นโยบายคุณภาพชีวิตแรงงานบนฐานชีวิตใหม่

นโยบายคุณภาพชีวิตแรงงานบนฐานชีวิตใหม่

องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามของคุณภาพชีวิตว่า หมายถึง ทัศนคติของคนใดคนหนึ่งที่มีต่อสถานการณ์ในชีวิตของตนเองเมื่อเทียบกับที่คาดหวังไว้

ภายใต้บริบททางวัฒนธรรมและคุณค่าของสังคม

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ได้เสนอว่าคุณภาพชีวิตขึ้นอยู่กับปัจจัย 9 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ความมั่งคั่ง สุขภาพ ความมั่นคงทางการเมืองและความปลอดภัย คุณภาพของครอบครัว คุณภาพของชุมชน สภาพอากาศและภูมิประเทศ ความมั่นคงในการทำงาน เสรีภาพทางการเมือง และความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย

สหภาพยุโรปได้กำหนดมิติในการประเมินคุณภาพชีวิตเป็น 8 ด้าน ได้แก่ ทรัพย์สิน การมีงานทำ การศึกษา สุขภาพ การพักผ่อนหย่อนใจและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การปกครองและสิทธิขั้นพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย

สำหรับแรงงานแล้วคุณภาพชีวิตของแรงงานบนฐานชีวิตใหม่จะขึ้นอยู่กับสภาพการทำงาน ความมั่นคงในการทำงาน รายได้ และโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานจึงทำให้นโยบายด้านคุณภาพชีวิตของแรงงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การบรรเทาผลกระทบจากการตกงาน และการสร้างโอกาสให้แรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะฝีมือของแรงงานให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปลี่ยนไป

เครื่องมือหลักที่ใช้ในการบรรเทาผลกระทบจากการตกงาน คือ ระบบประกันสังคมซึ่งเดิมทีระบบประกันสังคมไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับการตกงานจำนวนมากที่เกิดขึ้นแบบฉันพลันทันใด จึงไม่สามารถดูแลแรงงานที่ตกงานจากการเปลี่ยนแปลงแบบนี้อย่างครอบคลุมและเพียงพอ

นอกจากนี้แล้ว ระบบประกันสังคมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับมือกับการทำงานที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งแรงงานจะมีรายได้และตกงานสลับกันไปมาในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้อาจเกิดกรณีที่ผู้มีงานทำแต่ไม่มีรายได้ในบางช่วงเวลาแต่กลับไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมของตนเองได้ จนส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาต่ำกว่าผู้ที่ตกงานและได้รับการช่วยเหลือตามเกณฑ์ระบบประกันสังคม การปรับระบบประกันสังคมเพื่อให้รองรับวิถีการทำงานบนฐานชีวิตใหม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับการสร้างโอกาสให้แรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานนั้น กระบวนการจับคู่ระหว่างผู้ตกงานกับตำแหน่งงานว่างจะไม่ใช่เครื่องมือในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดอีกต่อไป เพราะตลาดแรงงานจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การตกงานไม่ได้เกิดจากสภาพเศรษฐกิจเท่านั้น อาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น โรคระบาด ภัยธรรมชาติ การก่อการร้ายเป็นต้น ซึ่งไม่ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร สิ่งที่ตามมาก็คือตำแหน่งงานที่หายไปก่อนเกิดเหตุการณ์เหล่านี้อาจไม่กลับมาทั้งหมด บางตำแหน่งงานจะหายไปอย่างถาวร

ดังนั้นการปรับทักษะของแรงงานให้สอดคล้องกับทิศการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ ลำพังการฝึกอาชีพระยะสั้นแบบที่ใช้กันอยู่คงไม่เพียงพอ

ประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องนี้สูง จะให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะของแรงงาน หัวใจสำคัญของระบบนิเวศนี้คือ การทำงานแบบ 3 ประสานที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งมีภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานดึงเอาภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาร่วมทำงานเพื่อหาคำตอบว่าแรงงานแต่ละกลุ่มที่เสี่ยงจะตกงานต้องได้รับการยกระดับหรือเพิ่มทักษะใดบ้าง

โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะมีคณะที่ปรึกษาซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น เพื่อช่วยกันประเมินและชี้ภาพในอนาคตที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้มีแนวทางชัดเจนในการเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับตำแหน่งงานแต่ละตำแหน่งว่าต้องพัฒนาทักษะอะไรบ้าง และแนวทางไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด โดยต้องพิจารณาลักษณะเฉพาะในเชิงพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย รวมถึงการมีระบบธนาคารหน่วยกิต เพื่อให้เป็นข้อมูลในการปรับแนวทางการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างเป็นปัจจุบัน

สำหรับแรงงานใหม่เข้าสู่โลกของการทำงานเป็นครั้งแรก ความพร้อมจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในระบบการศึกษา การแก้ปัญหาแรงงานใหม่จึงเชื่อมโยงกับการพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ในระบบการศึกษาที่มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงตามบริบทของพื้นที่ควบคู่กันไป

ส่วนแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว ช่องว่างทักษะเกิดจากการที่แรงงานปรับตัวกับลักษณะของงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสได้ยกระดับทักษะของตนเอง การแก้ปัญหานี้จึงเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะงานและความพร้อมของแต่ละคน

ด้วยเหตุนี้การจะออกนโยบายเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานในโลกที่ตั้งอยู่บนฐานชีวิตใหม่จึงจำเป็นต้องใช้ฐานคิดใหม่ที่ต่างไปจากเดิม เพราะหากเอาแต่ยึดมั่นถือมั่นกับแนวคิดหรือกฎเกณฑ์ในอดีตเลยไม่ปรับตัว ก็ไม่ต่างอะไรกับการมัดมือมัดเท้าตัวเอง ถูกพันธนาการไว้แบบนี้ ต่อให้ออกแรงมากแค่ไหนก็คงไปข้างหน้าได้แค่ไม่กี่ศอกไม่กี่วา