ประวัติศาสตร์อนาคต Future History

ประวัติศาสตร์อนาคต Future History

“Future History” แปลกใจกับคำ ๆ นี้ไหมคะ เมื่อคำว่า “ประวัติศาสตร์” ซึ่งมักเป็นเรื่อง “อดีต” แล้วมันจะเป็น “อนาคต” ได้อย่างไร?

ช่วงนี้ประเด็นฮิตที่มักจะเห็นบ่อย ๆ ตามหน้า Feed คือคำว่า New Normal มีนักคิดหลายสำนักต่างออกมาแสดงมุมมอง เกี่ยวกับคำว่า “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” ว่าปรากฏการณ์วิถีชีวิตหลังโควิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นเช่นไร

มีหลายมุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับ New Normal และบางมุมมองก็มองว่านี่เป็นเพียง New Abnormal

ทำให้ดิฉันนึกถึงสมัยเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 มีอยู่วิชาหนึ่งชื่อเตะตา “ประวัติศาสตร์อนาคต” หรือ “Future History” ของคณะศิลปศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติศาสตร์มันเป็นอดีตแล้วจะอนาคตได้อย่างไร ด้วยความสงสัยจึงลงเรียนวิชานี้ไปทั้งเทอม แม้เกรดจะออกมาไม่ดี แต่เชื่อว่า เราคงได้อะไรมาบ้างเพราะเวลาผ่านมา 20 กว่าปีแต่ดิฉันยังคงจำมันได้

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตหลายอย่างเป็นตัวพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นเป็นวัฏจักร สิ่งที่เคยเกิดแล้วในอดีตจะวนเวียนมาเกิดใหม่อีกครั้งในอนาคต หากกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะบอกได้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร เช่น แฟชั่นในอดีตที่เวียนกลับมาฮิตอีกครั้ง หรือการเกิดโรคระบาดที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน

จากประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ความเจริญรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ผ่านมา เราเติบโตมากับยุคที่ให้ความสนใจกับเรื่อง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การบริหารจัดการ การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ คนงานเข้ามาทำงานในเมืองหลวงมากขึ้น พอคนมีเงินจะเอาเงินไปซื้อบ้านในเมืองหลวง ซื้อรถยนต์ขับ เงินเหลือก็เอาไปลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมในเมือง คอนโดมิเนียมห้องเล็ก ๆ ในสุขุมวิทราคาพอ ๆ กับซื้อที่ดินเปล่าหลายสิบไร่ในต่างจังหวัด คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นคนมีสตางค์

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเราเริ่มเห็นเทรนด์ที่คนมีเงินหันกลับมาดำเนินชีวิตวิถีเกษตรกรรม ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น อยู่ตามไร่ตามสวน เริ่มปลูกพืชผักกินเอง เลี้ยงม้า เลี้ยงไก่

สังคมทุนนิยมที่ผ่านมาให้คุณค่ากับคนมีรถยนต์ มีคอนโดมิเนียมว่าเป็นคนมีเงิน ในขณะที่เกษตรกร คนทำฟาร์มทำสวนถูกมองว่าเป็นคนจน

โลกกำลังจะเปลี่ยนไป สิ่งที่น่าสนใจคือในอนาคตเวลาเห็นภาพคนขี่ม้า ใช้ชีวิตในฟาร์ม ทำสวน จะไม่ได้ถูกมองเป็นคนจนอีกต่อไป

บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ร่วมมือกับสถาบัน The Futures Platform ประเทศฟินแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์ (Futurists) ทำการสำรวจออนไลน์ กับ CEO และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในประเทศไทยกว่า 300 คน เกี่ยวกับแนวโน้มของปรากฏการณ์โลกหลังโควิด ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นความปกติใหม่ (New Normal) หลังวิกฤติครั้งนี้ โดยมีปรากฏการณ์หนึ่งที่เรียกว่า Nature and Food as Remedies กล่าวคือจากนี้ไป คนจะสนใจและใส่ใจดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ (Wellness) มากยิ่งขึ้น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแทนการกินยา และจะหันไปใช้วิธีธรรมชาติบำบัดกันอย่างแพร่หลาย

แน่นอนที่สุด Wellness ไม่ใช่เพียงการออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ หรือกินผักปลอดสารพิษ แต่เน้นการมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ด้วยการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ใช้ชีวิตให้สมดุล แม้จากนี้ไป Wellness จะถูกมองว่าเป็น New Normal แต่เอาจริง ๆ ปรากฏการณ์ใหม่นี้ ก็คือปรากฏการณ์เก่าในอดีตที่วนเวียนมาเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต

มันจะเป็น New Normal หรือ New Abnormal ก็ตาม สิ่งสำคัญคือวิกฤติในครั้งนี้ได้เปิดหูเปิดตาเราแต่ละคนให้ได้เรียนรู้อะไรบ้างไหม

ข้อคิดที่ดิฉันได้รับในฐานะเป็นหนึ่งในคนทำงานคนหนึ่งในช่วงวิกฤติคือ การกลับสู่ Basic การใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างสมดุล รู้จักคำว่าพอเพียง ประหยัดอดออม และให้เห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเองและชุมชน