ปลดล็อค! การค้าที่เป็นธรรม

ปลดล็อค! การค้าที่เป็นธรรม

สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) มีบทบาทและหน้าที่สำคัญคือ การสร้างการแข่งขันทางการค้าหรือการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม

และกำจัดอุปสรรคที่เป็นการกีดขวางการแข่งขันทางการค้า โดยใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เป็นเครื่องมือหลัก พฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมทางธุรกิจต่อคู่ค้าของตน
การใช้อำนาจเหนือตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม การแทรกแซงการประกอบธุรกิจ
ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร  เป็นต้น

กรณีศึกษาที่นำมาเป็นตัวอย่างเทียบเคียงเพื่ออธิบายรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมไปถึงกระบวนการทำงานของ สขค. คือ “คดีเครื่องดื่มบำรุงกำลัง”

 บริษัท ก. เป็นผู้จำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อ A โดยจะจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายหลักหรือเอเย่นต์ (Agent) ของตนเท่านั้น ร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรองหรือซับเอเย่นต์ (Sub-Agent)
หากต้องการซื้อสินค้า ก็ต้องซื้อผ่านเอเย่นต์เท่านั้น ในกรณีนี้มีผู้ร้องซึ่งเป็นร้านค้า
4 ราย ร้องเรียนเข้ามายัง สขค. ว่า พนักงานของบริษัท ก. บอกกล่าวให้ร้านค้าทั้ง 4 รายหยุดขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อ B
ที่เป็นคู่แข่ง มิฉะนั้นทางบริษัท ก. จะไม่ส่งสินค้าของตนให้ร้านค้าทั้ง 4 ได้จำหน่าย ผลปรากฏว่า ร้านค้าทั้ง 4
ไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตาม ที่สุดแล้ว บริษัท ก.จึงไม่ส่งเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อ
A รวมถึงสินค้าที่เป็นของบริษัทในเครือให้ร้านค้าทั้ง 4 จริงตามที่ได้กล่าวไว้

ลำดับแรก สขค. ได้พิจารณาแล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างร้านค้า (ผู้ร้อง) และบริษัท ก. (ผู้ถูกร้อง) มีความสัมพันธ์เป็นผู้ประกอบธุรกิจจริง และพฤติกรรมที่บริษัท ก. กระทำ อาจเข้าข่ายความผิดตาม
พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ ลำดับต่อมา สขค. ต้องพิจารณาต่อว่า บริษัท ก. เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ เพราะถ้าบริษัท ก. ไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด พฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายความผิด จะเป็นความผิดตามมาตรา 57 ซึ่งเป็นโทษทางปกครอง แต่หากบริษัท ก. เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด
ก็จะเข้าข่ายความผิดมาตรา
50 ซึ่งเป็นโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ ด้วย

ในการพิจารณาการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จำต้องกำหนดขอบเขตตลาดเสียก่อน โดยจะพิจารณาใน 2 มิติประกอบกัน คือ มิติตลาดด้านสินค้า (Product Market) และ มิติตลาดด้านภูมิศาสตร์ (Geographic Market) สขค. ได้แบ่งตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตลาดบน ที่ราคาเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
อยู่ที่ขวดละ 12-15 บาท และกลุ่มตลาดล่าง ที่ราคาเครื่องดื่มบำรุงกำลังอยู่ที่ขวดละ 10 บาท เหตุที่ต้องแบ่งตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังออกเป็น 2 กลุ่มเนื่องจาก มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ผู้บริโภคที่นิยมดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังในตลาดล่าง จะไม่นิยมเปลี่ยนไปดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังในตลาดบนด้วยเหตุผลทางด้านราคา
ซึ่งราคาของเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อ
A และ B มีราคาเท่ากันคือขวดละ 10 บาท ดังนั้นในกรณีนี้ ขอบเขตตลาดด้านสินค้าคือ เครื่องดื่มบำรุงกำลังในกลุ่มตลาดล่าง ในขณะที่เครื่องดื่มบำรุงกำลังทั้งในกลุ่มตลาดบนและตลาดล่าง ต่างก็ถูกจำหน่ายทั่วทั้งประเทศ ดังนั้นขอบเขตตลาดด้านภูมิศาสตร์ คือตลาดเดียวกัน
ทั้งประเทศ เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดและรายได้ย้อนหลังไปหนึ่งปีจากปีที่คาดว่าอาจกระทำความผิด
ของบริษัท ก. พบว่า บริษัท ก. ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดตามประกาศหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ. 2561

จากการสอบสวนข้อเท็จจริงของ สขค. พบว่า พฤติกรรมทางการค้าของบริษัท ก. ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ
ที่มีอำนาจเหนือตลาดได้กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่เป็นคู่ค้าของตน และยังแทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเข้าข่ายความผิดมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ ยิ่งกว่านั้นพฤติกรรมทางการค้าเช่นนี้ยังเข้าข่ายกระทำความผิดมาตรา 57
แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ ที่มีใจความสรุปว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใด อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น โดยผลเสียหายนั้นต้องพิสูจน์ได้ ซึ่งในกรณีนี้ ร้านค้าทั้ง
4
ที่เป็นผู้ร้องก็สามารถพิสูจน์ซึ่งความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามบริษัท ก. ได้อ้างว่า ร้านค้าทั้ง
4 เป็นซับเอเย่นต์ของบริษัทย่อมต้องปฏิบัติตามนโยบายของบริษัท แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ร้านค้าทั้ง 4 ไม่เคยยินยอมหรือลงนามในสัญญาว่าจะไม่จำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้ออื่นนอกเหนือจากยี่ห้อ A และบริษัท ก. ก็ไม่เคยมีนโยบายห้ามจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มบำรุงกำลังของคู่แข่งให้กับซับเอเย่นต์ต้องปฏิบัติ

มาตรา 77 (โทษทางอาญา) และมาตรา 84 (โทษทางปกครอง)  แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ มีใจความโดยสรุปว่า หากผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล โดยการกระทำความผิดนั้นเกิดจากการสั่งการ หรือรับรู้แต่ไม่ยับยั้งของกรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ให้ถือว่าผู้นั้นมีความผิดและต้องรับโทษด้วย ดังนั้น สขค. จึงสรุปคดีและนำเสนอต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ว่า พฤติกรรมทางการค้าของบริษัท ก. และกรรมการบางรายของบริษัท ก. ในครั้งนี้เข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 50 และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

จะเห็นได้ว่าในแวดวงธุรกิจ พฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เมื่อ พ.ร.บ.
การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ก็เสมือนเป็นการล็อคพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ไม่ให้เกิดขึ้นโดยง่ายเฉกเช่นในอดีต ซึ่งถือเป็นการปลดล็อคให้การแข่งขันทางการค้าของไทยมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น!