่างอีคอมเมิร์ซ และ โซเชียลที่เรียกกันว่า “S-Commerce” ก็จะมีมากขึ้นไปด้วย แม้ว่ายังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ลักษณะของการ “Merce” ทั้งสองรูปแบบ จะกลายเป็นทิศทางใหม่ของธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต

สำหรับช่วงกักตัวจากโรคโควิด-19 ที่กว่าจะคลี่คลาย และมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะดำเนินต่อไปจนถึงปลายเดือนพค.นั้น การสั่งซื้ออาหารและเดลิเวอรีต่างๆ น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง 

ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาและอัพเดทโอกาสของการขายและการตลาดบนช่องทางอินเทอร์เน็ตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้