Lockdown ทำให้เศรษฐกิจแย่จริงหรือ?

Lockdown ทำให้เศรษฐกิจแย่จริงหรือ?

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการถกเถียงกันมากว่าหากเราต้องเลือกระหว่างการมีโอกาส 20% ทางสถิติที่จะตายเพราะติดเชื้อ COVID-19 หรือโอกาสเกือบ 100%

ที่จะอดตายเพราะไม่มีงานทำเนื่องจากการปิดเมืองปิดประเทศ เราจะเลือกอย่างไหนดี ซึ่งรัฐบาลของหลายๆ ประเทศก็ได้ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากนี้มาแล้ว (บางประเทศก็ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น หลังจากเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตที่มากมายอย่างน่าตกใจในหลายประเทศของยุโรป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว)

แนวทางในการดำเนินนโยบายที่เรียกว่ามาตรการที่ไม่ใช้ยา (Non-pharmaceutical Intervention (NPIs) เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน เริ่มจากประเทศจีนที่เริ่มก่อน และสุดโต่งอย่างเห็นได้ชัด คือ การปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดสถานที่ต่างๆ แทบทั้งหมด ปิดระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ในขณะที่บางประเทศก็พยายามที่จะสร้างภูมิคุ้มกันระดับชุมชน (Herd Immunity) โดยปล่อยให้ประชาชนในประเทศค่อยๆ ติดเชื้ออย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าประชากรคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 60% ของประเทศติดเชื้อ ซึ่งประเทศที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และไม่เปลี่ยนแปลงไป คือ ประเทศสวีเดน

ซึ่งแม้ว่าสวีเดน จะไม่มีมาตรการทางปกครองในลักษณะปิดเมือง แต่ก็มิใช่ว่าไม่ทำอะไรเลยอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน สวีเดนเลือกใช้วิธีเชิญชวนให้ประชาชนรักษาระยะห่างโดยสมัครใจ ไม่ให้รวมกลุ่มกันเกินกว่า 50 คน แนะนำมิให้เดินทางภายในประเทศที่ไม่จำเป็น ไม่เปิดบาร์ ให้รักษาระยะห่างในโรงเรียนมัธยม และมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้จะไม่มีตำรวจไปคอยตรวจตราไล่จับ และไม่มีแอพพลิเคชั่นคอยติดตามว่าใครไปไหน เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้คนในสังคม

การที่สวีเดนทำเช่นนี้ได้ เพราะประชาชนในประเทศมีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับที่สูงมาก และมีความเชื่อใจกัน ซึ่งแม้ว่าสวีเดนจะมีอัตราการตายต่ำกว่าหลายประเทศในยุโรป แต่ก็ยังมากกว่าประเทศกลุ่มยุโรปเหนืออื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน อย่างเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ กว่า 3-5 เท่า อีกทั้งกว่าครึ่งของผู้เสียชีวิต ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา ดังนั้น มาตรการของสวีเดนจึงยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ว่า เป็นการให้ผู้สูงอายุรับภาระการสร้างภูมิคุ้มกันระดับชุมชนหรือไม่?

อันที่จริงแล้วโลกอาจไม่ได้มี 2 ทางเลือก ระหว่างการมีชีวิตรอดจากโรคระบาด หรือการมีชีวิตรอดจากปัญหาปากท้องเท่านั้นก็ได้ โดย Sergio Correia และ Stephan Luck นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารกลางสหรัฐ ได้ศึกษาว่าการดำเนินนโยบายป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนของมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐในช่วง ม.ค.1918-ธ.ค.1920 นั้น ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?

การศึกษานี้ ทำเฉพาะในสหรัฐ ซึ่งมีอัตราการตายจากโรคนี้ที่ 0.66% ของประชากรทั้งหมด และมีอัตราการตายสูงในกลุ่มคนอายุน้อยและแข็งแรง ที่มีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 18-44 ปี

โดยนโยบายในขณะนั้นประกอบไปด้วยการปิดโรงเรียน โรงภาพยนตร์ โบสถ์ ห้ามการสังสรรค์และงานศพ การกักกันผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ และจำกัดช่วงเวลาการเปิดทำการของภาคธุรกิจ (เวลาห่างกันร้อยกว่าปี แต่วิธีแทบไม่แตกต่างกับปัจจุบัน!)

จากการศึกษาพบว่า 1.พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงกว่า จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 2.ส่วนเมืองที่กำหนดมาตรการระยะห่างทางสังคมในรูปแบบต่างๆ กลับไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจด้านลบในช่วงระยะปานกลาง และที่น่าแปลกใจยิ่งไปกว่า คือ เมืองใดที่มีมาตรการป้องกันในลักษณะต่างๆ ตั้งแต่แรกๆ และทำอย่างจริงจังนั้น เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ หลังจากภาวะการระบาดของโรคลดน้อยลง

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ โรคระบาดนั้นส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่มาตรการของรัฐที่ป้องกันการพบปะกันของคน ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น พร้อมๆ ไปกับช่วยลดอัตราการตายลงได้ด้วย ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อเดิมของหลายคนที่ว่าเราอาจต้องเลือกระหว่าง “การรอดตายจากโรคระบาดกันให้มากที่สุด” หรือ “การอดตายจากมาตรการต่างๆ” แทน

การผ่อนคลายครั้งนี้ ก็ฝากให้พวกเราอย่าประมาท และรักษาเนื้อรักษาตัวเพื่อฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไปให้ได้ด้วยกัน