เกตส์ชนทรัมป์ (ยก 3)

เกตส์ชนทรัมป์ (ยก 3)

ดังที่อ้างถึงแล้ว ตามปกติ “บิล เกตส์” จะหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะหากความเห็นนั้นอาจมองได้ว่า

เป็นการต่อต้านนักการเมืองบางคน แต่เขาคงเหลืออด จึงออกมาประณามประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สั่งให้รัฐบาลอเมริกันยุติการสนับสนุนงบประมาณแก่องค์การอนามัยโลกท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 หลังจากประกาศคำประณามนั้น บิล เกตส์ดูจะกลับไปสงบปากสงบคำ แต่ เมลินดา เกตส์ ภรรยาของเขาและอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ 2 คนออกมาประณามการกระทำของนายทรัมป์แทน

อดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ออกมาก่อนเมลินดา เกตส์ เขาแถลงว่าท่ามกลางวิกฤติของชาติจากโรคระบาดครั้งนี้ ชาวอเมริกันต้องละเรื่องการเมืองและหันหน้ามาร่วมมือกันต่อสู้กับโรคร้าย แม้เขาจะมิได้กล่าวถึงใครโดยตรง แต่ชาวอเมริกันตีความทันทีว่าเขาหมายถึงนายทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้นำที่กระทำทุกอย่างเพื่อหวังผลทางการเมืองตั้งแต่วิกฤติเริ่มขึ้น การกระทำนั้นสร้างความแตกแยก

เนื่องจากนายทรัมป์เข้าใจเช่นกันว่าอดีตประธานาธิบดีหมายถึงตน จึงตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนผ่านทวิตเตอร์ว่า นายบุชหายหัวไปไหนในช่วงที่ตนถูกรัฐสภาลากเข้ากระบวนการถอดถอน ตามธรรมดาการโต้แย้งกันระหว่างนักการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่ในกรณีนี้มีความไม่ปกติสูงมาก เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีมักหลีกเลี่ยงที่จะออกมาตำหนิผู้อยู่ในตำแหน่ง และสิ่งที่ไม่ปกติยิ่งกว่านั้นคือนายบุชกับนายทรัมป์เป็นสมาชิกพรรคริพับลิกันด้วยกัน

ทางด้านเมลินดา เกตส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการร่วมของมูลนิธิเพื่อการกุศลที่ตนกับสามีก่อตั้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ออกมาประเมินการทำงานด้านการแก้วิกฤติโควิด-19ของรัฐบาลอเมริกันว่าได้เพียง “ดี” นั่นคือสอบตก เหตุผลของนางไม่ต่างกับของสามี ยกเว้นการย้ำเน้นเรื่องรัฐบาลกลางมิได้ออกมานำหน้าแก้ปัญหาด้วยแผนงานแบบบูรณาการ ฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงทำกันแบบหัวแตก โดยผู้ว่าการรัฐทั้ง 50 รัฐ ต่างคนต่างทำ ซึ่งย่อมได้ประสิทธิผลต่ำกว่าที่น่าจะได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการประเมินของเมลินดา เกตส์มีผลไม่ต่างกับเมื่อสามีออกมาประณามนายทรัมป์ นั่นคือไม่มีการตอบโต้จากนายทรัมป์แบบทันทีทันใดในแนวที่เขามักตอบโต้ใครก็ตามที่เขามองว่าล้ำหน้า

หลังจากนั้น มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าในระหว่างการพูดคุยกับผู้ที่เคยทำงานด้วยกัน อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประณามการนำต่อสู้กับโรคร้ายของนายทรัมป์ด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน ที่คงตีความได้ว่าเป็น “ความวิบัติอันแสนโกลาหลแบบสัมบูรณ์” (absolute chaotic disaster) ผู้ติดตามความเป็นไปในด้านการเมืองของสหรัฐย่อมทราบดีว่าในช่วงเวลากว่า 3 ปีที่นายทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อเกิดปัญหาเขามักอ้างทันทีว่าต้นตอของมันอยู่ที่การบริหารของนายโอบามาทุกครั้ง รวมทั้งวิกฤติในปัจจุบัน แต่นายโอบามา ไม่เคยออกมาตอบโต้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ครั้งนี้เขาไม่ออกมาปฏิเสธเมื่อการพูดคุยดังกล่าวของเขาถูกนำมาเผยแพร่จนเป็นข่าวพาดหัวของสื่อหลายสำนัก เป็นไปตามคาด นายทรัมป์ออกมาประกาศว่านายโอบามาก่ออาชญากรรม แต่เมื่อถูกถามหารายละเอียด เขาตอบว่าทุกคนรู้กันอยู่แล้ว พฤติกรรมแนวนี้เป็นวิธีของนายทรัมป์ซึ่งผู้ติดตามการเมืองในสหรัฐมักเห็นเป็นประจำ

การออกมาประณามนายทรัมป์ดังกล่าวน่าจะมีผลต่อการเลือกประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งนายทรัมป์จะเป็นผู้สมัครของพรรคริพับลิกัน ส่วนพรรคเดโมแครตคงส่งอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นตัวแทน การหาเสียงจะทำกันอย่างไรยังไม่เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากหากวิฤติโควิด-19 ยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การปราศรัยในการชุมนุมขนาดใหญ่คงทำไม่ได้

ขณะนี้มีประเด็นสำคัญที่ชาวอเมริกันเริ่มพูดถึง นั่นคือนายบุชจะสนับสนุนนายทรัมป์ในฐานะผู้สมัครจากพรรคของตนหรือไม่ ถ้านายบุชไม่สนับสนุน โอกาสที่นายทรัมป์จะแพ้เพิ่มขึ้นมากและนายทรัมป์จะทำอะไรเมื่อข้อมูลชี้ว่าตนน่าจะแพ้แน่นอน

หลายคนกังวลว่า นายทรัมป์อาจจุดชนวนความขัดแย้งรุนแรงกับต่างประเทศเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากประเด็นการเมืองภายใน ความขัดแย้งนั้นอาจยับยั้งไม่ได้หากเกิดกับประเทศขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออิหร่าน ผลสุดท้ายมันอาจกลายเป็นสงครามที่สร้างความเสียหายให้แก่ชาวโลก