นวัตกรรมสังคมเพื่อการปฏิรูปประเทศ

นวัตกรรมสังคมเพื่อการปฏิรูปประเทศ

นวัตกรรมสังคมหมายถึงการคิดค้นใหม่ในเรื่องความรู้ทักษะการบริหารจัดการสังคม,ชีวิตแบบรวมหมู่ของมนุษย์ ประสิทธิภาพ คุณภาพ เพื่่อส่วนร่วมมากขึ้น

เดิมเรามักมองนวัตกรรมในแง่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งก็เป็นความรู้/ทักษะในการผลิตที่สำคัญ แต่เราควรมองในเชิงเพื่อประโยชน์สังคมส่วนรวมในระยะยาวอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ควรมองเฉพาะในแง่ความทันสมัยว่าต้องผลิตให้ได้เร็วขึ้น มากขึ้น ทำอะไรได้ใหญ่ขึ้นเสมอไป

นวัตกรรมทางสังคม สำคัญไม่น้อยกว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ถ้าไม่มีนวัตกรรมสังคมที่ดี นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีก็อาจไม่เกิด หรืออาจถูกซื้อมาใช้ไปอย่างเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมน้อยกว่าที่ควร เช่น อาจจะเป็นประโยชน์เฉพาะบริษัทใหญ่

การจะคิดค้นใหม่ได้ต้องส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็น การคิดสร้างสรรค์ กระบวนการศึกษาหรือการเรียนรู้ (รวมทั้งในองค์กรด้วย ไม่ใช่แค่ในสถาบันการศึกษา) วิธีการสอน การเรียน ต้องเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน มากขึ้น ต้องรู้จักและฝึกฝนการ คิดอย่างมีเหตุผล คิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ

เช่น ประเมินข้อดี ข้อด้อย อย่างรอบคอบ สมดุล มองการณ์ไกลเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่แค่ท่องจำความรู้ตามตำรา หรือเลียนแบบองค์ความรู้/ประสบการณ์ของคนอื่นเท่านั้น

วิธีคิดวิธีศึกษาควรใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ หาความจริง สำรวจค้นคว้า ทดลอง หาหลักฐานเชิงประจักษ์ พิสูจน์ ใช้หลักเหตุผล ความสอดคล้องต้องกัน การมองปัญหาอย่างรอบด้าน บูรณาการ เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบองค์รวม

ตัวอย่างเช่นปัญหาโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาทางสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมด้วย เช่น การที่มนุษย์ตัดป่าไม้ ถลุงใช้ทรัพยากร ทำลายความสมดุลของธรรมชาติมาก บริโภคมาก คนมาอยู่ร่วมกันแออัดในเมืองใหญ่มีความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนค้าขาย เดินทางติดต่อกันมาก ชอบจัดงานกินเลี้ยงสังสรรค์ งานสนุกต่างๆ

วิธีการคิดวิเคราะห์ของนักปราชญ์ตั้งแต่พระพุทธเจ้า, คาร์ล มาร์กซ์, ไอน์สไตน์ ฯลฯ ก็มาทางวิทยาศาสตร์แนวนี้

การศึกษาด้วยตนเองเพื่อรู้จักตนเอง วิเคราะห์ประเมินตนเอง เข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนตัวเองได้ก็สำคัญ เราจะได้มองปัญหาอย่างภววิสัย ลดอคติได้ เช่น คนที่มีอุปนิสัยถ่อมตน ติดหรือหลงตัวเองน้อย จะเรียนรู้ได้มากขึ้นกว่าคนที่คิดว่าตนรู้ทุกอย่างแล้ว

เราควรเรียนรู้ วิจัย เพื่อรู้จักองค์กร ชุมชน ประเทศของตนเองด้วย ไม่ใช่แค่เรียนรู้ทักษะความรู้แบบสากลเท่านั้น และต้องรู้จักประยุกต์ใช้เป็น ภายในบริบทหรือสภาพแวดล้อมเฉพาะขององค์กร ชุมชน ประเทศของตนด้วย

ต้องศึกษาทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ศึกษาทั้งกรณีศึกษาของโลก/ประเทศอื่น และของไทย รู้จักการนำทฤษฎีความรู้ ประสบการณ์คนอื่น มาประยุกต์ใช้ในองค์กร, ชุมชน สังคมไทยได้ อย่างได้ผล สอดคล้องความจริง (ทางประวัติศาสตร์, เศรษฐศาสตร์การเมือง, วัฒนธรรม) ไม่ใช่ลอกเลียนมาใช้ทั้งดุ้นอย่างทื่อๆ

เราควรจะฝึกการวิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย/สังคมโลกทั้งในเชิงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลง (ทางเศรษฐกิจสังคม การเมือง) เพื่อจะเข้าใจเรื่องกระบวนการ ผลลัพธ์ต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่ภาพหยุดนิ่ง ควรศึกษาสังคมในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคมวิทยาการเมือง เพื่อจะได้เข้าใจภาพใหญ่ รากเหง้าที่มา สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต เข้าใจทั้งภาพย่อยและภาพใหญ่

การคิดวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย เผยแพร่ความรู้ที่จะเป็นนวัตกรรมทางสังคมหรือเทคโนโลยีทางสังคมจะต้องยึดหลักผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ในระยะยาว ซึ่งหมายถึงการรู้จักมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่เพื่อประสิทธิภาพของหน่วยผลิต เช่น บริษัทธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ หน่วยราชการ และการเพิ่มผลผลิตเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม เป็นธรรม และพัฒนาอย่างยั่งยืน (ลดการทำลายระบบนิเวศ)

ทิศทางใหญ่ของแนวทางพัฒนาประเทศน่าจะเปลี่ยนจากทุนนิยมกึ่งผูกขาด ไปเป็นระบบผสมระหว่างทุนนิยมที่ดี การแข่งขันอย่างเป็นธรรม กับสังคมนิยมประชาธิปไตยแนวพิทักษ์ระบบนิเวศ อย่างบางประเทศในยุโรปเหนือ ระบบทุนนิยมสุดโต่งอย่างสหรัฐฯ สร้างปัญหาวิกฤติมาก รับมือกับวิกฤติโรคระบาดได้แย่ที่สุด ระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางแบบสหภาพโซเวียตรัสเซีย จีน ก็ล้มเหลวมีข้อจำกัดหลายประการจนต้องยกเลิก เปลี่ยนแปลง ไปเป็นทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งก็ยังมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง ในหมู่ประเทศรายได้ต่ำ ก็มีรัฐบาลที่ก้าวหน้า ในลาตินอเมริกาบางประเทศปฏิรูปประเทศไปในทางสร้างความเป็นธรรม ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมให้ประชาชนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น ลดการเอาเปรียบของบรรษัททุนข้ามชาติได้บ้าง

ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งเห็นชัดว่า ประเทศและเมืองที่เกิดโรคระบาดมากที่สุด คือพวกที่พัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมมากที่สุด เราต้องกล้าคิดนอกกรอบทุนนิยม ออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต่างออกไปจากระบบทุนนิยมอุสาหกรรมที่สร้างปัญหา ความเหลื่อมล้ำยากจน การทำลายระบบนิเวศ การอยู่และติดต่อกันอย่างแออัดในเมืองใหญ่ การเน้นการบริโภคมากฯลฯ

ไทยซึ่งมีที่ดินเพาะปลูกได้มาก มีทรัพยากรการเกษตรมาก ควรเลือกนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแนวปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร อนุรักษ์ระบบนิเวศ และกระจายที่ดิน ทุน อำนาจในการบริหารจัดการ ให้เป็นแบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองในระดับชุมชน จังหวัด ประเทศเพิ่มขึ้น (เช่นควรจัดสรรที่ดินของรัฐ ให้ประชาชน 10 ล้านราย รายละ 1 ไร่ ทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยรัฐให้การช่วยเหลือเบี้องต้น เน้นการผลิต การบริโภคปัจจัย 4 เท่าที่จำเป็น รวมทั้งการพัฒนาสาธารณสุขและการแพทย์ การศึกษาฝึกอบรม มากขึ้น ลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น (เก็บภาษีให้สูงขึ้น) ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นที่เป็นไม้เศรษฐกิจ โดยรัฐออกพันธบัตร 20 ปี ไม้หลายชนิด 20 ปี ก็พอทยอยตัดขายได้ และทยอยปลูกใหม่อีก กลายเป็นพืชหมุนเวียนได้ แต่รัฐต้องเข้ามาช่วยจัดการ เพราะถ้าจะให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ชนิดที่ 20 ปีถึงจะโตพอที่จะขายได้ จะไม่มีทุนหมุนเวียนที่จะยังชีพได้

วิกฤติโรคระบาดที่จะอยู่ยาวไปอีกหลายปี และวิกฤติระดับโลกอื่นๆ ที่จะตามมา ควรทำให้ไทยต้องคิดเปลี่ยนทั้งระบบเศรษฐกิจ ลดการลงทุน การค้า การเดินทางไกลระหว่างประเทศ ปฏิรูปเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก แบ่งปันกันให้คนมีงานทำ มีรายได้ขั้นพื้นฐานพอยังชีพอย่างทั่วถึง ทำให้เศรษฐกิจสังคมของคนทั้งประเทศมีความสมดุล ชีวิตมีความสงบสุข ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิต ซึ่งมีค่ามากกว่าการพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรม/การค้าเสรีแบบมือใครยาวสาวสได้สาวเอา ที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือความมั่งคั่งทางวัตถุ ที่ทำให้เกิดปัญหารวยกระจุก จนกระจาย และปัยหาทางสังคม การเมืองอื่นๆตาม