เทนเดอร์ลอยน์...แต่ไม่เทนเดอร์เลย

เทนเดอร์ลอยน์...แต่ไม่เทนเดอร์เลย

โควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่มากๆ คุยเท่าไรก็ไม่จบ วันนี้เรามาคุยเรื่องเล็กๆที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ ดีกว่า

ชื่อเรื่องเหมือนอาหาร เพราะเวลาจะสั่งเนื้อมาทาน เขาว่ากันว่าถ้าไม่รู้จะสั่งแบบไหน ก็ให้สั่ง “เทนเดอร์ลอยน์” จะไม่ผิดหวัง เพราะเป็นเนื้อสันใน ส่วนที่นุ่มที่สุด สมกับชื่อที่ตั้งไว้ว่า เทนเดอร์"

แต่ “Tenderloin" ที่ผมพูดถึงวันนี้ไม่ใช่เนื้อ มันเป็น ชุมชนที่ตั้งอยู่กลางเมือง ซาน ฟรานซิสโก ซึ่งเต็มไปด้วย คนไร้บ้าน แหล่งค้ายาเสพติด โสเภณี บาร์ อาชญากรรม ฯลฯ รู้สึกได้เลยใช่ไหมครับว่า แบบนี้ ไม่เทนเดอร์เหมือนชื่อซะแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ลองคิดดูว่า University of California at Hastings ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนเทนเดอร์ลอยน์ จะทำอย่างไรจึงจะดึงดูดให้นักศึกษา ให้สมัครมาเรียนที่นี่ รวมทั้ง พ่อค้า แม่ค้า ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้าขายที่หมิ่นเหม่ คนทำงาน และ นักศึกษา ที่มีบ้านพัก หรือหอพักอยู่ที่นั่น จะใช้ชีวิตในแต่ละวันให้ปลอดภัย ได้อย่างไร

คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัย พ่อค้า ประชาชน ในชุมชนแห่งนี้ อยู่อย่างยากลำบากตลอดมา ทุกวันต้องสัญจรผ่านเต็นท์นอนของคนไร้บ้าน ซึ่งขึงกางอยู่ริมทางเท้าจำนวนมากมาย รวมทั้งที่ริมถนนหน้าตึกเรียนคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย

มหาวิทยาลัย ต้องใช้งบประมาณถึงปีละ US$ 2.3 ล้าน ในการรักษาความปลอดภัย แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีอาจารย์และนักศึกษาคนไหน อยู่อย่างมีความสุขหรอกครับ

พอโควิด-19 ระบาด โอกาสแพร่เชื้อแถวนี้ก็ยิ่งมีสูงมากๆ เพราะอยู่กันอย่างแออัด  และความสกปรกกระจัดกระจายไปทั่ว

ทนมาหลายปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณบดีคณะนิติศาสตร์ ของ University of California at Hastings ร่วมกับพ่อค้า แม่ค้า จึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลาง โดยมี เทศบาลนคร ซาน ฟรานซิสโก เป็นจำเลย

คำฟ้องกล่าวว่า เทศบาลนคร ซาน ฟรานซิสโก บังคับใช้้กฎหมายในการควบคุมคนไร้บ้าน โดยเลือกใช้ให้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ คือ มีเจตนาในใจอยู่แล้ว ที่จะปล่อยปละละเลย ให้ ชุมชนเทนเดอร์ลอยน์ เป็นแหล่งอพยพของคนไร้บ้าน เพื่อจะควบคุมคนได้ง่ายขึ้น เรียกว่าเป็น “Containment Policy” นั่นแหละ เพีียงแต่ไม่กล้าประกาศอย่างเป็นทางการ เท่านั้นเอง

โจทก์ บรรยายความว่าขณะนี้ เทนเดอร์ลอยน์วิกฤติแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่ง เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้

ศาลจะมีคำสั่งเช่นใด ก็ต้องรออีกระยะหนึ่งครับ

เรื่องนี้ ทำให้ผมย้อนคิดถึงประเทศไทย เพราะเมืองที่แออัดอย่างกรุงเทพฯ ก็มีประชากรไร้ที่พักอาศัย มีแหล่งค้ายาเสพติด แหล่งเสื่อมโทรม และมีการบุกรุกใช้พื้นที่ถนน หรือคูคลองสาธารณะ ฯลฯ เช่นกัน

ปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียวหรือเดือนเดียว ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่หมักหมมสะสมมายาวนาน จนยากที่ผู้บริหารเมืองจะแก้ไขได้ทุกอย่าง เพราะทรัพยากรมีจำกัดทั้งเงินและเวลา เมื่อแก้ไขไม่ทัน ปัญหาก็สะสมเร็วยิ่งขึ้น แบบเดียวกับ ชุมชนเทนเดอร์ลอยน์ นั่นแหละ

การทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงต้องเป็นแบบ Proactive แต่ในความเป็นจริงก็เป็นเรื่องยาก เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งปล่อยปละละเลย เช้าชามเย็นชาม มองเห็นปัญหาแต่ไม่แก้ บางทีหาประโยชน์ส่วนตัว จากปัญหานั้นด้วยซ้ำไป บางคนพยายามแก้ไข แต่ก็เกินกำลัง เพราะต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ และพบว่าการ บูรณาการนั้น พูดง่ายกว่าทำมากนัก

 ประชาชน ที่ร้องเรียนภาครัฐ ส่วนใหญ่ก็ได้ผลค่อนข้างช้า บางรายฟ้องศาล แบบเดียวกับ ชุมชนเทนเดอร์ลอยน์ แต่ก็อาจจะใช้เวลานาน และปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บางคนเลยเลือกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง อย่างคุณป้าขวาน เป็นต้น และก็ได้ผลในเวลาอันรวดเร็ว

 หลายเดือนก่อน ในงานมอบรางวัล รัฐวิสาหกิจดีเด่น นายกรัฐมนตรี ไปพูดที่งานนั้นว่า คืนนี้ ไม่มีนโยบายอะไรจะมอบให้แล้วนะ เพราะมอบนโยบายกันมาตลอด ไปที่ไหนก็มอบนโยบายๆๆ มอบไปเป็นร้อยๆแล้ว....(ไม่เห็นจะเอาไปทำสักกี่อย่างเลย) แล้วก็ยกตัวอย่างเรื่องต่างๆ ที่หน่วยงานไม่แก้ไขสักที

 นายกรัฐมนตรี พูดต่อด้วยว่า ต่อจากนี้ไป จะเอาจริงแล้วนะ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ต้องออกไปดูหน้างานกันเป็นประจำ และร่วมแก้ปัญหาหน้างานด้วย ไม่ใช่เอาแต่ส่งนโยบายให้ลูกน้องทำ  โห... ผมฟังแล้วชื่นใจจริงๆ!

แต่ก็ไม่รู้ว่าทำจริงกันหรือยัง! ที่ผมสังเกตก็คือ รัฐมนตรี อธิบดี ผู้ตรวจราชการ ฯลฯ เวลาไปตรวจเยี่ยมงานที่ไหนๆ เจ้าหน้าที่ก็ยังขอให้ท่าน “มอบนโยบาย” ทุกครั้ง ฝ่ายต้อนรับจึงได้รับนโยบายไปแล้วมากมาย แต่ในความเป็นจริง จะเกิดอะไรสักกี่อย่างกันเชียว

 ถ้าจะได้ผล นโยบายต้องชัดเจนและไม่มากมาย จนสับสน และเสียเวลาประชุมกันไปเปล่าๆ  นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และ อธิบดี น่าจะกันเวลามาเพิ่มความใส่ใจ ใน ปัญหาเฉพาะหน้า ที่เห็นว่ากำลังก่อตัวขึ้น และอาจลามปามเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต แล้วรีบเข้าสกัดเสียตั้งแต่เนิ่นๆ แบบนี้เราก็จะลดปัญหาที่อาจจะบานปลายจนสายเกินแก้ หรือยากที่จะแก้ได้

 ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนใหญ่ก็มีให้เห็นในสายตาอยู่แล้ว เพียงแต่การเข้าไปแก้ไขอาจจะต้องเหน็ดเหนื่อย หรือเสียคะแนนนิยม หรือเสี่ยงต่อการลูบหน้าปะจมูก จนทำให้เสี่ยงต่อตำแหน่งหน้าที่ ฯลฯ แต่ถ้าผู้นำสูงสุดมีความเด็ดขาด บริสุทธิ์ใจ และให้การสนับสนุน อะไรๆก็น่าจะแก้ไขได้ไม่ยากนัก

 เหมือนกรณีการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งทำได้เด็ดขาด ชัดเจน และสำเร็จด้วยดี

 พูดถึงเรื่องโควิด-19 ขณะนี้ก็มีตัวอย่างของ ปัญหาที่กำลังเริ่มก่อตัว ให้เห็นอย่างหนึ่ง นั่นคือประชาชนกำลัง การ์ดตก มากขึ้นเรื่อยๆ และการระบาดรอบสอง อาจจะตามมาในไม่ช้านี้ ก็ได้

 ดังนั้น ใครจะทำอะไรเรื่องนี้ ก็รีบทำซะ อย่าปล่อยให้เกิดรอบสอง และอย่าปล่อยให้ประเทศไทยนุ่มนิ่มจนกลายเป็น เทนเดอร์ลอยน์  

 เพราะเจ้าโควิด-19 มันคงชอบเคี้ยวเทนเดอร์ลอยน์ เหมือนกันนะ