“ โรคระบาดนำเข้า ” หลายมุมมองไทยอเมริกัน

“ โรคระบาดนำเข้า ” หลายมุมมองไทยอเมริกัน

“ โรคระบาดนำเข้า ” หลายมุมมองไทยอเมริกัน

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพูดกับผมว่า “โควิด เป็นกฎแห่งกรรม” เพราะประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักๆ ล้วนมีประวัติเกี่ยวพันกับการรบราฆ่าฟัน เบียดเบียนคนอื่นเขา เป็นเจ้าอาณานิคม หรือไม่ก็ฆ่ากันเอง โดยส่วนตัวผมเป็นชาวพุทธ ย่อมเชื่อและศรัทธาในพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเชื่อว่า “กฎแห่งกรรมมีจริง” และเป็นวิทยาศาสตร์ย่อมมีเหตุอันนำมาซึ่งผลในปัจจุบัน

จะไม่เสียเวลาไปกล่าวถึงประเทศบนๆ ของตารางโควิดกันทุกประเทศ แต่ถ้ามองใกล้ๆ สักราวศตวรรษหรือกว่านั้นเล็กน้อย ที่ผ่านมา อิตาลี ญี่ปุ่น คือ ฝ่ายอักษะในสงครามโลก อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน คือ จ้าวอาณานิคมในหลายทวีป ผลงานเป็นอย่างไรประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ ฝรั่งเศสในเวลานั้นทำอะไรกับคนไทย ประเทศไทยของเราคงไม่ลืมกันง่ายๆ ที่กล่าวเช่นนี้มิได้มุ่งหมายให้เราเป็นคนคิดแค้นเอาคืน แต่เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารักชาติแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของเราให้มากยิ่งขึ้น ส่วนสหรัฐสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นประเทศเกิดใหม่ด้วยระยะเวลารวดเร็ว ตัวเลขโควิดวันนี้ยังคงนำเป็นเบอร์ 1 ของโลกคนเสียชีวิตวิ่งผ่านหลักแรก คือ เหตุการณ์ 911 ราวๆ  2 พันคน เรายังนึกว่าสูงมาก ไปๆ มาๆ วิ่งเลยจำนวนทหารอเมริกันที่เอาชีวิตไปทิ้งในสงครามเวียดนามเกือบ 6 หมื่นนาย พาเอาทหารไทยต้องไปร่วมสละชีพอีกเกือบ 500 นาย วันนี้ตัวเลขกำลังวิ่งไปที่หลักแสน ใกล้เคียงกับสงครามกลางเมืองที่เขารบพุ่งฆ่าฟันกันเองในไม่ช้า

สิ่งที่ไทยกับอเมริกันทำคล้ายๆ กัน คือ ความล่าช้าในการตอบสนองกับปัญหาในช่วงแรก โชคดีของประเทศไทย ถ้าจะว่าไป “โควิด” เป็น “โรคระบาดนำเข้า” ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ไม่ใช่อยู่ดีๆ อุบัติขึ้นมาในประเทศของเรา โดยที่ชัดเจนจากคนไทยและคนภายนอกที่นำพาโรคนี้เข้ามา

เราอาจโชคดีในหลายด้านที่ระบบบริหารจัดการสาธารณสุขของเราเข้มแข็งรับมือกับปัญหาได้ แม้จะมีปัญหา “เอกทัคคะ” หรือผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเก่งกล้าเป็นจำนวนมาก แต่ละท่านมีศิษยานุศิษย์ มีผู้นับหน้าถือตาอยู่เป็นกลุ่มก้อน ทำให้ช่วงแรกๆ ประเทศเราเซไปไม่น้อย เพราะแง่มุมความคิดแต่ละท่านสร้างความสับสนอลหม่าน เข้าตำรามากหมอ มากความอยู่พอสมควร กระทั่งรัฐบาลได้ใช้วิธีการอันละมุนละม่อม นำเอาบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นกลางมาร่วมหารือจัดรูปแบบการบริหารองค์กรให้มีผู้รับผิดชอบชัดเจนและมีความเป็นเอกภาพ แต่การเมืองก็เล่นงานไม่ต่างกับในอเมริกา เพราะ “สื่อหลายสื่อ” เอง ก็จัดตั้ง “บุคลาพิสดาร” เป็นคำที่ผมบัญญัติขึ้นเองให้หมายถึง “บุคคลที่เนรมิตเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นผู้รอบรู้กว้างขวางเกินมนุษย์มนาทั่วไป” เรียกว่าเป็นขาประจำของสื่อ 

ไม่ต่างกับกรณีของสหรัฐที่มี ดร.ฟาวซี่ (Fauci) ซึ่งเป็นผู้เขี่ยวชาญของศูนย์ควบคุมโรคระบาดติดต่อ ที่สื่อซึ่งไม่ชอบหน้า ประธานาธิบดีทรัมป์ ปั้นให้เป็น “ฮีโร่” เพื่อทำให้ทรัมป์ดูผิดในทุกเรื่องแม้หายใจก็ยังผิด โดยเฉพาะสื่ออย่าง “ซีเอ็นเอ็น” ที่แสดงตัวชัดเจนที่สุด ทั้งที่ ดร.คนนี้แหละ คือคนที่บอกว่า อย่าใส่หน้ากากอนามัยเพราะมันไม่ช่วยแต่อาจทำให้เสี่ยงการระบาดหนักขึ้นไป กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นนักรบไซเบอร์ กับ ที่ชอบดูเขาเล่าข่าวแล้วไม่ยึดโยงหลักกาลมสูตรพากันเชื่อแบบไม่ตั้งคำถามใดๆ แถมยังมาโพสต์มาแนะนำกันต่อ เหมือนกรณีแบบจำลองคาดการณ์จำแนกผู้ติดเชื้อ ผลการรักษา (Mathematical model) และกราฟต่างๆ ที่บังเอิญผมได้ชมการนำเสนอขององค์กรบางองค์กร รู้สึกตกใจมาก ตรงที่นำเสนอรายงานของฝรั่งมาแบบยกมาแล้วไม่บอกด้วยว่า มีคนเขาทำไว้ตีพิมพ์ในวารสาร “ไฟแนนซ์เชียลไทม์” แต่ไม่ว่ากัน เพราะเขาคงไม่เอาไปเสนอขอตำแหน่งวิชาการอะไร

คล้ายกันอย่างกับแกะอีกเรื่อง คือ การแจกเงินซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่เรามีบุคคลระดับเบอร์ต้นๆ ของประเทศมาดูแลแก้ไขปัญหาการเงินการคลังของประเทศแต่กระบวนการคิดคล้ายกันมากกับของอเมริกา บางทีเราอาจหลงทางคิดไปว่า ทำแบบอเมริกาแล้วน่าจะไม่ผิด แต่สถานะทางการเงินของเราถึงจะไม่จนแต่ก็รวยน้อยกว่าอเมริกันมาก เราพิมพ์ธนบัตรดอลล่าร์เองไม่ได้เหมือนสหรัฐ แต่เราแจกเงินแบบกระจายเป็นหย่อมๆ” ถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าที่อเมริกันแจก เขาให้ 3 หมื่น เราแจกราว 1 หมื่นถ้ารวมชดเชยประกันสังคมอาจเกือบเท่าอเมริกา กระทั่งล่าสุด จดหมายที่เอกชนตอบนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่เข้าเป้า หลายรายที่สื่อเปิดเผยมาตรการให้เห็น ยังวนเวียนกับการช่วยเหลือเงินทอง ทั้งที่สิ่งที่น่าจะนำเสนอเป็นรูปธรรมได้ดีกว่า คือ ทำอย่างไรที่หากท่านทั้งหลายไม่สามารถจ้างคนงานของท่านต่อไปได้ ต้องปลด ต้องลดคน จะผนึกกำลังกับภาครัฐที่ยังมีเงินพอเยียวยาให้ค่าตอบแทนคนเหล่านี้ ซึ่งมีความชำนิชำนาญเฉพาะทาง หรือท่านมีเทคโนโลยี มีวัสดุอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือวัตถุดิบอะไรที่จะมาเสริมมาสนับสนุนการทำงานในภาวะวิกฤตทั้งในเชิงป้องกันและเชิงรุกต่อไปได้ ยังไม่เห็นข้อเสนอเหล่านี้ชัดเจน เหมือนที่ปัญหาของสหรัฐกำลังเผชิญคือความไม่เข้าใจว่า เรื่องของ “เสรีภาพ” หรือประชาธิปไตย เป็นคนละเรื่องกับการแก้ปัญหาวิกฤติที่ ประสิทธิภาพของการสั่งการและบริหารสถานการณ์แบบรวมศูนย์อาจเหมาะสมกว่าคล้ายการ lockdown แบบลักปิดลักเปิดของเราก็เจอปัญหาเดียวกัน ยังดีที่ พรก.ฉุกเฉินยังไว้หน้า แม้จะดึงเอาอำนาจแบบเบ็ดเสร็จมาอยู่ที่ นายกฯ ก็ยังมีติ่งอยู่ในประกาศ ให้อำนาจผู้ว่าฯจังหวัดต่างๆ ได้ออกข้อกำหนดต่างๆ ได้เอง