“Near” normal ชีวิตที่ “ไม่” ปกติ หลังเปิดเมือง

“Near” normal ชีวิตที่ “ไม่” ปกติ หลังเปิดเมือง

หลังจากที่ 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกปิดตัวลง(Lockdown)ตามคำสั่งของภาครัฐ รวมถึงความสมัครใจของภาคเอกชนเอง เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ Covid-19

จำนวนผู้ป่วยใหม่ก็ลดลงในหลายประเทศ เช่น สเปน อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส หรือแม้แต่ในไทยเองนั้น จำนวนผู้ป่วยใหม่ต่อวันอยู่ในระดับต่ำกว่า 20% เมื่อนับจากวันที่ผู้ป่วยใหม่สูงสุด ขณะที่ผู้หายป่วยมีมากขึ้นต่อเนื่อง

แต่การปิดเมืองก็แลกมากับเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรง GDPไตรมาสแรกของปีของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง สหรัฐ ยูโรโซนและจีนนั้น หดตัวรุนแรงสุดนับจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นอย่างน้อย ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของทั้งโลกจะหดตัวรุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อเป็นเช่นนั้น หลายประเทศเริ่มพิจารณาเปิดเมือง(Reopening)และอนุญาตให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ขณะที่หลายมลรัฐในสหรัฐก็ประกาศแผนที่จะเริ่มเปิดเมืองเช่นกัน แม้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจะยังอยู่ในระดับสูงก็ตาม

คำถามคือหลังเปิดเมืองแล้ว สิ่งที่จะได้พบคืออะไร ทั้งภาวะเศรษฐกิจ สังคม ธุรกิจ และภาวะเช่นนี้จะเป็นไปนานเท่าไร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้แก่ จีน ที่ถือว่านำหน้าประเทศอื่นๆ ประมาณ 1-2 เดือนในแง่ของการติดเชื้อก่อนและหายก่อน จะเห็นได้ว่าจีนเริ่มเปิดเมืองในเดือน ก.พ. ภาคการผลิตเริ่มกลับมาเกือบ 100% ถนนหนทางเริ่มคับคั่งด้วยยานยนต์ แต่ภาคบริการยังห่างไกลจากสถานการณ์ปกติ การใช้บริการรถสาธารณะและการบินภายในประเทศหายไปเกือบ 1 ใน 3 การใช้โรงแรมและภัตตาคารหายไปเกือบ 50%

สำหรับบุคคลทั่วไป เรียกสถานการณ์เหล่านี้ว่า New normal เพราะเป็นผู้คนยังคงกังวลกับโรคร้าย และมีระยะห่างระหว่างกัน(Social or physical distancing) แต่สำหรับผู้เขียน เรียกสถานการณ์นี้ว่า "Near" Normal หรือ "เกือบ" ปกติ แต่ก็ไม่ปกติ เพราะเศรษฐกิจที่รวมทั้งภาคการผลิตและอุตสาหกรรมสามารถเปิดได้เพียง 80-90% ของกำลังการผลิตรวม

คำถามคือ ภาวะเช่นนี้จะเป็นไปได้นานเท่าไร ผู้เขียนมองว่ามี 3 ปัจจัย (1)ขึ้นอยู่กับการคิดค้นวัคซีนหรือยารักษา เมื่อใดที่ภาคสาธารณสุขโลกสามารถคิดค้นรวมถึงแจกจ่ายวัคซีนได้แล้ว เมื่อนั้นโรคนี้จึงจะหายอย่างถาวร การเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจถึงจะกลับมาได้อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นครึ่งหลังของปี 2021 เนื่องจากแม้ว่าภาคสาธารณสุขโลกจะคิดค้นวัคซีนได้ในช่วงปลายปีนี้(อย่างเร็ว) แต่ก็ได้ใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ไตรมาส กว่าจะผลิตและแจกจ่ายให้ประชากรทั้งโลก

(2)จะเกิดการระบาดรอบ 2 อย่างรุนแรงหรือไม่ ตัวอย่างเห็นได้จากกรณีสิงคโปร์ -ญี่ปุ่น ที่แม้ในช่วงแรก(ก.พ.-มี.ค.) จะมีการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวด ทำให้จำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ แต่การเปิดเมืองอย่างไม่รัดกุม(ในกรณีญี่ปุ่น) หรือการปล่อยให้มีการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานระดับล่างในแฟลต (กรณีสิงคโปร์) นำไปสู่การติดเชื้อรอบ 2 และระบาดเป็นวงกว้าง และทำให้ต้องกลับมาปิดเมืองอย่างเข้มงวดอีกครั้ง

(3)สถานการณ์ภาคธุรกิจของกิจการต่างๆ รวมถึงการเงินส่วนบุคคลว่าเป็นเช่นไร โดยปกติแล้วกว่า 2 ใน 3 ของธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงประชาชนทั่วไป จะพอมีเงินสดหรือเงินออมพอประทังชีวิตและกิจการได้เพียง 3 เดือน ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นเส้นตายของธุรกิจ-ประชาชน

นอกจากนั้น แม้ว่าทางการทั่วโลก(รวมไทย)มีมาตรการการเงิน การคลัง ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการปิดเมือง แต่ปัญหาในเชิงปฏิบัติทำให้เม็ดเงินเยียวยาไม่ได้ไหลเข้าไปสู่ภาคธุรกิจและประชาชนอย่างทั่วถึง ดังนั้น การเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่แน่นอนว่าการเปิดแบบ "เกือบ" ปกติ หรือ "Near" Normal นี้ก็จะนำไปสู่ 3 ความเสี่ยง

ความเสี่ยงแรก ได้แก่ความเสี่ยงจากการระบาดรอบ 2 ดังในกรณี สิงคโปร์-ญี่ปุ่น ซึ่งนั่นจะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงอีกครั้ง ซึ่งเมื่อสถานการณ์ไม่แน่นอน ทำให้ภาคธุรกิจวางแผนธุรกิจลำบาก และกระทบต่อการประกอบธุรกิจในระยะต่อไป

เมื่อภาพเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ธุรกิจรวมถึงประชาชนที่สายป่านสั้นก็จะประสบปัญหาการเงิน เกิดการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงผิดนัดรายจ่ายประจำต่างๆ เช่น ค่าเช่า ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำไฟ ค่าจ้างพนักงาน ซึ่งจะนำมาสู่การฟ้องร้อง รวมถึงล้มละลายในระยะถัดไป โดยคาดการณ์กันว่าในสหรัฐ กว่า 25% ของบริษัทขนาดใหญ่ และกว่า 50% ของบริษัทขนาดกลางและเล็กต้องเริ่มผิดนัดชำระหนี้นับตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม เช่น การแข่งกีฬา คอนเสิร์ต เป็นต้น

ความเสี่ยงที่ 2 ได้แก่ ความเสี่ยงจากการที่ภาคธุรกิจขาดการลงทุน รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเกิดทั้งจากความไม่แน่นอนในประเด็นแรก และการขาดโอกาสที่จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างประชาชนหรือพนักงาน แม้ระบบ IT ต่างๆ จะเข้ามาช่วยการติดต่อสื่อสาร แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพเต็ม 100% เหมือนกับประชุมแบบเผชิญหน้า ทำให้โอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นมีน้อยลง

ความเสี่ยงสุดท้าย ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมที่จะมีมากขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤติครั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากคือภาคบริการ โดยเฉพาะการสันทนาการ การจับจ่ายนอกบ้าน ซึ่งแรงงานภาคบริการมักเป็นจะได้รับรายได้น้อยกว่าแรงงานภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย

ดังนั้น ยิ่งการปิดเมือง หรือเปิดแบบ “Near” normal ยาวนานเท่าไร ก็จะยิ่งกระทบต่อรายได้ของแรงงานภาคบริการมากขึ้น นอกจากนั้น การปิดเมืองยิ่งนานขึ้นเท่าไร ก็ทำให้แรงงานหนุ่มสาวขาดโอกาสที่จะเรียนรู้เทคนิคงานจากแรงงานอาวุโสกว่า ทำให้ขาดโอกาสเช่นกัน

สถานการณ์เหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจหลังการเปิดเมืองยังคงไม่สดใส การว่างงานสูง นวัตกรรมใหม่ๆ ลดลง ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมมีมากขึ้น

แม้จะเปิดเมืองได้ แต่โลก “Near” Normal ก็ยังไม่เป็นปกติ แล้วโลก “ปกติใหม่” หรือ “Super New Normal” หลังการคิดค้นวัคซีนหรือยารักษาได้จะเป็นเช่นไร (โปรดติดตามตอนต่อไป)

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]