ซื้อหุ้นตอนนี้ยังคุ้มเสี่ยงหรือไม่ ?

ซื้อหุ้นตอนนี้ยังคุ้มเสี่ยงหรือไม่ ?

การพักฐานที่อาจจะเกิดขึ้นจะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสมหุ้นพื้นฐานดีอีกครั้ง

ขณะที่ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย น่าจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นจากการรายงานตัวเลข GDP ไทย 1Q63 ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ และคาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยใน 2Q63 จะชะลอตัวลงไปอีก ในฝั่งของตลาดหุ้นนักวิเคราะห์ต่างทำการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนมาอย่างต่อเนื่องล่าสุดปรับลดประมาณการ EPS ลงมาเหลือ 70 บาท/หุ้น หรือลดลง 31% จากที่เคยคาดไว้ตอนต้นปี 2563 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนผลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทยตัดสินใจใช้มาตรการล็อคดาวน์ แต่ในด้านของดัชนี SET Index ปรับขึ้นมาแล้ว +25% จากจุดต่ำสุดที่ 1,024 จุด (ราคาปิดวันที่ 23 มี.ค. 2563) เพราะเหตุใดดัชนี SET index จึงปรับขึ้นสวนทางกับความรู้สึกของนักลงทุนโดยรวมที่กังวลต่อแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะในครึ่งปีแรกของปี 2563 (1H63) 

ทฤษฎีที่เกี่ยวกับ ความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทน: โดยปกติแล้วส่วนชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุน (Equity risk premium: ERP) หรืออาจเรียกในอีกชื่อว่า อัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุน (Require rate of return) เป็นตัวแปรที่สำคัญในทฤษฎีการประเมินมูลค่าหุ้นหรือสินทรัพย์ใดๆเกือบทุกทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็น Forward PE, Forward PBV, DDM, DCF, และ Residual income model เป็นต้น โดยมีสถานะเป็นตัวหารใน Valuation model หรือกล่าวคือ การลงทุนยิ่งมีความเสี่ยงสูงยิ่งต้องขอส่วนลดเยอะเพื่อชดเชยความเสี่ยงในการลงทุนนั่นเอง ดังนั้นเพื่อหาคำตอบว่า ทำไมดัชนี SET index จึงปรับขึ้นท่ามกลางปัจจัยลบ? และ ณ ระดับดัชนีในปัจจุบันยังคุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่? วันที่ 5 พ.ค. 2563 ฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) เผยแพร่บทวิเคราะห์เชิงปริมาณ ทำการคำนวณ Implied ERP (iERP) ของ SET Index (เป็นการคำนวณย้อนกลับหา ERP ของ SET index ด้วยข้อมูล ณ เวลานั้นๆ) ไว้เท่ากับ 4.1% โดยอิงกับข้อมูลประมาณการ DPS ปี 2563 - 65, อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี, และระดับดัชนี SET index ที่ 1,301 จุด ส่วนชดเชยความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยคำนวณได้เท่ากับ 4.1% และเมื่อพิจารณาข้อมูล iERP ในอดีตตั้งแต่ปี 2548 ถึง ปัจจุบันพบว่ากรอบของ iERP ในสถานการณ์ปกติอยู่ที่ 3.3% - 5.0% (อิง +/- 2 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) และในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 iERP เคยปรับขึ้นไปสูงสุดที่ราว 7% ขณะที่วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบนี้ ทำให้ iERP ขึ้นไปแตะที่ระดับ 5.2% ซึ่งเป็นระดับกรอบบนดังกล่าว 

ดังนั้น จึงอาจสรุปว่า เมื่อ iERP ขึ้นไปแตะระดับกรอบบน ±5% และเมื่อนักลงทุนประเมินว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นระยะสั้น (ดูจากคาดการณ์การจ่ายปันผลปี 2564 - 65 ที่คาดว่าจะเติบโต +9% YoY และ +11% YoY ตามลำดับ) ทำให้ระดับส่วนชดเชยความเสี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยขณะนั้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจนั่นเอง ขณะที่หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีตเมื่อไหร่ที่ iERP ลงไปบริเวณ 3.3% ส่วนชดเชยความเสี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเริ่มไม่คุ้มค่าความเสี่ยงแล้วนั่นเอง จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นไทย 'ไม่ถูก' เมื่อพิจารณา iERP ขณะนี้ที่ 4.1% (บนข้อมูลปัจจุบัน) แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ 

อย่างไรก็ดีหากข้อมูลประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยคงที่ ไม่มีการปรับลดลงอีก เมื่อพิจารณาภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน ผมประเมินว่าจะทำให้นักลงทุนเกิดความเอนเอียง (Bias) ในการหาผลตอบแทนจากการลงที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารหรือการซื้อพันธบัตร โดยอ้างอิงจากบทความทางวิชาการของ Lian C., Ma Y., and Wang C., 2019, Low interest rates and risks-taking: evidence from individual investment decisions, The Reviews of Financial Studies ที่ประเมินพฤติกรรมของนักลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันว่า ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยา นักลงทุนรายย่อย มักที่จะเลือกการลงทุนที่เสี่ยงมากกว่าเดิมในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง หรือก็คือเลือกที่จะลดการลงทุนในตราสารหนี้หรือฝากธนาคารพาณิชย์และนำเงินมาลงทุนหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น เมื่อพิจารณา iERP ที่ระดับ ±4% ในอดีตเปรียบเทียบกับ iERP ±4% ในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันมาก ทำให้ผมประเมินว่าเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งตัดสินใจเลือกที่จะนำเงินลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เป็นอีกปัจจัยหนุนดัชนี SET index 

สำหรับภาพรวมการลงทุนใน SET index หากพิจารณาจากที่ผมวิเคราะห์ข้างต้นจะพบว่าการรีบาวน์ขึ้นมา +25% ทำให้ Valuation ในขณะนี้ไม่ได้อยู่ในระดับที่ 'ถูก' รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจไทย 1H63 และผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนที่ยังชะลอตัว จึงทำให้มีโอกาสที่ดัชนี SET index จะพักฐาน Sideway ในระยะสั้น แต่การพักฐานที่อาจจะเกิดขึ้นจะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสมหุ้นพื้นฐานดีอีกครั้ง เมื่อส่วนชดเชยความเสี่ยงในการลงทุนเริ่มที่จะกลับมาคุ้มเสี่ยงอีกครั้ง