‘โควิด’กระทบเกษตรกรอย่างไร ทำไมต้องเยียวยา 15,000 บาท

‘โควิด’กระทบเกษตรกรอย่างไร  ทำไมต้องเยียวยา 15,000 บาท

เป็นสัปดาห์สุดท้ายแล้ว สำหรับโอกาสการลงทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ และทบทวนรายชื่อเพื่อเข้าสู่กระบวนรับการเยียวยา

ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19วงเงิน 5,000 บาทนาน 3 เดือน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขีดเส้นไว้ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้

หลังจากนั้นรายชื่อทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบรายชื่อตามหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ว่าไปซ้อนกับทะเบียนอื่นๆ ภายใต้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรหรือไม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทะเบียนเกษตรกร มีทั้งที่เป็นผู้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และ ประมง

กรณีเกษตรกรที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ไปด้วย หรือทำประมงไปด้วยตามหลักเกษตรสวนผสม จะมีสิทธิ์ ได้รับเงินเยียวยาเพียง 1 ทะเบียนเท่านั้น ในขณะเดียวกัน เกษตรกรที่ปลูกพืช หรือทำนาที่ลงทะเบียนเป็นครัวเรือน แม้ในครัวเรือนนั้นจะมีสมาชิกมากกว่า 1คน แต่การเยียวยาจะได้สิทธิ์เฉพาะคนที่ลงทะเบียนหรือถือทะเบียนเท่านั้น

ฟังดูอาจแปลกนิดหน่อย เพราะหากเทียบทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืช แยกตามชนิดสินค้า ดูเหมือนจะมีชาวนาเท่านั้นที่ลงทะเบียนเป็นครัวเรือน ในขณะที่ยางพารา จะขึ้นทะเบียนเป็นราย และในส่วนของยางพารา ยังเปิดกว้างให้ลงทะเบียนและจ่ายเงินเยียวยาให้กับ แรงงานกรีดยาง และสวนยางที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่า หรือพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตด้วย

แต่ก็นั่นแหละ ในช่วงวิกฤต แบบนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งน้อยอกน้อยใจ ว่าคนนั้น ได้รับการช่วยเหลือมาก คนนี้ทำไมมาช่วยน้อย เพราะแค่รัฐบาลโอเคยินยอมจะช่วยเกษตรกร นี่ก็ดีเท่าไรแล้ว จากก่อนหน้าที่เกษตรกร คือหนึ่งในอาชีพที่กระทรวงการคลังไม่ยินยอมให้อยู่ในบัญชี “เราไม่ทิ้งกัน”แถมมีรายชื่อที่ถูกดีดออกกว่า8 ล้านคน

กับคำถามที่สังคม ยังแคลงใจ เกษตรกรได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างไร ทำไมต้องได้รับการเยียวเรื่องนี้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า เกษตรกรคือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่มีรายได้ต่ำ กว่ารายปานกลาง ที่คนกลุ่มนี้ยังอยู่ได้เพราะมีข้าวในยุ้ง มีรั้วกินได้ มีปลา มีกบ ในบึง มีแรงพอที่จะเก็บเอามากิน

ผลกระทบจากโควิด ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรอาจดูไม่ชัดเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้รับจ้างแต่จงเชื่อว่าเค้าได้รับผลกระทบ อย่ามองข้ามความลำบากของพวกเขาอย่างชาชิน และควรเป็นกลุ่มแรกๆ ด้วยซ้ำที่ควรได้รับการเยียวยา เพราะสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ต้องปล่อยทิ้งให้เน่าเสีย เพราะไม่สามารถส่งออกได้เช่นในช่วงที่โควิดระบาดในอู่ฮั่น เช่น ลำไย จากที่เกษตรกรขายได้ กิโลกรัมละ 40 บาท ลดลงเหลือ 8-9 บาท ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเพราะเป็นลำไยนอกฤดู สุดท้ายเกษตรกรต้องปล่อยให้เน่าเสีย

ในขณะเดียวกัน ผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาด มีเพียงทุเรียนที่ราคายังสูงมากเพราะมีออเดอร์จากจีน แต่ผลไม้ชนิดอื่นๆ อาจต้องลำบากกันหน่อย ที่ต่างคนก็ต่างต้องช่วยกันบริโภคภายในประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหมัดแรกที่เกษตรกรโดนชกแบบเฉียดๆจากโควิด ยังมีหมัดสอง สาม ซ้ำๆ ตรงๆจากภัยแล้ง ที่ยังไม่รู้ว่าในฤดูกาลเพาะปลูก 63 นี้จะสามารถทำนาได้หรือไม่ด้วย ปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น เงินที่ต้องลงทุนใหม่อีกรอบจะมีหรือไม่

ทั้งหมดนี้เกษตรกรคงไม่สามารถรับมืออย่างโดดเดี่ยวได้หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเขามาช่วย