แม่หญิงล้านนา : ดอกไม้ริมทาง ฤาว่านางพญาในวังหลวง

แม่หญิงล้านนา : ดอกไม้ริมทาง ฤาว่านางพญาในวังหลวง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเป็นผู้ดำเนินรายการในเวทีเสวนาคำเมืองออนไลน์ “ล้านนา : ตะวา วันนี้ วันพูก” ครั้งที่ 2

ที่จัดขึ้นโดยชมรมล้านนาคดี เชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันLannaissance ในหัวข้อ “แม่ญิงล้านนา : ดอกไม้ฮิมตาง กาว่านางพญาในวังหลวง” โดยมีวิทยากร คือ แจง ภักดีกุล รัตนา- นักวิชาการ/เปีย วรรณา- นักเขียน/อ้อม มณีรัตน์ รัตนัง-นักร้อง/ขันแก้ว สุชาภัสร์ ป้อคำ-ช่างซอ/แหวน พัชราพร ศรีกันชัย – นักกิจกรรม และ สมฤทธิ์ ลือชัย - นักวิชาการ ซึ่งเมื่อดูจากหัวข้อแล้วดูเหมือนว่าจะไม่น่าสนใจนัก แต่การณ์กลับตรงกันข้าม เพราะมีผู้คนสนใจเข้ามาติดตามจำนวนมากและร่วมแสดงความเห็นกันอย่างหลากลาย ผมจึงขอนำมาเสนอในภาพรวมของการเสวนาที่มีประโยชน์ยิ่งนี้

มายาคติและวรรณกรรมที่เกี่ยวกับผู้หญิงล้านนาที่เขียนโดยคนภาคอื่น มักจะถูกแต่งสร้างให้ดูต่ำต้อยด้อยค่า เช่น ในวรรณกรรมก็ถูกทำให้เห็นว่าประพฤติผิดจารีต อาทิ ลิลิตพระลอกรณีพระเพื่อนพระแพงมีสามีร่วมห้องคนเดียวกัน ขุนช้างขุนแผนกรณีนางลาวทองเป็นได้เพียงเมียน้อย สาวเครือฟ้ากรณีที่ฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในความรัก ฯลฯ โดยการประเมินคุณค่าความเป็นหญิงที่ดีถูกการใช้จารีตของภาคกลางมากำหนดว่าผู้หญิงที่ดีต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่ผู้หญิงล้านนาไม่มีลักษณะเช่นนั้น แม้แต่การประกอบอาชีพก็ถูกปรามาสว่าเข้าสู่อาชีพขายบริการทางเพศมากกว่าผู้หญิงภาคอื่น ทั้งๆ ที่ไม่งานวิจัยใดๆ รองรับคำกล่าวที่ว่าเลย ในบทบาททางการเมืองก็เช่นกันทั้งๆ ที่นายกฯและรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกและคนเดียวของไทยก็เป็นผู้หญิงล้านนา และในประวัติศาสตร์เชียงใหม่ก็มีกษัตริย์หญิงถึง 2 พระองค์ คือ พระนางจิรประภามหาเทวี และพระนางวิสุทธิเทวี อีกทั้งพระมารดาพระเจ้าติโลกราชยังคุมกองทัพเชียงใหม่ไปตีเมืองแพร่ด้วยตนเอง ขณะที่พระเจ้าติโลกราชไปตีเมืองน่าน ฯลฯ(ที่มา: เรียบเรียงจากคำอภิปรายของเปีย วรรณา,ภักดีกุล รัตนาและสมฤทธิ์ ลือชัย)

ในอดีตคนเหนือหรือคนล้านนาจะถูกเรียกว่า “ลาว” เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนอื่น(others)แสดงให้เห็นว่าเป็นคนในประเทศราชของรัตนโกสินทร์ คำว่า “ลาว”เป็นคำเรียกที่แสดงให้เห็นว่าเป็นคนต่างพื้นที่ต่างวัฒนธรรมกัน แต่แฝงไปด้วยอาการดูถูกว่าด้อยกว่า โดยมีหลักฐานหลายอย่าง เช่น สารตราของพระยาจักรีที่ว่า “...จึงทรงพระราชดำริว่าเมืองเชียงใหม่เปนเมืองใหญ่ประเทศราช...บุตรหลานแสนท้าวพญาลาว...” แม้ในในลิลิตยวนพ่ายก็เรียกเมืองเชียงใหม่ว่า “กรุงลาว” เรียก พระเจ้าติโลกราชว่า “ปิ่นลาว

ในมุมมองที่มีต่อผู้หญิงล้านนาในสายตาของทหารที่ไปปราบเงี้ยวของ ร.อ.เพิ่ม(หลวงทวยหาญรักษา) (2445)ก็เขียนว่า “นิสัยลาวดื้อถือหนัง ไม่เปื่อยพังหมดสิ้นได้ยินเรื่อง แมงภู่ไปผึ้งมาพาประเทือง ไม่คิดเคืองขุนข้องหมองกะมล ทั้งทหารคนใช้ก็ได้สิ้น เลยหากินเก็บรักษ์เป็นภักษ์ผลและ สูบบุหรี่อมเมี่ยงมองเมียงหมายดูตุ่ยแก้มแย้มยิ้มพะพริ้มพราย นุ่งซิ่นลายเหลืองรอบแต่ขอบดำ เดินยกเท้าก้าวย่างทางถนน ดูกรอมส้นสวยตามออกคลาคล่ำ เสียสิ่งเดียวเยี่ยวไม่นั่งอย่างหล่อนช่างทำ 

เห็นให้รำคาญตาทำท่าทาง

แต่ในสายตาของฝรั่งซึ่งก็คือ Mr.W.J.Archer(2430)บอกว่า “มีเพียงชาวสยามเท่านั้นที่รียกประชาชนของรัฐเหล่านี้ว่าลาว และด้วยเหตุผลบางประการทำให้ชาวลาวไม่ชอบชื่อนี้เท่าใดนัก และจะใช้ชื่อนี้กับพวกลาวพุงขาว ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเหนือเมืองน่านขึ้นไปเท่านั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางครั้งชาวสยามจะเรียกพวกนี้ว่าลาวยวน”ส่วน ดร.วิลเลียม คลิฟตัน ดอดจ์(2452)ซึ่งเป็นมิชชันนารีบอกว่าผู้หญิงล้านนามีบทบาททางเศรษฐกิจ “...ผู้หญิงถือถุงเงินที่รับผิดชอบการใช้สอย สามีจะปรึกษาเธอด้านการเงิน...

และ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี(2410) ซึ่งเป็นมิชชันนารีเช่นกันบอกว่า ผู้หญิงเชียงใหม่มีโอกาสในทางการศึกษาโดยโซเฟีย แบรดลีย์ แมคกิลวารี ก่อตั้งโรงเรียนสตรีเชียงใหม่(2412)จึงสามารถอ่านออกเขียนได้ ได้รับรู้โลกทัศน์ตะวันตกและเรียนการบ้านการเรือน จนมีความเขามีความเห็นว่า “...และลูกๆ ก็คงคล้อยตามแม่อย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าเป็นแบบนี้ครอบครัวก็จะเป็นครอบครัวคริสเตียน...” แมคกิลวารียังบอกว่าผู้หญิงล้านนามีสถานภาพสูงในครอบครับ เพราะ “...หลังจากแต่งงาน ประเพณีทั่วไปของดินแดนแถบนี้ กำหนดให้สามีอาศัยอยู่กับภรรยา...และ “...ทำให้บุรุษผู้นั้นกลายเป็นสมาชิกของครอบครัวภรรยาไป และยังเป็นสมาชิกที่ไม่มีอำนาจใดๆ ไประยะหนึ่ง หรือจนกระทั่งโยกย้ายออกจากครอบครัวเดิม... "

ในส่วนของสิทธิและสถานภาพทางกฎหมายของผู้หญิงล้านนาในอดีตยังน่าจะเหนือกว่าผู้หญิงภาคอื่นด้วยซ้ำไปเพราะเมื่อมีการหย่า ของที่หาได้หลังแต่งงานให้แบ่ง 3 ส่วน ให้หญิง 2 ส่วน ชาย 1 ส่วน หากมีลูกชายหรือหญิงให้ไว้แก่ฝ่ายเมีย/ บุตรหญิงและบุตรชายมีสิทธิในมรดกทัดเทียมกัน/ แม่หม้ายและแม่ร้างสามารถแต่งงานใหม่ได้ แต่ต้องแจ้งแก่เจ้าบ้านให้ทราบก่อน มิเช่นนั้นจะถูกปรับไหม 50 เฟื้อง /ลูกของแม่หม้ายและแม่ร้างที่เกิดกับสามีเก่าและสามีใหม่ มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งของมรดก โดยสัดส่วนของมรดกจะขึ้นอยู่กับอาศัยอยู่ที่เรือนของฝ่ายใด(ที่มา เรียบเรียงจากคำอภิปรายของภักดีกุล รัตนา)

โลกเปลี่ยนไป แต่ทัศนคติของคนบางส่วนยังไม่เปลี่ยน จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องนำมาถกเถียงเสวนาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อความเจริญงอกงามทางวิชาการต่อไป

หมายเหตุ ดูเทปบันทึกฉบับเต็มได้ที่ https://www.facebook.com/gummuangonline/videos/172944580686425/UzpfSTEwMDAwMTAxMzA4NjQ2NDoyOTc4MzUyNzgyMjA4NDYy/